คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1919/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 อนุมาตรา 3 นั้นศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงรวมกันเกิน 50 ปีไม่ได้ เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และคำว่า ‘เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต’ นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวมศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น
จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและพยายามฆ่าผู้อื่นซึ่งเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทกระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกกระทงหนึ่ง ศาลลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นอันเป็นบทหนักให้จำคุกตลอดชีวิต และฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตให้จำคุก 2 ปี ดังนี้ เมื่อศาลลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งคงลงโทษฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 25 ปี และลงโทษฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 1 ปีแล้วศาลรวมโทษทั้งสองกระทงเป็นจำคุกจำเลย 26 ปีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนดังกล่าวยิง ว.และ ร.โดยเจตนาฆ่า ร.ถึงแก่ความตายแต่ ว.ไม่ถึงแก่ความตายเพราะมีผู้ขัดขวางจำเลยไว้ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐,๒๘๘, ๙๑ พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๐ และ ๙๐ ให้จำคุกตลอดชีวิต และมีความผิดฐานมีอาวุธปืนตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ อีกฐานหนึ่ง แต่เนื่องจากศาลพิพากษาลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในฐานฆ่าผู้อื่นแล้ว จึงไม่อาจลงโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ อีกได้ คงให้จำคุกจำเลยตลอดชีวิต จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุกจำเลย ๒๕ ปี ข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่าว.ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ อีกฐานหนึ่ง และเมื่อฟังว่าจำเลยมีความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วก็ต้องกำหนดโทษไว้ด้วยให้จำคุก ๒ ปี แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิตแล้ว ก็ไม่อาจนำโทษในความผิดฐานอื่นมารวมลงแก่จำเลยอีกได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ที่แก้ไขแล้วพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๐ อีกบทหนึ่ง แต่ให้ลงโทษจำเลยตามมาตรา ๒๘๘ ประกอบด้วยมาตรา ๖๐ ซึ่งเป็นบทหนัก ตามมาตรา ๙๐ ส่วนกำหนดโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่นำเอาโทษในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มารวมเข้ากับโทษในความผิดฐานฆ่าและพยายามฆ่า เป็นการชอบด้วยมาตรา ๙๑ แห่งประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่ พิเคราะห์แล้วประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ๖)พ.ศ. ๒๕๒๖ มาตรา ๔ บัญญัติว่า ‘เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนด ดังต่อไปนี้
……………….
(๓) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต’
ตามบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่นี้ ศาลจะลงโทษจำคุกจำเลยทุกกระทงรวมกันเกิน ๕๐ ปีไม่ได้ เว้นแต่จะลงโทษจำคุกตลอดชีวิต คำว่า ‘เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต’ นั้น หมายความว่า หากกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวมแล้ว ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตเท่านั้น คดีนี้สำหรับความผิดกระทงแรกฐานฆ่าและพยายามฆ่า ศาลชั้นต้นวางโทษจำคุกจำเลยตลอดชีวิต แต่เมื่อได้ลดโทษให้จำเลยแล้ว คงเหลือโทษจำคุก ๒๕ ปี จึงอยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษจำคุกในความผิดกระทงอื่นมารวมด้วยอีกได้ เพราะรวมทุกกระทงแล้วไม่เกิน ๕๐ ปี ที่ศาลอุทธรณ์ไม่นำเอาโทษของจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ มารวมลงแก่จำเลย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ อีกกระทงหนึ่ง ซึ่งศาลอุทธรณ์วางโทษจำคุก ๒ ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑ ปี เมื่อรวมกับโทษในกระทงแรกที่ให้จำคุก ๒๕ ปี รวมสองกระทงจึงเป็นจำคุกจำเลย ๒๖ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share