คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6667/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินดังกล่าว ราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเอง ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวผู้มีสิทธิย่อมสละสิทธินั้นได้ การที่จำเลยขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองแล้ว
พระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 6 ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินโดยจัดตั้งเป็นนิคม หมายความว่า ที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดให้กับประชาชนต้องเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีผู้ใดยึดถือครอบครอง แต่หากที่ดินผืนใดที่อยู่ในเขตนิคมมีผู้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์อยู่แล้ว รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจยึดกลับคืนมาจัดสรรให้ราษฎรอื่น ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่ให้อำนาจรัฐบาลซึ่งก็คือคณะบุคคลคณะหนึ่งกระทำเช่นนั้นได้ การที่จำเลยได้รับ น.ส.3 และ น.ส.3 ก.อันเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลยเมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงในที่ดินพิพาทอันเป็นที่ดินของรัฐ จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้ การที่โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริง โดยจำเลยขายและส่งมอบการครอบครองให้โจทก์แล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินที่ตั้งอยู่ในนิคมสร้างตนเองลำตะคอง หมู่ที่ 4ตำบลคลองม่วง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา 2 แปลง ตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ เล่มที่ 94 เลขที่ 4681 ที่ 2049/2527 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 เนื้อที่7 ไร่ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ทะเบียนเลขที่ 1343 เล่ม 14 ก หน้าที่ 43 เลขที่ดิน 3หมายเลข 5338(1) แผ่นที่ 92 เนื้อที่ 7 ไร่ และตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ เล่มที่ 94 เลขที่ 4680 ที่ 2048/2527 ลงวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2528 หนังสือรับรองการทำประโยชน์ทะเบียนเลขที่ 1344 เล่ม 14 ก หน้าที่ 44 เลขที่ดิน 4 หมายเลข 5338(2)แผ่นที่ 92 เนื้อที่ 40 ไร่ 3 งาน 40 ตารางวา เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และให้จำเลยแก้ชื่อของจำเลยในหนังสือแสดงการทำประโยชน์และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นชื่อของโจทก์ทั้งสองแปลง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและห้ามมิให้จำเลยพร้อมทั้งบริวารเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินที่พิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 เดิมที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของรัฐเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าและมีประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม2515 ประกาศให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมสร้างตนเองลำตะคอง จึงไม่อาจซื้อขายหรือโอนเปลี่ยนมือกันได้ การที่โจทก์อ้างว่าจำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์เมื่อปี 2525 จึงเป็นโมฆะ ทั้งจำเลยไม่เคยขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ เพียงแต่ยินยอมให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2529 ถึงปี 2532 เพื่อเป็นการชำระหนี้สิน จำเลยมีสิทธินำที่ดินพิพาทไปสมัครเข้าเป็นสมาชิกของนิคมสร้างตนเองลำตะคองเนื่องจากจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินและมีคุณสมบัติครบถ้วน กรมประชาสงเคราะห์จึงได้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ให้แก่จำเลย และจำเลยมีสิทธินำหนังสือแสดงการทำประโยชน์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ โจทก์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทตามรูปที่ดินและเขตติดต่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.6 และจ.7 ดีกว่าจำเลย ห้ามจำเลยและบริวารเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ดินดังกล่าว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้เป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า เดิมจำเลยซื้อที่ดินแปลงใหญ่ซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทมาจากนายเกตุ ไม่ปรากฏนามสกุล ตั้งแต่ปี 2507 แล้วเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมา ในปี 2515 มีการจัดตั้งนิคมสร้างตนเองลำตะคองขึ้นตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 351 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ทำให้ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตนิคมดังกล่าว ในปี2525 จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์โดยมอบการครอบครองในที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้วหลังจากนั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2526 จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองลำตะคองโดยแจ้งว่าได้เข้าถือครองทำกินในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 25 กุมภาพันธ์2528 อธิบดีกรมประชาสงเคราะห์ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยตามเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 จำเลยได้นำไปขอออกเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อเจ้าพนักงานที่ดิน และจำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2533 ตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.7

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐโดยมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงไม่มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นจำเลยก็ไม่อาจโอนการครอบครองหรือสละการครอบครองให้โจทก์ได้การที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยย่อมไม่ได้รับสิทธิใด ๆ ในที่ดินพิพาทไปด้วย จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเอง และได้รับอนุญาตให้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จำเลยจึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามกฎหมายดีกว่าโจทก์เห็นว่า แม้ที่ดินพิพาทจะเป็นที่ดินของรัฐ แต่ราษฎรก็อาจเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ได้ เพียงแต่เมื่อรัฐต้องการที่ดินดังกล่าว ราษฎรจะยกเอาการครอบครองมาเป็นข้อโต้แย้งรัฐมิได้ แต่ระหว่างราษฎรด้วยกันเองแล้ว ผู้ที่ยึดถือครอบครองทำประโยชน์อยู่ก่อนย่อมมีสิทธิปลดเปลื้องการรบกวนจากผู้สอดเข้าเกี่ยวข้องโดยมิชอบได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1374 เมื่อมีกฎหมายรับรองสิทธิในกรณีดังกล่าวให้ผู้มีสิทธิย่อมสละสิทธินั้นได้ ดังนั้นการที่จำเลยขายที่ดินพิพาทให้โจทก์พร้อมส่งมอบการครอบครอง ย่อมถือได้ว่าจำเลยสละการครอบครองที่ดินพิพาทโดยโจทก์เข้ายึดถือครอบครองต่อไป การที่จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองโดยอ้างว่า จำเลยเป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.3 นั้น เป็นการนำข้อความเท็จไปแจ้งทำให้เจ้าพนักงานของรัฐหลงเชื่อว่าจำเลยมีสิทธิจริงจึงออกหนังสือสำคัญทั้งสองฉบับให้ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 บัญญัติไว้ในมาตรา 6 ให้รัฐบาลมีอำนาจจัดที่ดินของรัฐเพื่อให้ประชาชนได้มีที่ตั้งเคหสถานและประกอบอาชีพเป็นหลักแหล่งในที่ดินโดยจัดตั้งเป็นนิคมนั้น น่าจะหมายความว่าที่ดินของรัฐที่จะนำมาจัดให้กับประชาชนต้องเป็นที่ดินซึ่งยังไม่มีผู้ใดยึดถือครอบครอง แต่หากที่ดินผืนใดที่อยู่ในเขตนิคมมีผู้ยึดถือครอบครองเข้าทำประโยชน์อยู่แล้ว รัฐบาลย่อมไม่มีอำนาจยึดกลับคืนมาจัดสรรให้ราษฎรอื่น ทั้งนี้เพราะตามพระราชบัญญัติดังกล่าวไม่มีบทมาตราใดที่ให้อำนาจรัฐบาลซึ่งก็คือคณะบุคคลคณะหนึ่งกระทำเช่นนั้นได้ ดังนั้นการที่จำเลยได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ส.3) และหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) จึงเนื่องมาจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการไปโดยผิดหลงจากการแจ้งเท็จของจำเลย เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิครอบครองอันแท้จริงแล้ว จำเลยย่อมไม่อาจอ้างเอาประโยชน์จากเอกสารสิทธิดังกล่าวได้ โจทก์ซึ่งครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันแท้จริงย่อมมีสิทธิดีกว่าจำเลย

พิพากษายืน

Share