คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6657/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้ช. จะเป็นบุตรของจำเลยที่1แต่ช. มิได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่1ในฐานะส่วนตัวช. เพียงแต่ดำเนินคดีในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ช. ย่อมมีสิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1562

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายชูชัย สะอาดดีหรือรัชเซลทิดด์ ฟ้องและดำเนินคดีแทน โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินตาม ส.ค.1 เนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ 1 งานโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กลับไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในนามของตนเองแล้วจดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 2โดยจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าเป็นที่ดินของโจทก์ ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนแก้ไขหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าวให้เป็นชื่อโจทก์พร้อมกับส่งมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 2 ไม่ปฎิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยทั้งสองให้การเป็นทำนองเดียวกันว่า โจทก์ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับซื้อไว้โดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ให้จำเลยที่ 2 กับบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อสุดท้ายว่านายชูชัย สะอาดดีผู้รับมอบอำนาจโจทก์เป็นบุตรของจำเลยที่ 1ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุพการีต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ก็มีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1562 เป็นบทบัญญัติตัดสิทธิห้ามมิให้ฟ้องบุพการีของตน จึงต้องแปลความโดยเคร่งครัด ดังนั้น แม้ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเป็นบุตรของจำเลยที่ 1แต่ก็ไม่ได้ฟ้องในฐานะส่วนตัว จึงไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share