คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 664/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บรรยายฟ้องว่า จำเลยรื้อถอนอาคารที่ติดกับอาคารโจทก์โดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชา ทำให้อาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายแตกร้าว โจทก์ต้องก่อสร้างอาคารใหม่ ทั้งเป็นเหตุทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการขายอาหารเพราะลูกค้าไม่กล้าเข้าร้านอาคารโจทก์ที่ใช้ประกอบกิจการค้าขายอาหาร ดังนี้ เป็นคำฟ้องที่บรรยายเกี่ยวกับความเสียหายและค่าเสียหายชัดแจ้งแล้ว ไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายที่โจทก์ไม่ได้ระบุในคำฟ้องนั้นโจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา เหตุละเมิดที่ทำให้อาคารได้รับความเสียหาย เกิดขึ้นในขณะที่โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อครอบครองอาคารดังกล่าวแทนผู้จะขายโจทก์จึงมีแต่เพียงบุคคลสิทธิตามสัญญาจะซื้อจะขายที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนแต่เฉพาะในส่วนที่ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการขายอาหารในอาคารดังกล่าวซึ่งเป็นผลโดยตรงเท่านั้น โจทก์ไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336ที่จะเรียกค่าเสียหายที่เกิดแก่ตัวอาคารเพราะสิทธินั้นเป็นของผู้จะขายอาคารเท่านั้น การที่โจทก์จะให้ผู้ว่าจ้างรับผิดร่วมกับผู้รับจ้างที่กระทำละเมิดต่อโจทก์นั้น โจทก์มีภาระต้องพิสูจน์ว่าผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้างหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลผู้รับจ้างที่ทำละเมิดนั้นเมื่อโจทก์สืบไม่ได้ ผู้ว่าจ้างไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดที่ผู้รับจ้างได้กระทำขึ้น.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองและเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาท เมื่อประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2525 จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 รื้อถอนอาคารซึ่งอยู่ติดกับอาคารของโจทก์เพื่อก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่ จำเลยที่ 1 ทำการรื้อถอนด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้อาคารของโจทก์ได้รับความเสียหาย เกิดรอยร้าวแตกหักไม่สามารถซ่อมแซมให้ใช้การได้ดีดังเดิม ทางแก้ไขต้องทำลายคอนกรีตที่เสียหายและก่อสร้างขึ้นใหม่ซึ่งจะต้องใช้เงินในการก่อสร้างเป็นจำนวน 1,197,000 บาท โจทก์ใช้อาคารประกอบกิจการค้าขายอาหาร การกระทำของจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ต้องหยุดกิจการค้าตามปกติ ขอคิดค่าเสียหายจำเลยที่ 2 และที่ 3ในฐานะผู้ว่าจ้างและเป็นผู้เลือกจำเลยที่ 1 ให้รับจ้าง ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ด้วย ขอให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 1,269,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยและให้จำเลยทั้งสามชำระค่าเสียหายวันละ 1,500 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะสร้างอาคารใหม่ของโจทก์เสร็จและประกอบกิจการค้าดังเดิม
จำเลยทั้งสามให้การว่า ในขณะเกิดเหตุที่ดินและอาคารตามฟ้องเป็นกรรมสิทธิ์ของนายมนู ซึ่งจำเลยที่ 1 กับนายมนูได้ทำบันทึกข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทแล้ว ถือได้ว่ามูลหนี้อันเกิดจากมูลละเมิดระงับไปแล้ว อย่างไรก็ตามโจทก์เพิ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารจากนายมนูเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2525 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำให้ตัวอาคารของโจทก์เสียหายโจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 3 ทำการก่อสร้างอาคารใหม่จริง ส่วนการรื้อถอนนั้น จำเลยที่ 1ได้จ้างบุคคลอื่น จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยที่ 3 ไม่ใช่ผู้ว่าจ้างให้รื้อถอน การรื้อถอนได้กระทำโดยถูกต้องตามหลักวิชาไม่ได้ทำให้เกิดความเสียหายดังโจทก์อ้างการแตกร้าวของอาคารโจทก์ที่ปรากฏเป็นเพียงรอยแตกเล็กน้อย ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุม เพราะโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ชัดเจนว่า อาคารส่วนใดบ้างที่ได้รับความเสียหายเหตุใดจะต้องทำลายคอนกรีตและสร้างขึ้นใหม่ส่วนใดบ้างที่จะต้องซ่อมแซมและสร้างขึ้นใหม่ การรื้อถอนและการก่อสร้างของจำเลยไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการค้าของโจทก์ตามปกติโจทก์ค้าขายไม่ดีอยู่แล้ว วันหนึ่งขายได้ไม่เกิน 200 ถึง500 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวน 422,000 บาท แก่โจทก์
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์และจำเลยแล้วข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ก่อนพิพาท จำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้รื้อถอนอาคาร 3 ชั้น 3 ห้องครึ่งซึ่งเป็นอาคารเดียวกันกับอาคารของโจทก์ โดยห้องหนึ่งมีผนังและคานทั้งสามชั้นร่วมกับอาคารของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ทำการรื้อถอนประมาณเดือนมกราคม 2525 เป็นเหตุให้อาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายปรากฏตามรายงานการเดินเผชิญสืบของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 7 มิถุนายน2527 คดีมีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 2 ข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ เห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายแล้วว่า จำเลยที่ 1 ได้รื้อถอนอาคารโดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาช่วง ขาดการควบคุมแนะนำคนงานในการรื้อถอนอาคาร ทำให้อาคารของโจทก์ได้รับความเสียหายแตกร้าว ทั้งได้ขุดหลุมตอกเสาเข็มโดยมิได้กันดินหรือทรายบริเวณอาคารของโจทก์ ทำให้โครงสร้างอาคารของโจทก์ทรุด อาคารแตกร้าวต้องก่อสร้างอาคารใหม่ใช้เงินจำนวน1,970,000 บาท ทั้งโจทก์ต้องขาดรายได้จากการต้องหยุดขายอาหารเพราะลูกค้าไม่กล้าเข้าร้าน อัตราวันละ 1,500 บาท จนถึงวันฟ้องเป็นจำนวน 72,000 บาท ฟ้องโจทก์บรรยายเกี่ยวกับความเสียหายและค่าเสียหายชัดแจ้งเพียงพอที่จำเลยอาจต่อสู้คดีได้โดยไม่ผิดหลงไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม รายละเอียดเกี่ยวกับความเสียหายโจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา
ปัญหาข้อสองมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยที่ 1 ที่ 2ฎีกาว่า ขณะเกิดเหตุละเมิด โจทก์ไม่ใช่เจ้าของอาคารที่พิพาทข้อนี้โจทก์และนายมนู ประทุมพิทักษ์ พยานโจทก์เบิกความว่าโจทก์ได้ทำสัญญาจะซื้อขายอาคารพิพาทพร้อมด้วยที่ดินจากนายมนูเมื่อวันที่16 พฤษภาคม 2523 มีกำหนดโอนทางทะเบียนกันในวันที่ 16 พฤษภาคม 2524ตามเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ได้เข้าครอบครองและเปิดเป็นร้านขายอาหารต่อมาโจทก์มีเงินไม่พอ จึงได้ต่ออายุสัญญาโดยทำสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วได้โอนกรรมสิทธิ์กันเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2525โจทก์ได้รับความเสียหายเฉพาะเวลาที่มีการรื้อถอนอาคารเดิม ส่วนการก่อสร้างอาคารใหม่โจทก์ไม่ได้รับความเสียหาย โจทก์จำไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เริ่มทำการปลูกสร้างอาคารเดือนไหน ข้อเท็จจริงส่วนนี้จำเลยที่ 1 ที่ 3 นำสืบว่าจำเลยที่ 1 ทำการรื้อถอนระหว่างวันที่14 มกราคมถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2525 เท่านั้น เห็นว่า เหตุละเมิดเกิดในขณะที่โจทก์ครอบครองอาคารพิพาทและที่ดินแทนนายมนู โจทก์ในฐานะผู้จะซื้อคงมีแต่บุคคลสิทธิตามสัญญาจะซื้อขายตามเอกสารหมายจ.1 จ.2 ยังไม่อาจใช้สิทธิในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ได้ ความเสียหายใด ๆ ในตัวอาคารอันเป็นผลโดยตรงจากการที่จำเลยที่ 1 รื้อถอนและปลูกสร้างอาคารถ้าหากจะพึงมีก็เป็นกรณีที่นายมนูเจ้าของกรรมสิทธิ์จะพึงเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้กระทำละเมิดโดยตรง โจทก์คงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่เฉพาะในส่วนที่ทำให้โจทก์ขาดรายได้จากการขายอาหารในอาคารพิพาทอันเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 และมาตรา 428 ตามลำดับเท่านั้น ฎีกาจำเลยที่ 1 ที่ 3 ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ที่ 3 จะต้องรับผิดในผลละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำการรื้อถอน ตอกเสาเข็ม และทำการก่อสร้างอาคาร จึงต้องรับผิดในผลละเมิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 3 นั้น โจทก์คงนำสืบได้เพียงว่า จำเลยที่ 3เป็นผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้กระทำการดังกล่าว เมื่อโจทก์แจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองระยองและเทศบาลเมืองระยอง จำเลยที่ 3 คงรับรองในฐานะผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการชดใช้ค่าเสียหายตามรายงานประจำวัน เอกสารหมาย จ.14 และหนังสือรับรองเอกสารหมายจ.15 เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 3 นำสืบได้ว่า จำเลยที่ 3 เป็นเพียงผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้กระทำตามสัญญาและแบบแปลน โดยจำเลยที่ 3ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมดูแลแต่อย่างใด ทั้งได้ความจากพยานจำเลยที่ 1ที่ 3 ว่าจำเลยที่ 3 ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1ล.2 โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 428 ว่า จำเลยที่ 3 ผู้ว่าจ้างเป็นผู้ผิดในการเลือกหาผู้รับจ้าง เมื่อโจทก์นำสืบให้เห็นความผิดของจำเลยที่ 3 ดังกล่าวไม่ได้ จำเลยที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดในผลละเมิดของจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นในส่วนนี้
คดีมีปัญหาต่อไปในว่า จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทก์เพียงใดได้ความจากโจทก์และนายพิรัฐพยานโจทก์ว่า ปกติโจทก์เปิดขายอาหาร 2 ช่วง ช่วงกลางวันขายอาหารประเภทข้าวมันไก่ก๋วยเตี๋ยว ช่วงกลางคืนตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา ถึง 2 นาฬิกาขายอาหารทะเล ได้กำไรวันละประมาณ 1,500 บาท ระหว่างวันที่1 ทำการรื้อถอน ทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้านเพราะรำคาญเสียงดังรำคาญฝุ่นละอองและเกรงกลัวว่าอาคารจะพังถล่มลงมา ขอคิดค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2525 ซึ่งโจทก์ต้องปิดร้านค้าจนคดีถึงที่สุด เมื่อพิเคราะห์รายงานเดิมเผชิญสืบของศาลลงวันที่ 7มิถุนายน 2527 ประกอบภาพถ่ายหมาย จ.13 แล้ว น่าเชื่อตามคำพยานโจทก์ว่า นอกจากการรื้อถอนจะทำให้เกิดเสียงดัง และฝุ่นละอองเข้าในอาคารโจทก์แล้ว การที่เกิดร่องรอยแตกร้าวตามผนังอาคารพิพาททั้ง 3 ชั้น และการทรุดของกำแพงด้านหลังอาคารพิพาทยังทำให้ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้านอาหารของโจทก์อีกด้วย แม้จำเลยที่ 1 จะนำสืบได้ว่าการรื้อถอนได้ทำเพียงภายในวันที่ 4 มกราคม ถึงวันที่ 9 กุมภาพันธ์2525 ซึ่งน่าจะทำให้ลดเสียงดังและฝุ่นละอองไปภายหลังก็ตาม แต่การที่ลูกค้าไม่กล้าเข้าร้านเพราะกลัวอาคารถล่มจนโจทก์ต้องปิดร้านค้าตลอดมาก็เป็นผลโดยตรงสืบเนื่องมาจากเหตุละเมิดของจำเลยที่ 1 เช่นกัน อย่างไรก็ดี ได้ความจากโจทก์และนายพิรัฐพยานโจทก์ว่า โจทก์ได้ย้ายการขายอาหารในอาคารพิพาทไปขายที่ร้านอาหารอีกห้องห่างจากห้องเดิม 2 ห้อง และโจทก์ซึ่งมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความว่าความเสียหายมีเท่าใด โจทก์สืบไม่ได้ชัด ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดตามพฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด โดยคำนึงถึงรายได้ประจำวันในร้านอาหารของโจทก์ขณะเกิดเหตุละเมิดว่า ให้จำเลยที่ 1ชดใช้เงินแก่โจทก์จำนวน 100,000 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายจำนวน100,000 บาท แก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.

Share