คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6634/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ที่ดินพิพาทเดิมเป็นหากทรายชายทะเลชาวบ้านใช้ตากกุ้งและตากปลาอันเป็นการใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกัน แม้ต่อมาจะเปลี่ยนแปลงสภาพโดยธรรมชาติทะเลตื้นเขินขึ้น แต่ก็เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกัน จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ตราบใดที่ทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ ผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่ เมื่อโจทก์มิใช่ผู้ยึดถือที่ดินพิพาท โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2539 จำเลยเช่าที่ดินบางส่วนบนที่งอกของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเล่ม หมู่ที่ 4 หน้า 46 ของโจทก์เพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัยเนื้อที่ประมาณ 40 ตารางวา ค่าเช่าปีละ 400 บาท เมื่อครบระยะเวลาเช่าโจทก์ไม่ให้เช่าต่อและบอกเลิกสัญญาเช่า จำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ โจทก์เสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ที่จะให้ผู้อื่นเช่าที่ดินไม่น้อยกว่าเดือนละ 1,000บาท นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2540 ถึงวันฟ้องเป็นเงินค่าเสียหาย 6,000 บาท ขอให้จำเลยพร้อมบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 57/3 หมู่ที่ 4 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช ออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย6,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์กับให้ใช้ค่าเสียหายเดือนละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยเคยเช่าที่ดินของโจทก์ แต่เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาเช่าจำเลยออกจากที่ดินที่เช่าไปอยู่ในที่ดินพิพาททางด้านทิศตะวันออกของที่ดินโจทก์ซึ่งเป็นที่ดินที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) สารบบเล่มหมู่ที่ 4 หน้า 46 เนื้อที่ 3 งาน 70 ตารางวา ตั้งอยู่หมู่ที่ 4 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชทิศเหนือจดที่ดินของนายเฉม ทิศใต้จดที่ดินของนายน้อมและนายหวัง ทิศตะวันออกจดหาดทรายชายทะเล ทิศตะวันตกจดที่ดินของนางเสี้ย นางหลง นายหวัง และถนน ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.1 ที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเป็นที่งอกของที่ดินโจทก์ปรากฏตามแนวเส้นสีเขียวในแผนที่พิพาท และที่ดินพิพาทได้แก่บริเวณหมายเลข 2 ในแผนที่พิพาทซึ่งจำเลยปลูกบ้านอาศัยอยู่คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่งอกจากที่ดินของโจทก์หรือเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ โจทก์และพยานโจทก์เบิกความว่า ที่ดินของโจทก์ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.1 ด้านทิศตะวันออกเกิดที่งอกตั้งแต่ปี 2505 โดยเกิดอุทกภัยกระแสน้ำพัดเอาหิน ดิน ทราย เข้ามายังผืนดินเป็นที่งอกและทุก ๆ ปี คลื่นจะซัดทรายเข้าฝั่งทำให้เกิดที่งอกเพิ่มขึ้นปีละ 2 ถึง 3 เมตร เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2509 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังจากที่โจทก์อ้างว่าที่ดินของโจทก์เริ่มเกิดที่งอกแล้ว หากเป็นความจริงดังที่โจทก์อ้าง การระบุแนวเขตที่ดินติดต่อก็ควรจะระบุไว้ว่าด้านทิศตะวันออกติดกับที่ดินซึ่งเป็นที่งอกจากที่ดินเดิม การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เอกสารหมาย จ.1 ระบุว่าด้านทิศตะวันออกจดหาดทรายชายทะเล จึงแสดงว่าในปี 2509 ที่ดินส่วนที่อยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศตะวันออกไม่ใช่ที่งอกจากที่ดินของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าที่ดินในบริเวณหมายเลข 1 และ 2 ในแผนที่พิพาทเป็นที่ดินที่งอกจากที่ดินของโจทก์ แต่เป็นที่ดินซึ่งเดิมเป็นหาดทรายชายทะเล ได้ความจากคำเบิกความของนายโหยบ หวันมะ และนายนพดล ดีโหมด พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านและสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลซึ่งที่ดินพิพาทตั้งอยู่ว่า ชาวบ้านใช้ประโยชน์ร่วมกันในที่ดินพิพาทโดยใช้ตากกุ้งและตากปลาอันเป็นการใช้ทรัพย์สินของแผ่นดินเพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันโดยโจทก์ไม่เคยทำประโยชน์ โจทก์เพิ่งล้อมรั้วสังกะสีเมื่อประมาณ 5 ถึง 6 เดือนมาเท่านั้น ฉะนั้น ที่ดินพิพาทแม้จะเปลี่ยนแปลงสภาพโดยธรรมชาติโดยทะเลตื้นเขินขึ้น แต่ก็เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันเช่นนี้ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1304(2) ตราบใดที่ทางราชการยังมิได้ตราพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 วรรคสอง ที่ดินพิพาทก็ยังคงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอยู่ ซึ่งสาธารณสมบัติของแผ่นดินนั้นผู้ใดหามีสิทธิครอบครองหรือมีกรรมสิทธิ์ไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและโจทก์มิใช่ผู้ยึดถือที่ดินพิพาท เช่นนี้โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share