แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
พยานโจทก์ทุกปากไม่มีสาเหตุกับจำเลยที่ 1 ทั้งเบิกความและให้การได้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นในขณะเกิดเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมชิงทรัพย์และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ก่อนเกิดเหตุมีชาย 2 คน ซึ่งคล้ายจำเลยทั้งสองว่าจ้างผู้ตายขับรถยนต์รับจ้างออกไปจากโรงแรม ร. หลังจากนั้นไม่นานผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย และทิ้งศพไว้ในที่เกิดเหตุ และต่อมาในวันเดียวกันจำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์ของผู้ตายไปใช้เป็นยานพาหนะในการชิงทรัพย์ร้านทอง ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ว่าจ้างผู้ตายให้ขับรถยนต์รับจ้างจากกรุงเทพมหานครไปส่งที่จังหวัดสระบุรี เมื่อไปถึงก็ได้ร่วมกันชิงทรัพย์รถยนต์คันดังกล่าวและฆ่าผู้ตาย เพียงแต่จำเลยที่ 1 บ่ายเบี่ยงว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายเท่านั้น บ่งชี้ชัดว่า จำเลยที่ 1 ร่วมเป็นคนร้ายรายนี้จริง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่าไม่เคยไปพักที่โรงแรม ร. กับได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การโดยไม่ได้อ่านข้อความเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายนั้น เมื่อพิจารณาคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การแล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้การกล่าวถึงการกระทำโดยละเอียดและยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพ ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 จึงไม่น่าเชื่อ พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง โดยการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงสิทธิของผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบ ไม่ควรรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า การแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ต้องระบุไว้ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ทั้งจำเลยที่ 1 เพิ่งยกเรื่องการไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกาโดยในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยที่ 1 ทราบ อันจะเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบและไม่อาจรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นพยานหลักฐานได้
อนึ่ง คดีนี้ จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา คดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุด แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 288, 289, 339 วรรคท้าย พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ. 72, 72 ทวิ ริบกุญแจมือของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 697/2537 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 635/2538 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289 (4), 339 วรรคท้าย, 340 ตรี เป็นการกระทำกรรมเดียว ผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 289 (4) ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนซึ่งมีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90 ให้ประหารชีวิต และจำเลยที่ 2 มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืนไม่มีทะเบียนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 2 ปี ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร จำคุก 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม สำหรับความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน คงจำคุกจำเลยทั้งสองคนละตลอดชีวิต เมื่อลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวตลอดชีวิตแล้ว จึงไม่ต้องนำโทษตามความผิดกระทงอื่นมารวมเข้าด้วยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) ริบกุญแจมือของกลาง นับโทษจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 697/2537 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 635/2538 ของศาลจังหวัดปราจีนบุรี
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 289 (6), 339 วรรคท้าย เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 289 (6) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง แต่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวน เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยทั้งสองตลอดชีวิต ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และให้ยกคำขอที่ให้นับโทษจำเลยทั้งสองต่อจากโทษในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายร่วมกันชิงทรัพย์รถยนต์เก๋งโตโยต้าหมายเลขทะเบียน 2 จ – 1729 กรุงเทพมหานคร ราคา 250,000 บาท ของนายนิวัติ พิบูรณ์ ผู้ตาย โดยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย แล้วทิ้งศพผู้ตายไว้ในที่เกิดเหตุ ต่อมาในวันเกิดเหตุเวลา 12.10 นาฬิกา จำเลยทั้งสองใช้รถยนต์คันดังกล่าวเป็นยานพาหนะไปชิงทรัพย์ที่ร้านทองในจังหวัดปราจีนบุรี มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายตามฟ้องหรือไม่ คดีนี้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุ คงมีแต่พยานแวดล้อม โดยมีนายวิรัช กลิ่นอำไพ พนักงานบริการลูกค้าของโรงแรมโรสทาวน์เป็นพยานเบิกความว่า ผู้ตายเคยนำรถยนต์รับจ้างมาจอดที่คิวรถภายในโรงแรมเป็นเวลา 3 ถึง 4 ปี ก่อนเกิดเหตุ หลังเกิดเหตุมีเจ้าพนักงานตำรวจนำภาพถ่ายจำเลยทั้งสองมาให้ดู พยานดูแล้วให้การไปว่าคล้ายกับชาย 2 คน ที่มากับหญิง 2 คน และเข้าพักที่ห้องเลขที่ 646 ของโรงแรมในคืนเกิดเหตุ สำหรับพยานโจทก์ปากนายนุดิษฐ์ แสงเพ็ญฉาย และนายไพศาล เรืองวิวัฒน์พันธ์ โจทก์ไม่ได้ตัวมาสืบ คงค้างส่งบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของพยานทั้งสองตามเอกสารหมาย ป.จ.12 และ ป.จ.13 โดยนายนุดิษฐ์ให้การไว้ว่า ประกอบอาชีพขับรถยนต์รับจ้างอยู่ที่โรงแรมโรสทาวน์เช่นเดียวกับผู้ตายและจะพบผู้ตายทุกวัน วันที่ 14 กันยายน 2536 เวลา 23 นาฬิกาเศษ ผู้ตายซึ่งขับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน 2 จ – 1729 กรุงเทพมหานคร ได้คิวรับผู้โดยสารจากโรงแรม แต่ไม่ทราบว่าไปส่งที่ใด และนายไพศาลให้การว่า เป็นพนักงานบริการลูกค้าของโรงแรมโรสทาวน์ วันเกิดเหตุเวลา 0.45 นาฬิกา แขกทั้งสี่คนที่มาพักห้องเลขที่ 644 และ 646 ได้ว่าจ้างรถยนต์รับจ้างยี่ห้อโตโยต้า ซึ่งทราบภายหลังว่าเป็นของผู้ตายออกไปจากโรงแรม โจทก์ยังมีจ่าสิบตำรวจวันชัย เพ็งปาน ซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยที่ 1 ตามหมายจับในคดีชิงทรัพย์ที่ร้านทองเป็นพยานเบิกความว่า ในชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ชิงทรัพย์รถยนต์เก๋งยี่ห้อโตโยต้าและฆ่าเจ้าทรัพย์ถึงแก่ความตาย โดยจำเลยทั้งสองว่าจ้างผู้ตายให้ขับรถยนต์จากกรุงเทพมหานครไปส่งที่จังหวัดสระบุรี เมื่อไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตาย จากนั้นได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวไปก่อคดีชิงทรัพย์ที่ร้านทองในเขตจังหวัดปราจีนบุรีตามที่ได้ออกหมายจับไว้ มีร้อยตำรวจเอกชัยวัฒน์ ศรีอัศวอมร พนักงานสอบสวนคดีชิงทรัพย์ที่ร้านทองเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยทั้งสองได้ จำเลยทั้งสองรับว่าได้ปล้นร้านทองในเขตจังหวัดปราจีนบุรี โดยก่อนหน้านี้ได้รถยนต์คันดังกล่าวมาจากการชิงทรัพย์และฆ่าเจ้าทรัพย์ที่จังหวัดสระบุรี และมีพันตำรวจโทสุรชาติ รอดพิทักษ์ พนักงานสอบสวนคดีนี้เป็นพยานเบิกความว่า ในชั้นสอบสวนจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกันชิงทรัพย์รถยนต์และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถึงแก่ความตายจากนั้นได้นำรถยนต์คันดังกล่าวไปชิงทรัพย์ที่ร้านทองตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.4 และ ป.จ.10 กับได้นำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย ป.จ.5 และ ป.จ.11 เห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากไม่มีสาเหตุกับจำเลยที่ 1 ทั้งเบิกความและให้การได้สอดคล้องเชื่อมโยงกัน มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานที่รู้เห็นในขณะเกิดเหตุว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ร่วมชิงทรัพย์และใช้อาวุธปืนยิงผู้ตาย แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีที่ก่อนเกิดเหตุมีชาย 2 คน ซึ่งคล้ายจำเลยทั้งสองว่าจ้างผู้ตายขับรถยนต์รับจ้างออกไปจากโรงแรมโรสทาวน์ หลังจากนั้นไม่นานผู้ตายถูกคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงถึงแก่ความตาย และทิ้งศพไว้ในที่เกิดเหตุ และต่อมาในวันเดียวกันจำเลยทั้งสองได้นำรถยนต์ของผู้ตายไปใช้เป็นยานพาหนะในการชิงทรัพย์ร้านทอง ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ว่าจ้างผู้ตายให้ขับรถยนต์รับจ้างจากกรุงเทพมหานครไปส่งที่จังหวัดสระบุรี เมื่อไปถึงก็ได้ร่วมกันชิงทรัพย์รถยนต์คันดังกล่าวและฆ่าผู้ตาย เพียงแต่จำเลยที่ 1 บ่ายเบี่ยงว่า จำเลยที่ 2 เป็นคนใช้อาวุธยิงผู้ตายเท่านั้น บ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ร่วมเป็นคนร้ายรายนี้จริง ที่จำเลยที่ 1 นำสืบต่อสู้ว่าไม่เคยไปพักที่โรงแรมโรสทาวน์กับได้ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมและบันทึกคำให้การโดยไม่ได้อ่านข้อความเนื่องจากถูกเจ้าพนักงานตำรวจทำร้ายนั้น เมื่อพิจารณาคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย ป.จ.4 แล้ว ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ให้การกล่าวถึงการกระทำโดยละเอียดและยังนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย ป.จ.5 ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 จึงไม่น่าเชื่อพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ข้อเท็จจริงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายร่วมกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และฆ่าผู้ตายตามฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จากบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เอกสารหมาย ป.จ.4 พนักงานสอบสวนไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7 ทวิ วรรคสอง โดยการแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบถึงสิทธิของผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบ ไม่ควรรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า การแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับให้ต้องระบุไว้ในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ทั้งจำเลยที่ 1 เพิ่งยกเรื่องการไม่แจ้งสิทธิดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์และฎีกา โดยในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 1 มิได้นำสืบว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยที่ 1 ทราบแต่ประการใด จึงไม่น่าเชื่อว่าพนักงานสอบสวนจะไม่ได้แจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้จำเลยที่ 1 ทราบอันจะเป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบและไม่อาจรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 เป็นพยานหลักฐานได้ดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกาที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้ จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 จึงเป็นที่สุดแต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ได้ถึงแก่ความตายในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (1) แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำหน่ายคดีโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1