แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ตามสัญญาเช่าซื้อระบุว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหาย สูญหาย หรือถูกริบไม่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยหรือเหตุใด ๆ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียวและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาครบถ้วน เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับค่าเช่าซื้อเท่านั้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยผิดสัญญา ผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญาหรือติดตามรถที่เช่าซื้อคืนแต่ประการใด ทั้งที่จำเลยก็มีภูมิลำเนาที่เดียวกับผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างแต่เพียงว่าไม่ได้ติดตามจำเลยเพราะไม่ทราบว่าจำเลยไปไหน เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง เมื่อจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อแต่ผู้ร้องยังคงให้จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางต่อไป โดยไม่ได้ติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน จนกระทั่งจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีคำสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องจึงมาร้องขอคืนของกลางโดยอ้างว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ซึ่งเป็นระยะเวลานานเกือบ 5 ปี นับแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้องวดสุดท้าย ถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 339 (1) (5) วรรคสาม ประกอบมาตรา 340 ตรี และริบรถจักรยานยนต์ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องมีวัตถุประสงค์ในการให้เช่าซื้อสังหาริมทรัพย์ และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถจักรยานยนต์ ยี่ห้อยามาฮ่า 120 ซีซี สีดำ เลขเครื่องยนต์ 43 – 039836 คันของกลางที่ศาลสั่งให้ริบ ผู้ร้องให้จำเลยเช่าซื้อรถจักรยานยนต์คันดังกล่าว จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ในขณะที่ยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว ขอให้มีคำสั่งคืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ใช่เจ้าของรถจักรยานยนต์ของกลางและผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้คืนรถจักรยานยนต์ของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางหรือไม่ ได้ความจากคำเบิกความของผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องว่า เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 จำเลยได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางไปจากผู้ร้องในราคา 49,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 10,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 6 งวด งวดละ 6,500 บาท เริ่มงวดแรกวันที่ 12 กรกฎาคม 2538 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 12 ของทุกเดือน ครบกำหนดวันที่ 12 ธันวาคม 2538 จำเลยได้ผ่อนชำระค่าเช่าซื้อให้แก่ผู้ร้องเพียง 5 งวด ครั้งสุดท้ายชำระเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2528 (ที่ถูกน่าจะเป็น 2539) ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2543 จำเลยได้นำรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อไปใช้เป็นยานพาหนะในการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เพื่อพาทรัพย์นั้นไปและเพื่อให้พ้นจากการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยได้พร้อมยึดรถจักรยานยนต์คันที่เช่าซื้อเป็นของกลาง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยและริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน คดีถึงที่สุด การที่จำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด เห็นว่า จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ของกลางจากผู้ร้อง เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2538 ในราคา 49,000 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 10,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระเป็นงวด งวดละ 6,500 บาท โดยงวดแรกผ่อนชำระวันที่ 12 กรกฎาคม 2538 งวดต่อไปชำระภายในวันที่ 12 ของทุกเดือน งวดสุดท้ายชำระวันที่ 12 ธันวาคม 2538 จำเลยชำระค่าเช่าซื้อมาตลอดคงเหลืองวดสุดท้ายที่ยังไม่ได้ชำระ จำเลยชำระค่าเช่าซื้อครั้งสุดท้ายวันที่ 24 เมษายน 2539 ซึ่งจำเลยมิได้ชำระค่าเช่าซื้อตรงตามงวดที่ระบุไว้ในสัญญา แม้จำเลยจะผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อถึงสองงวดติดต่อกัน แต่เมื่อจำเลยนำเงินค่าเช่าซื้อมาชำระ ผู้ร้องก็ยังคงรับเงินค่าเช่าซื้อเรื่อยมาโดยผู้ร้องมิได้บอกเลิกสัญญาหรือยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าซื้อคือวันที่ 12 ธันวาคม 2538 จำเลยยังชำระเงินค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน ผู้ร้องก็มิได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน เมื่อจำเลยนำเงินค่าเช่าซื้อมาชำระอีก ผู้ร้องก็ยินยอมรับเงินค่าเช่าซื้อนั้น ตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 6 ระบุว่า ถ้าทรัพย์สินที่เช่าซื้อเสียหาย สูญหาย หรือถูกริบไม่ว่าด้วยเหตุสุดวิสัยหรือเหตุใด ๆ ผู้เช่าซื้อยอมรับผิดฝ่ายเดียวและยอมชำระค่าเช่าซื้อตามสัญญาครบถ้วน เป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาเพียงต้องการที่จะได้รับค่าเช่าซื้อเท่านั้น อีกทั้งไม่ปรากฏว่าเมื่อจำเลยผิดสัญญา ผู้ร้องได้บอกเลิกสัญญาหรือติดตามรถที่เช่าซื้อคืนแต่ประการใด ทั้งที่จำเลยก็มีภูมิลำเนาที่เดียวกับผู้ร้อง ผู้ร้องอ้างแต่เพียงว่าไม่ได้ติดตามจำเลยเพราะไม่ทราบว่าจำเลยไปไหน เป็นข้ออ้างที่ไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง เมื่อจำเลยผิดสัญญาเช่าซื้อแต่ผู้ร้องยังคงให้จำเลยใช้รถจักรยานยนต์ของกลางต่อไป โดยไม่ได้ติดตามยึดรถจักรยานยนต์ของกลางคืน จนกระทั่งจำเลยนำรถจักรยานยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด และศาลมีคำสั่งให้ริบรถจักรยานยนต์ของกลาง ผู้ร้องจึงมาร้องขอคืนของกลางโดยอ้างว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ซึ่งเป็นระยะเวลานานเกือบ 5 ปี นับแต่จำเลยผิดนัดไม่ชำระเงินค่าเช่าซื้องวดสุดท้าย ถือได้ว่าผู้ร้องรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด ผู้ร้องจึงไม่อาจที่จะขอคืนรถจักรยานยนต์ของกลางได้”
พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง