แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ผู้ประกันขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันอุทธรณ์ขอให้ไม่ปรับหรือปรับน้อยลง ศาลอุทธรณ์แก้เป็นว่าให้ลดค่าปรับผู้ประกันลงเหลือ 250,000บาท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ระหว่างพิจารณาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ประกันประกันตัวจำเลยไป โดยทำสัญญาประกันไว้ต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ประกันจะนำตัวจำเลยมาส่งศาลตามที่ศาลชั้นต้นนัดไว้ หากผิดสัญญาศาลชั้นต้นมีอำนาจบังคับผู้ประกันให้ใช้เงินเป็นจำนวน 300,000 บาท แต่ผู้ประกันผิดสัญญาประกันโดยไม่ส่งตัวจำเลยมาฟังคำพิพากษาตามที่ศาลชั้นต้นนัดไว้ ศาลชั้นต้นสั่งปรับผู้ประกันตามสัญญา
ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์ขอให้ไม่ปรับหรือปรับน้อยลง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดค่าปรับผู้ประกันลงเหลือ 250,000 บาท
ผู้ประกันฎีกาขอให้ไม่ปรับหรือปรับน้อยลง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา(ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2532 มาตรา 4 บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีผิดสัญญาประกันต่อศาล ศาลมีอำนาจสั่งบังคับตามสัญญาประกันหรือตามที่ศาลเห็นสมควรโดยมิต้องฟ้อง เมื่อศาลสั่งประการใดแล้ว ฝ่ายผู้ถูกบังคับตามสัญญาประกันหรือพนักงานอัยการมีอำนาจอุทธรณ์ได้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ให้เป็นที่สุด” คดีนี้ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลดค่าปรับผู้ประกันลงเหลือ 250,000 บาท คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมถึงที่สุด ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันมา จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายกฎีกาของผู้ประกัน