คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานที่ดินได้รับคำสั่งจากกรมที่ดินให้ปฏิบัติงานตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินทั้งตำบลและเปลี่ยน น.ส. 3 ก เป็นโฉนดที่ดิน ระหว่างปฏิบัติหน้าที่มีผู้ร้องเรียนไปยังกรมที่ดินว่าผู้เสียหายที่ 1 เรียกและรับเงินค่าออกโฉนด กรมที่ดินจึงมีคำสั่งเรียกตัวกลับกรมที่ดินโดยขณะนั้นผู้เสียหายที่ 1 ไม่ทราบสาเหตุ จำเลยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ได้โทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหายที่ 1 และได้ไปพบผู้เสียหายทั้งสองพร้อมมอบนามบัตรจำเลยให้ผู้เสียหายทั้งสอง และแจ้งถึงเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกเรียกตัวกลับ จำเลยเป็นผู้ดำเนินการทำหนังสือร้องเรียนและลงข่าวในหนังสือพิมพ์สองฉบับแล้วครั้งหนึ่ง ต่อมาจำเลยได้เรียกร้องเงินจากผู้เสียหายทั้งสอง เพื่อแลกกับการที่จำเลยจะไม่ลงข่าวที่ผู้เสียหายที่ 2 เรียกและรับเงินค่าออกโฉนดอีกท้องที่หนึ่งกับท้องที่ที่ถูกร้องเรียนครั้งแรก ผู้เสียหายที่ 1 ขอให้จำเลยอย่าเพิ่งลงข่าว ผู้เสียหายที่ 1 กำลังหาเงิน ผู้เสียหายที่ 1 จะกู้เงินสหกรณ์มาให้จำเลย แต่ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้ดำเนินการกู้เงินสหกรณ์ตามที่อ้าง หลังจากนั้นจำเลยได้โทรศัพท์ขู่ผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้งเพื่อเร่งรัดผู้เสียหายที่ 1 หากผู้เสียหายที่ 1 ไม่มีก็ให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกเงินให้แทน ผู้เสียหายทั้งสองจึงแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจและวางแผนจับกุมจำเลยได้พร้อมธนบัตรที่มอบให้จำเลยกับเครื่องบันทึกเสียงพร้อมเทปที่ตัวจำเลย โดยเทปดังกล่าวบันทึกเสียงที่จำเลยสอบถามชาวบ้านเรื่องที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกรับเงินกับเสียงพูดระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ขอร้องไม่ให้ลงข่าวและจะส่งเอกสารให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 พฤติการณ์เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามรีดเอาทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 80,338
จำเลยประกอบอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ซึ่งต้องมีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวตามความเป็นจริงและเป็นธรรม ไม่ลำเอียง แต่จำเลยกลับแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากอาชีพของตนเป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสังคม จึงไม่สมควรที่จะรอการลงโทษ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 50, 80, 338 คืนของกลางแก่เจ้าของ และห้ามจำเลยประกอบวิชาชีพผู้สื่อข่าวมีกำหนดเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 50, 80, 338 จำคุก 2 ปี คืนของกลางแก่เจ้าของ และห้ามจำเลยประกอบอาชีพผู้สื่อข่าวมีกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันพ้นโทษ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ผู้เสียหายทั้งสองเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน กรมที่ดิน โดยก่อนเกิดเหตุได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติงานตามโครงการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดินและสอบเขตที่ดินตำบลที่เกิดเหตุทั้งตำบล และงานโครงการเปลี่ยน น.ส. 3 ก. เป็นโฉนดที่ดิน ระหว่างปฏิบัติงานดังกล่าวมีผู้ร้องเรียนไปยังกรมที่ดินว่าผู้เสียหายที่ 1 รังวัดที่ดินไม่เป็นธรรม เรียกและรับเงินค่าออกโฉนด จำเลยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้าและสยามรัฐประจำอำเภอเบตง จังหวัดยะลา ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุ ผู้เสียหายที่ 1 นัดพบจำเลยแล้วผู้เสียหายที่ 1 ได้ส่งมอบเงินจำนวน 15,000 บาท ให้จำเลยและจำเลยได้รับไว้ทันใดจำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมยึดธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 15 ฉบับ ดังกล่าวที่เจ้าพนักงานตำรวจได้นำลงบันทึกรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ก่อนให้ผู้เสียหายที่ 1 นำมาให้จำเลย กับยึดเครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็ก ยี่ห้อโซนี่ 1 เครื่อง ม้วนเทป 1 ม้วน และเอกสารเกี่ยวกับการที่เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเงินจากราษฎรเป็นของกลาง ปัญหาว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายทั้งสองเบิกความว่า ในการเดินสำรวจเพื่อออกโฉนดที่ดินในพื้นที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา มีเจ้าหน้าที่ 42 คน ผู้เสียหายที่ 2 เป็นหัวหน้าโดยเป็นผู้อำนวยการสำรวจ ได้แบ่งสายสำรวจเป็น 10 ชุด และมอบหมายให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นหัวหน้าชุด ชุดหนึ่งเดินสำรวจบริเวณหมู่ที่ 3 ตำบลตาเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ในการสำรวจรังวัดในหน้าที่ของผู้เสียหายที่ 1 มีปัญหาพิพาทระหว่างผู้อ้างสิทธิครอบครองในที่ดิน ผู้เสียหายทั้งสองไกล่เกลี่ยคู่กรณีแล้ว แต่ในที่สุดตกลงกันไม่ได้เป็นเหตุให้ไม่สามารถออกโฉนดที่ดินที่พิพาท เกิดการฟ้องร้องและมีผู้ร้องเรียนไปยังกรมที่ดิน วันที่ 2 กรกฎาคม 2541 ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับคำสั่งเรียกตัวกลับกรมที่ดิน กรุงเทพมหานคร โดยผู้เสียหายที่ 1 ยังไม่ทราบว่าสาเหตุอะไร วันรุ่งขึ้นจำเลยโทรศัพท์ถึงผู้เสียหายที่ 2 แจ้งว่าจำเลยเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้าและหนังสือพิมพ์สยามรัฐ กับเป็นผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 จะมาพบผู้เสียหายที่ 1 ที่ศูนย์อำนวยการเดินสำรวจ ในช่วงเช้าวันที่ 4 กรกฎาคม 2541 จำเลยมาพบผู้เสียหายทั้งสองตามนัดได้แสดงและมอบนามบัตรจำเลยให้ผู้เสียหายทั้งสอง และบอกว่าสาเหตุที่ผู้เสียหายที่ 1 ถูกเรียกตัวกลับกรมที่ดิน เนื่องจากคู่กรณีพิพาทเกี่ยวกับที่ดินข้างต้นร้องเรียนว่าผู้เสียหายที่ 1 ประพฤติมิชอบต่อหน้าที่ราชการ และเรียกรับเงินจากชาวบ้านทั่วไปเพื่อการรังวัดออกโฉนดด้วย ตนเป็นผู้ดำเนินการทำหนังสือร้องเรียนให้และลงข่าวในหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2541 เมื่อจำเลยกลับไปแล้ว ในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้นจำเลยได้โทรศัพท์ถึงผู้เสียหายที่ 2 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปพบจำเลยในตอนเย็น ผู้เสียหายที่ 2 สงสัยจึงให้นายกฤษฎา สุโพธิ์ ซึ่งเป็นช่างรังวัดในชุดของผู้เสียหายที่ 1 ไปด้วย ผลการเจรจาที่ห้องวีไอพีร้านอาหารพรเพชรคาราโอเกะข้างตลาดสดเทศบาลตำบลเบตง จำเลยให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปบอกผู้เสียหายที่ 2 ว่านอกจากตำบลที่ผู้เสียหายที่ 1 เดินสำรวจแล้ว ยังมีตำบลยะรม และตำบลธารน้ำทิพย์อีก 2 ตำบล ในความรับผิดชอบของผู้เสียหายที่ 2 ที่มีการเรียกรับสินบนในการเดินสำรวจรังวัดเพื่อออกโฉนดรวมเป็นเงิน 3,000,000 บาท จำเลยขอเรียกเงินจากผู้เสียหายทั้งสองกับพวกแยกเป็นตำบลละ 50,000 บาท 3 ตำบล เป็นเงินรวม 150,000 บาท เพื่อไม่ให้จำเลยลงข่าวหนังสือพิมพ์ว่าชุดสำรวจที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้อำนวยการศูนย์เดินสำรวจเรียกรับสินบนในการเดินสำรวจออกโฉนดที่ดิน ผู้เสียหายที่ 1 ขอต่อรอง จำเลยลดให้เฉพาะผู้เสียหายที่ 1 เหลือ 30,000 บาท รวมเหลือ 130,000 บาท เมื่อผู้เสียหายที่ 1 กับนายกฤษฎากลับมาแจ้งแก่ผู้เสียหายที่ 2 แล้ว ในคืนนั้นผู้เสียหายที่ 1 ได้เดินทางกลับกรุงเทพมหานคร จำเลยได้โทรศัพท์ถึงผู้เสียหายที่ 2 ว่าทราบเรื่องที่เจรจากันแล้วหรือไม่ และพูดขู่ว่าถ้าไม่ให้ตำบลละ 50,000 บาท ก็จะนำเรื่องไปลงข่าวหนังสือพิมพ์ หลังจากนั้นจำเลยได้โทรศัพท์มาขู่ผู้เสียหายที่ 2 อีกหลายครั้ง ระหว่างผู้เสียหายที่ 1 ไม่อยู่ ส่วนผู้เสียหายที่ 1 ถูกกรมที่ดินตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และวันที่ 30 กรกฎาคม 2541 ผู้เสียหายที่ 1 ทราบจากกรรมการว่าจำเลยได้โทรศัพท์ถึงกรรมการว่ามีหลักฐานเพิ่มเติมจะส่งให้ ผู้เสียหายที่ 1 จึงโทรศัพท์ถึงจำเลยขอให้จำเลยอย่าเพิ่งส่งข่าวไปลงหนังสือพิมพ์ ผู้เสียหายที่ 1 ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนและกำลังหาเงินอยู่ ผู้เสียหายที่ 1 จะกู้เงินจากสหกรณ์มาให้จำเลย วันที่ 5 สิงหาคม 2540 ก่อนวันจับกุมหนึ่งวัน ผู้เสียหายที่ 1 เดินทางกลับมาอำเภอเบตงเพื่อสะสางงานที่ค้างไว้ในช่วงเดินสำรวจ จำเลยทราบข่าวการกลับมาของผู้เสียหายที่ 1 ได้โทรศัพท์มาขู่ผู้เสียหายที่ 2 หลายครั้ง เร่งรัดให้ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินมาให้ หากผู้เสียหายที่ 1 ไม่มี ก็ให้ผู้เสียหายที่ 2 ออกเงินให้แทน จำเลยจะไม่ผ่อนเวลาให้อีก ผู้เสียหายทั้งสองจึงปรึกษาเพื่อนร่วมงานและนายอุทัย สุภัทรประทีป เจ้าพนักงานที่ดินท้องที่แล้วเห็นควรดำเนินคดีแก่จำเลย วันรุ่งขึ้นจำเลยโทรศัพท์นัดหมายผู้เสียหายที่ 1 ให้นำเงินที่เรียกร้องไปให้จำเลยที่บ้าน มีเงินเท่าไรก็ให้เอาไปให้แค่นั้นก่อน ผู้เสียหายทั้งสองกับนายอุทัยจึงนำความแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจและวางแผนจับกุมจำเลยในวันนั้น โดยนำหมายเลขธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท จำนวน 15 ฉบับ เป็นเงิน 15,000 บาท ไปลงในบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้แล้ว ให้ผู้เสียหายที่ 1 นัดเปลี่ยนแปลงสถานที่รับเงินเป็นศาลาประชาคม อำเภอเบตง และขอให้จำเลยนำเอกสารเกี่ยวกับที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกรับเงินจากราษฎรมาแลกกับเงินที่ผู้เสียหายที่ 1 จะนำมาให้ด้วย ถึงเวลานัดให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปกับนายจักรพันธ์ จารีรัตน์ ส่งเงินตามนัด ถ้าจำเลยรับเงินจากผู้เสียหายที่ 1 แล้ว ให้นายจักรพันธ์ให้สัญญาณเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มสังเกตุการณ์อยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวเข้าจับกุมจำเลย และมีนายกฤษฎาเบิกความว่า วันที่ 4 กรกฎาคม 2541 พยานไปกับผู้เสียหายที่ 1 เพื่อพบจำเลยที่ร้านพรเพชรคาราโอเกะ พยานได้นั่งฟังการเจรจาระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 จำเลยขู่จะหาหลักฐานเพิ่มเติมต่อไปเกี่ยวกับพฤติกรรมเรียกรับเงินสินบนชาวบ้านของผู้เสียหายที่ 1 เพื่อนำไปลงข่าวหนังสือพิมพ์ ผู้เสียหายที่ 1 ขอร้องจำเลยไม่ให้ลงข่าว จำเลยขอค่าปิดข่าวตำบลละ 50,000 บาท จำนวน 3 ตำบล กับมีนายจักรพันธ์เบิกความว่า วันที่ผู้เสียหายที่ 1 นำเงินไปมอบให้จำเลย ผู้เสียหายที่ 2 ให้พยานไปกับผู้เสียหายที่ 1 ด้วย เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ให้เงินแก่จำเลยแล้ว ให้พยานใช้มือลูบศีรษะเป็นสัญญาณให้เจ้าพนักงานตำรวจที่ซุ่มดูอยู่ทราบ เวลาประมาณ 13 นาฬิกา จำเลยมาตามนัด ก่อนส่งมอบเงินกัน จำเลยถามผู้เสียหายที่ 1 ว่าเตรียมเงินมาให้หรือไม่ ผู้เสียหายที่ 1 ตอบว่าเตรียมมาให้ 15,000 บาท จำเลยบอกว่าจะให้เอกสารเกี่ยวกับการเรียกร้องเงินของเจ้าหน้าที่ที่ดินที่ผู้เสียหายที่ 1 รับผิดชอบ ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยจะนำไปลงข่าวในหนังสือพิมพ์ และหากผู้เสียหายที่ 1 นำเงินมาให้จนครบ 30,000 บาท จำเลยก็จะนำเทปเสียงที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกร้องเงินจากชาวบ้านมาให้ ผู้เสียหายที่ 1 จึงส่งมอบเงิน 15,000 บาท ให้แก่จำเลยและจำเลยส่งมอบเอกสารให้ผู้เสียหายที่ 1 พยานได้ลูบศีรษะให้สัญญาณ เจ้าพนักงานตำรวจเข้าจับกุมจำเลย และมีพันตำรวจโทงามศักดิ์เจ้าพนักงานตำรวจผู้วางแผนจับกุมและสอบสวนจำเลยเบิกความว่า ในวันเกิดเหตุได้รับแจ้งจากผู้เสียหายทั้งสองกับพวกเจ้าหน้าที่ที่ดินสาขาเบตงว่าผู้เสียหายทั้งสองถูกจำเลยข่มขู่เรียกเงินเกี่ยวกับเรื่องผู้เสียหายที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และผู้เสียหายที่ 1 ได้เตรียมเงินจำนวน 15,000 บาท มาด้วยเป็นธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 15 ฉบับ พยานได้เขียนบันทึกรับแจ้งความร้องทุกข์ และนำหมายเลขธนบัตรไปลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีและวางแผนจับกุม แล้วนำเจ้าพนักงานตำรวจหลายคนไปซุ่มสังเกตการณ์อยู่ริมถนนตรงข้ามปากทางเข้าศาลาประชาคม อำเภอเบตง ที่นัดหมายส่งมอบเงินและเอกสารกันเวลา 12 นาฬิกาเศษ จำเลยขับรถจักรยานยนต์มาที่นัดหมาย แล้วขับรถจักรยานยนต์กลับ ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตามไปที่บ้านจำเลย แต่พยานโทรศัพท์ห้ามไม่ให้ผู้เสียหายที่ 1 ตามไป ให้คงรออยู่ที่ศาลาประชาคม อำเภอเบตง หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จำเลยก็ขับรถจักรยานยนต์กลับมา เข้าไปยืนพูดคุยกับผู้เสียหายที่ 1 อยู่ห่างพยานประมาณ 50 เมตร พยานเห็นจำเลยส่งเอกสารให้ผู้เสียหายที่ 1 และนายจักรพันธ์ได้ยกมือลูบศีรษะเป็นสัญญาณให้ทราบว่าผู้เสียหายที่ 1 ส่งมอบเงินให้แก่จำเลยแล้ว พยานกับพวกจึงเข้าแสดงตัวขอตรวจค้น พยานรู้จักจำเลยมาก่อนในฐานะจำเลยเป็นผู้สื่อข่าว จำเลยมีอาการตกใจ ผลการตรวจค้นจำเลยพบธนบัตรที่บันทึกหมายเลขธนบัตรไว้แล้วทั้งหมดอยู่ในมือของจำเลย เครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็กพร้อมเทปในตัวจำเลย ซึ่งถอดเทปดังกล่าวฟังและมีข้อความที่จำเลยสอบถามชาวบ้านที่ถูกผู้เสียหายที่ 1 เรียกเอาเงิน กับเสียงพูดคุยระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 เกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 1 ขอร้องไม่ให้จำเลยลงข่าวหนังสือพิมพ์และผู้เสียหายที่ 1 จะมาพบเพื่อตกลงกันและเอกสารจำนวน 13 แผ่น ที่มอบให้ผู้เสียหายที่ 1 เห็นว่า ผู้เสียหายทั้งสอง นายกฤษฎา นายจักรพันธ์ และพันตำรวจโทงามศักดิ์เป็นประจักษ์พยานโจทก์ รู้เห็นได้ยินจำเลยข่มขู่เรียกเงินจากผู้เสียหายทั้งสองเป็นการแลกเปลี่ยนกับการที่จำเลยไม่เขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์ ประจักษ์พยานดังกล่าวไม่เคยรู้จักหรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษ ต่างเบิกความสอดคล้องเป็นลำดับและจำเลยถูกจับพร้อมด้วยธนบัตรที่ใช้ล่อเพื่อจับกุม กับเครื่องบันทึกเสียงขนาดเล็กและม้วนเทปบันทึกเสียงสองด้านในตัวจำเลย
เมื่อพิจารณาเสียงพูดคุยระหว่างจำเลยกับผู้เสียหายที่ 1 ที่มีข้อความว่าผู้เสียหายที่ 1 ขอร้องจำเลยไม่ให้ลงข่าวอันจะทำให้ผู้เสียหายที่ 1 เสียหาย ประกอบพฤติการณ์ที่ผู้เสียหายทั้งสองต้องแจ้งความร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจจนวางแผนเพื่อจับกุมจำเลย จึงเชื่อว่าจำเลยได้ข่มขู่ผู้เสียหายทั้งสองเพื่อรีดเอาทรัพย์ ที่จำเลยฎีกาว่า การที่จำเลยได้เข้ามาทำข่าวที่ผู้เสียหายทั้งสองถูกร้องเรียน โดยเฉพาะผู้เสียหายที่ 1 ถูกร้องเรียนเรื่องเรียกและรับเงินในการรังวัดออกโฉนด ทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ไม่พอใจจำเลย ในวันเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 เป็นฝ่ายนัดหมายจำเลยมาพบและนำเงินมามอบให้จำเลยเอง ขณะรับเงินจำเลยยังไม่ทราบว่าเป็นเงินอะไร หากจำเลยประสงค์จะรีดเอาทรัพย์จากผู้เสียหายทั้งสอง จำเลยน่าจะรีดเอาทรัพย์จากผู้เสียหายทั้งสองก่อนลงข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ปรากฏว่าเรื่องเกี่ยวกับที่ผู้เสียหายที่ 1 เรียกรับผลประโยชน์ในการรังวัดออกโฉนดให้แก่ราษฎร จำเลยได้เคยลงข่าวในเรื่องดังกล่าวไปแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2541 ซึ่งอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับโทษ ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลยนั้น เห็นว่า วุฒิภาวะอาชีพเช่นจำเลย จำเลยทำคุณประโยชน์อะไรให้ผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการเงินเดือนน้อยถึงนำเงินมาให้จำเลยเอง และที่ว่าไม่ทราบว่าเป็นเงินอะไรก็ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง แม้จำเลยจะเคยเขียนข่าวลงเกี่ยวกับผู้เสียหายที่ 1 มาแล้ว ก็หาเป็นพิรุธว่าจะไม่เป็นประโยชน์แก่การรีดเอาทรัพย์ไม่ เพราะขณะลงข่าวครั้งแรกจำเลยยังไม่มีเถยจิตคิดมิชอบ จนภายหลังจากการสอบถามปรากฏมีชาวบ้านจำนวนมากที่ถูกเรียกร้องเงิน แล้วจำเลยที่ 1 เห็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เรียกรับผลประโยชน์ได้รวมจำนวนมาก จึงคิดแสวงหาประโยชน์จากการประพฤติมิชอบของผู้อื่นนั้นโดยขู่จะนำหลักฐานการประพฤติมิชอบที่ตนรวบรวมไว้มาข่มขู่บีบคั้นให้จำยอม ส่วนที่ฎีกาว่า ก่อนหน้านี้เหตุใดผู้เสียหายทั้งสองจึงไม่แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยเพิ่งมาแสดงตนหลังจากผู้เสียหายที่ 1 ได้รับคำสั่งให้เดินทางกลับกรุงเทพมหานครด่วน จึงไม่มีโอกาสติดต่อผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องเรียนโดยตรงอีก จนก่อนวันเกิดเหตุ 1 วัน ผู้เสียหายที่ 1 เดินทางกลับมาอำเภอเบตง จำเลยก็ทราบทันทีก่อนผู้เสียหายที่ 2 เสียอีก ส่วนผู้เสียหายที่ 2 ไม่ปรากฏชัดว่าพัวพันเรื่องที่ถูกร้องเรียนอย่างไรนอกจากเป็นผู้บังคับบัญชาของผู้เสียหายที่ 1 แม้จะถูกข่มขู่ด้วยก็ยังอยู่ห่างไกล เป็นเรื่องของผู้เสียหายที่ 1 โดยตรงไม่ ที่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยระหว่างที่ผู้เสียหายที่ 1 ไม่อยู่ ส่วนฎีกาข้ออื่น ๆ ของจำเลยไม่มีผลทำให้คำวินิจฉัยของศาลล่างเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
ปัญหาต่อไปว่าสมควรลดโทษและหรือรอการลงโทษให้แก่จำเลยหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพเป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งต้องมีจรรยาบรรณในการเสนอข่าวตามความเป็นจริงและเป็นธรรมไม่ลำเอียง แต่จำเลยกลับแสวงหาประโยชน์ที่มิชอบจากอาชีพของตน เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและสังคม ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอการลงโทษนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share