คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 662/2525

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

วันที่ 26 กันยายน ธนาคารส่งเงินที่มีคำสั่งอายัดไว้ก่อนคำพิพากษาให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษา แต่เมื่อวันที่ 10 เดือนเดียวกัน ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้ชั่วคราวในคดีล้มละลายศาลจึงสั่งให้โอนเงินไปไว้ในคดีล้มละลาย วันที่1 ตุลาคม โจทก์แถลงขอรับเงิน ศาลสั่งยกคำขอ โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านคำสั่ง วันที่ 2 ตุลาคม จำเลยถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในอีกสำนวนหนึ่ง ศาลจึงสั่งจำหน่ายคดีเดิม แล้วสั่งโอนเงินไปไว้ในคดีใหม่ดังนี้ โจทก์จะอาศัยพระราชบัญญัติล้มละลาย มาตรา 110 มาอ้างว่า การบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เพื่อยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีใหม่ไม่ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้ชำระหนี้ตามเช็ค โดยศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งอายัดเงินฝากของจำเลยในธนาคารไว้ชั่วคราว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ จำเลยไม่ชำระ ศาลชั้นต้นได้มีหมายอายัดให้ธนาคารส่งมอบเงินที่ได้มีคำสั่งอายัดไว้ก่อนพิพากษาให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีภายใน 7 วัน ต่อมาวันที่ 26 กันยายน 2523 ธนาคารได้ส่งเงินจำนวนหนึ่งตามที่อายัดไว้ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี แต่เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2523 ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยไว้ชั่วคราวในคดีล้มละลายอีกคดีหนึ่ง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงได้แจ้งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีโอนเงินจำนวนนี้ไปไว้ในคดีล้มละลาย ศาลจึงสั่งให้โอนเงินไปได้ในคดีล้มละลาย วันที่ 1 ตุลาคม 2523 โจทก์แถลงขอรับเงิน ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตวันที่ 2 ตุลาคม 2523 ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดในอีกสำนวนหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีล้มละลายคดีแรกตามมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2523 ศาลชั้นต้นจึงสั่งโอนเงินไปไว้ในคดีล้มละลายคดีหลังตามหนังสือของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์

โจทก์จึงยื่นคำแถลงต่อศาลชั้นต้นอ้างว่าศาลชั้นต้นได้สั่งจำหน่ายคดีล้มละลายคดีแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2523 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยได้เคยถูกพิทักษ์ทรัพย์ชั่วคราวมาก่อน ในคดีล้มละลายคดีหลังศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2523 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่การบังคับคดีสำเร็จบริบูรณ์แล้วตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2523 ซึ่งเป็นวันที่ธนาคารส่งเงินที่โจทก์ขออายัดไว้ชั่วคราวมาให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีของศาลชั้นต้น เงินจำนวนดังกล่าวจึงไม่ตกเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลาย โจทก์มีสิทธิขอรับเงินจำนวนนี้เพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาต

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เงินที่โจทก์ขอรับได้โอนเข้าไปในคดีล้มละลายแล้วและอยู่ในระหว่างการบังคับคดี

โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เหตุที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ 6/2523 (คดีแรก) ก็เพราะมาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช 2483 ได้บัญญัติบังคับไว้ว่า ถ้าศาลได้สั่งในคดีใดให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้ว ก็ให้จำหน่ายคดีล้มละลายซึ่งเจ้าหนี้อื่นฟ้องลูกหนี้ คนเดียวกันนั้น การที่กฎหมายมีบทบังคับไว้ดังกล่าว ก็เพื่อให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้ใช้อำนาจจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งอันเป็นประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลายร่วมกัน ตามนัยที่บัญญัติในมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 เกี่ยวกับคดีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เดิมเงินที่ศาลชั้นต้นสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นำไปจัดการในคดีล้มละลายหมายเลขดำที่ 6/2523 ซึ่งในขณะที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งดังกล่าวการบังคับคดียังไม่สำเร็จบริบูรณ์ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 และเมื่อโจทก์แถลงขอรับเงินจำนวนนี้ ศาลชั้นต้นได้สั่งให้ยกคำขอแล้ว โจทก์เองก็ไม่ได้โต้แย้งคำสั่งแต่อย่างใด ฉะนั้นแม้ในเวลาต่อมา ศาลชั้นต้นจะได้สั่งจำหน่ายคดีล้มละลายสำนวนนี้ตามที่มีบทบัญญัติของพระราชบัญญัติล้มละลายบังคับไว้ ก็หาทำให้ทรัพย์สินใด ๆ ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้จัดการรวบรวมไว้ในสำนวนนี้ก่อนจำหน่ายคดีหลุดพ้นไปจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะใช้สิทธินำไปจัดการในสำนวนคดีล้มละลายที่ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดนั้นแล้วต่อไปไม่ กรณีเรื่องนี้โจทก์จึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติ มาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาใช้บังคับโดยอ้างเหตุว่าการบังคับคดีได้สำเร็จบริบูรณ์เพื่อยันแก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ในคดีล้มละลายหมายเลขแดงที่ 4/2523 (คดีหลัง) ซึ่งศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้วนั้นได้

พิพากษายืน

Share