คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6611/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ฎีกาปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อปรากฏว่าในส่วนของโจทก์ที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 48,662 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 1 ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยในส่วนนี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในส่วนของโจทก์ที่ 1 ให้ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมแต่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมเพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 48,662 บาท และให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 195,875 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 244,537 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกาในทุนทรัพย์264,573 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินจำนวน 500 บาทแก่จำเลยที่ 2

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างจำเลยที่ 2ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อชนิดพ่วง ในกิจการของจำเลยที่ 2โดยประมาทและด้วยความเร็วสูงแฉลบเข้าชนรถยนต์กระบะของโจทก์ที่ 2 ขณะโจทก์ที่ 1 ขับเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 264,537 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีจากต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทชนท้ายรถที่จำเลยที่ 1 ขับ โจทก์ที่ 2 ไม่ใช่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะค่าเสียหายสูงเกินส่วนและไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่บรรยายฟ้องในเรื่องค่าเสียหายให้ละเอียดจึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ความเสียหายเกิดจากความประมาทของโจทก์ที่ 1 ฝ่ายเดียว โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะมิใช่เจ้าของรถยนต์กระบะในขณะเกิดเหตุ และฟ้องเคลือบคลุมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 48,662 บาท และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 195,875 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีจากต้นเงินทั้งสองจำนวนนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ฎีกาข้อแรกว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะโจทก์ทั้งสองรู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2536 โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่14 ตุลาคม 2537 จึงขาดอายุความเรียกร้องจากจำเลยที่ 2 เห็นว่าฎีกาข้อนี้เป็นปัญหาข้อเท็จจริง ปรากฏว่าในส่วนของโจทก์ที่ 1นั้น ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวน 48,662 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์สำหรับโจทก์ที่ 2 ไม่เกิน50,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะวินิจฉัยในส่วนนี้ให้ก็เป็นการไม่ชอบ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้คงวินิจฉัยให้เฉพาะที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 2 และฟังข้อเท็จจริงได้ว่า โจทก์ที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1ภายหลังวันที่ 26 กรกฎาคม 2537 โจทก์ที่ 2 ฟ้องคดีนี้ในวันที่14 ตุลาคม 2537 จึงไม่ขาดอายุความ
จำเลยที่ 2 ฎีกาต่อไปว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเคลือบคลุมเพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะไม่ใช่เจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของรถยนต์คันเกิดเหตุ โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้อง อนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหายให้โจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 48,662 บาท และให้โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 195,875 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น244,573 บาท จำเลยที่ 2 ฎีกาในทุนทรัพย์ 264,537 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินจำนวน 500 บาท แก่จำเลยที่ 2
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา2,000 บาท แทนโจทก์ที่ 2 และคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน500 บาท แก่จำเลยที่ 2 กับให้ยกฎีกาของจำเลยที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวกับโจทก์ที่ 1 คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาในส่วนนี้ทั้งหมดแก่จำเลยที่ 2

Share