คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 661/2554

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่ ร. ถูกดำเนินคดีอาญาแม้อัยการ ธ. จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตามก็ถือว่า ธ. เป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่ ร. แล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 แล้ว
ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อให้เจ้าพนักงานกระทำการตาม ป.อ. มาตรา 143 ไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง โจทก์ร่วมจึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมาย จึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 143
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานายสินโต บัวเจริญ และนางคนิดา ผู้เสียหายทั้งสองยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ประกอบมาตรา 83 เป็นการกระทำความผิดหลายกรรม ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวมจำคุก 12 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 4 ปี รวม 3 กระทง จำคุก 12 ปี และศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่าจำคุกจำเลยกระทงละ 2 ปี รวม 2 กระทง จำคุก 4 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 9 ลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า พยานโจทก์ขัดแย้งกันไม่เพียงพอฟังเพื่อลงโทษจำเลยนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลชั้นต้นรับฎีกาในปัญหาข้อนี้มาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า นายธนิต ไม่ใช่อัยการเจ้าของสำนวนในคดีที่นายรัตนะ ถูกดำเนินคดีในข้อหาฐานชิงทรัพย์ จึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว และยังไม่ได้มีการให้เงินแก่กัน จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นั้น เห็นว่า การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่นายรัตนะถูกดำเนินคดีอาญา แม้อัยการธนิตจะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตาม ก็ถือว่านายธนิตเป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่นายรัตนะแล้ว การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมิใช่ผู้เสียหายจึงไม่อาจเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการได้นั้น เห็นว่า ความผิดฐานเรียก รับหรือยอมจะรับทรัพย์สินเพื่อให้เจ้าพนักงานกระทำการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ไม่ใช่ความผิดต่อสาธารณชน แต่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐโดยตรง โจทก์ร่วมทั้งสองจึงมิใช่ผู้เสียหายตามกฎหมายจึงไม่อาจเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้เสียหายทั้งสอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share