คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6606/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ในขณะที่บริษัทท. ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้างบริษัทดังกล่าวเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องอยู่จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะไม่อาจดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้เป็นกรณีที่ผู้ร้องได้รับความเสียหายซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องแล้วผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลับจดชื่อบริษัทท.ให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1246(6)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเดิมบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคล ต่อมาวันที่ 18 กันยายน 2532 ได้ถูกนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง ในขณะที่บริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้างนั้นบริษัทดังกล่าวเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องเป็นเงินทั้งสิ้น 290,137.92บาท จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้และได้รับความเสียหาย ขอให้มีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กลับจดชื่อบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัดให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1246(6)
ผู้คัดค้านซึ่งเป็นกรรมการบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัดก่อนที่บริษัทถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนยื่นคำคัดค้านว่า ตามหนังสือค้ำประกันฉบับลงวันที่ 22 เมษายน 2524 ผู้ร้องได้ทำหนังสือค้ำประกันไว้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด โดยระบุว่าหนังสือค้ำประกันฉบับนี้มีผลบังคับตั้งแต่เดือนเมษายน 2524และสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม 2525 สัญญาค้ำประกันของผู้ร้องต้องสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2525 ผู้ร้องจึงมิได้ตกเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ดังกล่าวหลังจากเดือนพฤษภาคม 2525 การที่ผู้ร้องต้องชำระเงินให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม2534 โดยผู้ร้องไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 695 ผู้ร้องย่อมสิ้นสิทธิที่จะไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ และผู้คัดค้านขอยืนยันว่าในขณะที่ขีดชื่อบริษัทจากทะเบียนนั้น บริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัดได้เลิกทำการค้าและมิได้ประกอบกิจการงาน นอกจากนี้การกระทำของผู้ร้องไม่สามารถอ้างความยุติธรรมหรือความชอบธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องในคดีเพื่อให้ศาลมีคำสั่งให้กลับจดชื่อบริษัทดังกล่าวคืนเข้าสู่ทะเบียนได้ ขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าในขณะที่ขีดชื่อบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ออกจากทะเบียนนั้นบริษัทดังกล่าวยังทำการค้าหรือประกอบการงานอันใดอยู่ ทั้งเห็นว่ายังไม่มีเหตุสมควรที่จะให้กลับจดชื่อบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์จำกัด คืนเข้าสู่ทะเบียนได้ ให้ยกคำร้องขอ
ผู้ร้อง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
ผู้ร้อง ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เดิมบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด มีฐานะเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครขีดชื่อบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทร้างเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2532 แต่เมื่อวันที่21 เมษายน 2524 บริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ได้ขอให้ผู้ร้องออกหนังสือค้ำประกันต่อธนาคารทหารไทย จำกัด ในการทำสัญญาซื้อขายเครื่องรับส่งวิทยุระหว่างบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัดกับกองทัพบก ในวงเงินค้ำประกัน 187,700 บาท ต่อมาวันที่ 22เมษายน 2524 ผู้ร้องตกลงออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีผลใช้บังคับตั้งแต่เดือนเมษายน 2524 ถึงเดือนพฤษภาคม 2525 ต่อมาบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ผิดสัญญาต่อกองทัพบก กองทัพบกได้ยื่นฟ้องบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1และธนาคารทหารไทย จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลชั้นต้นศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยทั้งสองแพ้คดี แต่บริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาธนาคารทหารไทย จำกัด จึงชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่กองทัพบกและทวงถามจากผู้ร้อง ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันจึงได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่ธนาคารทหารไทย จำกัด แล้วใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด แต่บริษัทดังกล่าวถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง ผู้ร้องจึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัดให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคลดังเดิม
พิเคราะห์แล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่ามีเหตุสมควรที่ศาลจะสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6) หรือไม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6) ศาลจะสั่งให้จดชื่อบริษัทกลับคืนเข้าสู่ทะเบียนก็ต่อเมื่อพิจารณาได้ความเป็นที่พอใจว่า ในขณะที่ขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนนั้น บริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือมิฉะนั้นเห็นว่าเป็นการยุติธรรมที่จะให้บริษัทได้กลับคืนขึ้นทะเบียนอีก เพราะฉะนั้นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งดังกล่าวจึงต้องอ้างเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งและต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นตามข้อกล่าวอ้างนั้นด้วย คือ (1) ความจริงขณะที่ถูกขีดออกจากทะเบียนบริษัทยังทำการค้าขายหรือยังประกอบการงานอยู่ หรือ (2) เพื่อความเป็นธรรมควรให้บริษัทกลับคืนขึ้นทะเบียนอีกตามคำร้องขอของผู้ร้องได้กล่าวอ้างว่า ในขณะที่บริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้างนั้นบริษัทดังกล่าวเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องอยู่จึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ อันเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหายเพราะไม่อาจดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้และผู้ร้องนำสืบว่า ผู้ร้องได้ออกหนังสือค้ำประกันบริษัทดังกล่าวต่อธนาคารทหารไทย จำกัด ที่ได้ทำสัญญาไว้กับกองทัพบก ต่อมาบริษัทดังกล่าวผิดสัญญาต่อกองทัพบกและบริษัทดังกล่าวไม่ยอมชำระหนี้ให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันจึงได้ชำระหนี้จำนวน 187,700 บาท พร้อมดอกเบี้ยรวมเป็นเงินทั้งสิ้น290,137.92 บาท ให้แก่ธนาคารทหารไทย จำกัด แทนบริษัทดังกล่าวจะใช้สิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัทดังกล่าว แต่บริษัทดังกล่าวได้ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง ผู้ร้องจึงไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้ จึงได้รับความเสียหาย ฟังได้ว่า ผู้ร้องย่อมไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะผู้ร้องได้ชำระหนี้แทนบริษัทดังกล่าวไปแล้วไม่สามารถจะฟ้องร้องเอาคืนจากบริษัทดังกล่าวได้ เห็นว่า คำร้องขอของผู้ร้องได้กล่าวอ้างและนำสืบได้ว่าผู้ร้องได้รับความเสียหายซึ่งไม่เป็นธรรมแก่ผู้ร้องแล้ว ผู้ร้องย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อให้ศาลสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กลับจดชื่อบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัดให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1246(6) ที่ผู้คัดค้านแก้ฎีกาว่า สัญญาค้ำประกันมีผลสิ้นสุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2525 ผู้ร้องย่อมยกขึ้นต่อสู้ได้ แต่ผู้ร้องก็หาได้ทำเช่นนั้นไม่ ผู้ร้องกลับชำระหนี้ตามอำเภอใจ ผู้ร้องจึงสิ้นสิทธิไล่เบี้ยเอาจากลูกหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 695 นั้น เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้องขอโดยไม่วินิจฉัยปัญหาที่ว่า ผู้ร้องในฐานะผู้ค้ำประกันมีสิทธิไล่เบี้ยเอาจากบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ลูกหนี้หรือไม่ เมื่อผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้คัดค้านชอบที่จะยกปัญหาดังกล่าวตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ แต่ผู้คัดค้านก็มิได้แก้อุทธรณ์ในปัญหาเรื่องนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่ผู้คัดค้านแก้ฎีกาว่า ประเด็นที่ว่าเมื่อศาลเห็นเป็นการยุติธรรมแก่เจ้าหนี้ในการที่จะให้บริษัทดังกล่าวได้กลับคืนขึ้นทะเบียนอีกครั้งหนึ่งนั้นเป็นประเด็นที่ผู้ร้องมิได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่ควรวินิจฉัยให้นั้น เห็นว่า ตามคำร้องขอของผู้ร้องได้กล่าวอ้างแล้วว่าในขณะที่บริษัทดังกล่าวถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง บริษัทดังกล่าวเป็นลูกหนี้ของผู้ร้องจึงเป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่สามารถดำเนินคดีแก่บริษัทดังกล่าวได้และได้รับความเสียหาย ย่อมมีความหมายว่าผู้ร้องไม่ได้รับความเป็นธรรมนั่นเอง จึงมิใช่เรื่องนอกประเด็นแต่อย่างใด ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย”
พิพากษากลับ ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครกลับจดชื่อบริษัทเทพอิเล็คโทรนิคส์ จำกัด ให้คืนสถานะเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1246(6)

Share