คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6601/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรกของผู้ร้องเพราะผู้ร้องไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลย ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับคดีเอาชำระหนี้ได้ ข้อที่ผู้ร้องอ้างเป็นที่สุดไปแล้วเพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับหลังอีกโดยมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรก และไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสืบหาทรัพย์สินของจำเลย เพิ่มเติมอีกเลย นอกจากจำนวนหนี้ที่คำนวณดอกเบี้ย ถึงวันยื่นคำร้องฉบับหลังซึ่งมีจำนวนมากกว่าเดิมเท่านั้น จึงเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดี หรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว แม้เป็นขั้นตอน ชั้นบังคับคดีก็ตาม ก็ต้องห้ามตามมาตรา 144 วรรคแรก

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาโจทก์ขอให้บังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 11862, 10151, 10085 และ 28908 จำเลยที่ 2เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 11862 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 12513/2532ระหว่างบริษัทเงินทุนเอราวัณทรัสต์ จำกัด โจทก์ (ผู้ร้อง)ห้างหุ้นส่วนจำกัดรักษ์เอ็นเตอร์ไพรส์ ที่ 1 นายบุญรักษ์วงศ์พันธุเศรษฐ์ ที่ 2 พลตรีหรือพลโทยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรคที่ 3 จำเลย ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน448,747.90 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับค่าฤชาธรรมเนียมโดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์อีก 16,820.39 บาทกับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ โดยกำหนดค่าทนายความ 600 บาทจำเลยทั้งสามชำระหนี้ให้แก่ผู้ร้องเพียงบางส่วนและค้างชำระเป็นเงิน 858,757.42 บาท แต่จำเลยที่ 2 ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเหลืออยู่อีกที่ผู้ร้องจะบังคับเอาชำระหนี้ได้ จึงขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ขายได้ในคดีนี้ โจทก์คัดค้าน ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2540ให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ใหม่โดยอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 12513/2532 จำเลยทั้งสามในคดีดังกล่าวค้างชำระหนี้ตามคำพิพากษาถึงวันที่ 17 เมษายน 2540เป็นเงิน 914,985.37 บาท จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 11862 ที่โจทก์ยึดทรัพย์ไว้ในคดีนี้ผู้ร้องไม่สามารถบังคับคดีจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 2ได้นอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ยึดไว้ จึงขอให้ผู้ร้องเข้าเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ขาดได้ในคดีนี้
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องมีว่าเมื่อศาลมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรกซึ่งลงวันที่ 11 มิถุนายน 2539 ของผู้ร้องแล้วผู้ร้องมีสิทธิขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับหลังซึ่งลงวันที่ 17 เมษายน 2540 ของผู้ร้องอีกหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 วรรคแรก บัญญัติว่า “เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้วห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วนั้น เว้นแต่กรณีจะอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยฯลฯ”ศาลฎีกาเห็นว่า คำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ของผู้ร้องทั้งสองฉบับดังกล่าวมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกัน ความว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของศาลแพ่งคดีหมายเลขแดงที่ 12513/2532ซึ่งพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยซึ่งคำนวณถึงวันยื่นคำร้องฉบับแรกจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์จำนวน 858,757.42 บาท จำเลยที่ 2 มีทรัพย์สินคือที่ดินโฉนดเลขที่ 11862 ที่โจทก์ยึดทรัพย์ไว้ ผู้ร้องไม่สามารถบังคับคดีเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ได้ นอกจากทรัพย์สินที่โจทก์ยึดไว้ จึงขอเฉลี่ยทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่ขายได้ในคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรกของผู้ร้องเพราะผู้ร้องไม่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2ไม่มีทรัพย์สินอื่นที่ผู้ร้องจะบังคับคดีเอาชำระหนี้ได้ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอเฉลี่ยทรัพย์ ฉะนั้น ข้อที่ผู้ร้องอ้างและมีคำขอต่อศาลดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้ และเป็นที่สุดเพราะไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับหลังอีกโดยมีข้ออ้างและคำขอเช่นเดียวกับคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ฉบับแรกและไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการสืบหาทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพิ่มเติมอีกเลย นอกจากจำนวนหนี้ที่คำนวณดอกเบี้ยถึงวันยื่นคำร้องฉบับหลังแล้วมีจำนวนมากกว่าเดิมเท่านั้น จึงเป็นการขอให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้วซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 144 วรรคแรก แม้เป็นขั้นตอนชั้นบังคับคดีก็ตาม
พิพากษายืน

Share