คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 660/2477

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในกรณีที่เจ้าของที่ดินที่ถูกตัดถนนกับเจ้าพนักงานกำหนดราคาที่ดินไม่ตกลงกันนั้น ฝ่ายใดกำหนดราคาไกลจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ+นั้นต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ +ผู้ชี้ขาด และในกรณีเช่นนี้ถ้าหากผู้ชี้ขาดไม่ได้กำหนดค่าธรรมเนียมไว้ ศาลย่อมมีอำนาจให้ตามพอสมควรได้ อำนาจฟ้อง +เรื่องตั้งอนุญาโตตุลาการ +ผู้ชี้ขาดกำหนดราคาที่ดินเมื่อฝ่ายเจ้าพนักงานต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมเจ้าของดินย่อมมีอำนาจฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมสำหรับอนุญาโตตุลาการแลผู้ชี้ขาดได้ ป.พ.พ.ม.576 จ้างแรงงาน +นอกสัญญาผู้ที่ไม่ใช่คู่สัญญาย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดี อ้างฎีกาที่ 912/2471 ที่ 1150/2468 ที่ 605/123

ย่อยาว

ได้ความว่าที่ดินของโจทก์ถูกตัดถนนตามพระราชกฤษฎีกา จำเลยมีหน้าที่เป็นผู้จัดซื้อ ไม่เป็นที่ตกลงราคากันได้ เพราะโจทก์จะคิดเอาตารางวาละ 240 บาทจำเลยจะคิดให้เพียง 80 บาทเศษ โจทก์จึงตั้งพระยาปรีดา ฯจำเลยตั้งพระยาสัจจาฯเป็นอนุญาโตตุลากร ๆกำหนดราคาที่ดินผิดกันเป็นจำนวนทั้งสิ้น 8515 บาทอนุญาโตตุลาการจึงตั้งให้พระยามโหสถฯเป็นผู้ชี้ขาด ๆ ทำคำชี้ขาดว่าที่ดินของโจทก์ควรให้ราคาตารางวาละ 185 บาทท้ายคำชีขาดว่าให้เจ้าพนักงานผู้รับซื้อเสียค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการแทนโจทก์และค่าธรรมเนียมสำหรรับผู้ชี้ขาดอีก 500 บาท จำเลยไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการแลค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาด โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยโดยโจทก์เสียค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ 2,000 บาท ค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาด 500 บาท
จำเลยต่อสู้ว่า 1.การตั้งอนุญาโตตุลการและผู้ชี้ขาดไม่ได้ให้อำนาจวินิจฉัยถึงค่าธรรมเนียมทั้งสองประการ 2. คำชี้ขาดไม่ได้ระบุค่าธรรมเนียมไว้ โจทก์เรียกเอาตามชอบใจ โจทก์จำเลยควรต่างคนต่างเสีย ค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาดโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลแพ่งว่าผู้ชี้ขาดมีอำนาจเต็มที่ที่จะสั่งให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการและค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาด ส่วนค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นหน้าที่ของโจทก์จะไปขอให้ผู้ชี้ขาดกำหนดมา จะมาฟ้องร้องขอให้ศาลรับภาระแทนผู้ชี้ขาดไม่ได้ และในเรื่องค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาดโจทก์ไม่มีสิทธิจะเอาคดีของผู้ชี้ขาดมาฟ้องแทน ให้ยกฟ้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามความในมาตรา 3. ข้อ 6 ตอน 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาตอนท้ายที่ว่า “ถ้าหากจะมีการใช้จ่ายหรือเสียค่าธรรมเนียมเนื่องในการนี้ฝ่ายใดกำหนดราคาค่าทดแทนไกลจากคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแล้ว ให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้เสีย ถ้าก้ำกึ่งกันให้เสียฝ่ายละกึ่งนั้นใช้ได้ไม่ฉะเพาะกรณีที่ศาลเป็นผู้ตั้งอนุญาโตตุลาการ ส่วนใครจะเป็นผู้กำหนดค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการหาใช่เป็นหน้าที่ของศาลจะวินิจฉัยในชั้นต้นไม่ แลเรื่องค่าธรรมเนียมนี้จำเลยไม่ได้เถียงในจำนวนมากน้อยเป็นแต่เถียงว่าไม่มีหน้าที่จะต้องเสียเลยเป็นการเถียงฝืนพระราชกฤษฎีกาและคำชี้ขาด ซึ่งผู้ชี้ขาดได้กระทำไปตามหน้าที่ไม่เป็นการทำนอกเหนืออำนาจอย่างไร
โจทก์ไมใช่เป็นผู้ตั้งผู้ชี้ขาด เมื่อผู้ชี้ขาดทำหน้าที่เสร็จแล้ว โจทก์ก็ย่อมไม่มีทางที่จะไปขอให้ผู้ชี้ขาดกำหนดค่าธรรมเนียมให้ได้ แต่ตามวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.112 ว่า ค่าธรรมเนียมอนุญาตโตตุลาการถ้ามิได้กำหนดกันมา ศาลกำหนดให้ตามสมควร ม.113 บัญญัติต่อไปว่า อนุญาโตตุลาการที่คู่กรณีตั้งกันเองก็ให้บังคับตามมาตรานี้ด้วยฟ้องของโจทก์ก็ขอให้บังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาตโตตุลาการ ฉะนั้นศาลย่อมกำหนดให้ได้
ค่าธรรมเนียมอนญาโตตุลการนี้โจทก์ควรได้เพียงใดนั้น ควรเทียบตามค่าธรรมเนียมคำชี้ขาด ซึ่งจำเลยไม่คัดค้าน ว่าเป็นการเกินสมควร ค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาดนี้คิดประมาณร้อยละ 6 ของจำนวนเงิน 8,515 บาท ค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการจึงควรให้ร้อยละ 6 ของจำนวนเงิน 20,629 บาท ที่อนุญาโตตุลาการกำหนดผิดกันจึงเป็นเงินประมาณ 1,236 บาท
จำเลยยังเถียงต่อไปว่าตามจดหมายของพระยาปรีดา ฯ ที่ว่าเงินบำเหน็จรางวัสสุดท้ายแล้วแต่โจทก์จะให้นั้น แสดงว่าไม่ใช่ค่าจ้างแรงงานนั้น เห็นว่าค่าจ้างแรงงานตามมาตรา 576 เป็นที่เข้าใจว่าจะต้องให้กัน ถ้าพฤตติการณ์ไม่พึงคาดหมายได้ว่าทำให้เปล่า
คดีนี้โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการและค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาดได้ตามวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.113 ถ้าโจทก์ฟ้องไม่ได้แล้วพระยาปรีดา พระยามโหสถ ฯ ก็ฟ้องไม่ได้เช่นเดียวกัน เพราะเป็นคนนอกสัญญา จึงพิพากษาให้จำเลยใช้เงินค่าธรรมเนียมอนุญาโตตุลาการ 1,236 บาท สำหรับพระยาปรีดาและค่าธรรมเนียมผู้ชี้ขาด 500 บาทสำหรับพระยามโหสถฯ

Share