แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์แต่งตั้งให้ทนายโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันจำเลย ทนายโจทก์ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับจำเลยนั้นเหมาะสม ไม่ได้เสียเปรียบ โดยทนายโจทก์มีอำนาจต่อรองและจะไม่ยอมตกลงก็ได้ ถ้าเห็นว่าโจทก์เสียเปรียบ ทนายโจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ และการดำเนินคดีอย่างรีบด่วนย่อมเป็นผลดีแก่โจทก์อีกด้วย หาใช่เป็นเหตุให้ทนายโจทก์ฉ้อฉลโจทก์แต่อย่างใดไม่ โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำไปโดยทนายโจทก์กับจำเลยฉ้อฉลโจทก์หาได้ไม่
ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35ที่บัญญัติว่า ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ย่อมหมายถึงว่าเมื่อมีการบังคับคดีแล้วจะต้องมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่กฎหมายห้ามยึดหรืออายัด การที่ทนายโจทก์และจำเลยตกลงกันทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าให้จำเลยจัดทำถนนในที่ดินพิพาทโดยจำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ข้อตกลงดังกล่าวหากโจทก์บิดพริ้วจำเลยไม่จำต้องยึดหรืออายัดที่ดินพิพาทเพื่อการบังคับคดีแต่อย่างใด ข้อตกลงของทนายโจทก์กับจำเลยข้อนี้จึงมิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนและศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวแล้ว เมื่อข้ออ้างของโจทก์จึงมิได้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ในอันที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์จึงชอบแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับนั้น ยังไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 151 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 13909 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 5448 และอยู่ติดกับที่ดินของโจทก์ด้านทิศใต้โดยมีทางสาธารณประโยชน์คั่นระหว่างที่ดินของโจทก์จำเลยตามแผนที่สังเขปเอกสารท้ายฟ้อง เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2537 จำเลยกับพวกร่วมกันนำดินมาถมในทางสาธารณประโยชน์และรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ดังกล่าวคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 51 ตารางวา โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยนำดินที่ถมล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ออกไปจากที่ดินของโจทก์แล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยนำดินที่ถมล้ำเข้าไปในที่ดินโฉนดเลขที่ 13909 ของโจทก์ออกไปและห้ามจำเลยกับบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินดังกล่าวของโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวจำเลย ที่ดินพิพาทไม่ใช่ที่ดินในโฉนดที่ดินของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน โจทก์และจำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่า ข้อ 9 จำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 13909 ตำบลสามกอ อำเภอเสนา (เสนากลาง) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (กรุงเก่า) ทางด้านทิศใต้ เนื้อที่ประมาณ 51 ตารางวา เป็นของโจทก์ ข้อ 2 โจทก์และจำเลยตกลงว่าจะไม่ดำเนินการปิดกั้นรั้วหรือปลูกสร้างอาคารใด ๆ ลงในที่ดินตามข้อ 1 หรือวางสิ่งกีดขวางใด ๆ ทั้งสิ้นหรือปลุกต้นไม้ หากโจทก์หรือจำเลยปิดกั้นหรือทำการใด ๆ ดังกล่าวยินยอมให้อีกฝ่ายหนึ่งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวได้ทันที และโจทก์ยินยอมให้จำเลยจัดทำถนนในที่ดินดังกล่าวได้โดยจำเลยจะแจ้งให้โจทก์ทราบ ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม
โจทก์อุทธรณ์ว่า ทนายโจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ตรงกับเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ เป็นการยกที่ดินของโจทก์ให้จำเลยทำถนนโดยไม่ต้องเสียค่าตอบแทนใด ๆ จึงเป็นการสมยอมกับจำเลยฉ้อฉลโจทก์ และเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคหนึ่ง ขอให้ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นและพิจารณาคดีนี้ใหม่
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า คดีโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาเช่นว่านี้เว้นแต่ในเหตุต่อไปนี้ (1) เมื่อมีข้อกล่าวอ้างว่าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฉ้อฉล (2) เมื่อคำพิพากษานั้นถูกกล่าวอ้างว่าเป็นการละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนโจทก์ฎีกาประการแรกว่า สัญญาประนีประนอมฉบับดังกล่าว ทนายโจทก์กับจำเลยร่วมกับฉ้อฉลโจทก์ เพราะดำเนินการกันอย่างรวดเร็วและมิได้แจ้งให้ตัวโจทก์ทราบ เห็นว่า โจทก์แต่งตั้งให้ทนายโจทก์มีอำนาจทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยทนายโจทก์ย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ขณะทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลว่าข้อความที่ตกลงกับจำเลยนั้นเหมาะสม ไม่ได้เสียเปรียบ โดยทนายโจทก์มีอำนาจต่อรองและจะไม่ยอมตกลงก็ได้ถ้าเห็นว่าโจทก์เสียเปรียบทนายโจทก์ไม่มีความจำเป็นต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ และการดำเนินคดีอย่างรีบด่วนย่อเป็นผลดีแก่โจทก์อีกด้วย หาใช่เป็นเหตุให้ทนายโจทก์ฉ้อฉลโจทก์แต่อย่างใดไม่ ดังนั้น โจทก์จะอ้างว่าเป็นการทำไปโดยทนายโจทก์กับจำเลยฉ้อฉลโจทก์หาได้ไม่ ที่โจทก์ฎีกาอีกข้อว่า ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 มาตรา 35 นั้นเห็นว่า ตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า”ที่วัด ที่ธรณีสงฆ์และที่ศาสนสมบัติกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ย่อมหมายถึงว่าเมื่อมีการบังคับคดีแล้วจะต้องมีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่กฎหมายห้ามยึดหรืออายัดการที่ทนายโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าให้จำเลยจัดทำถนนในที่ดินพิพาทโดยจำเลยต้องแจ้งให้โจทก์ทราบ ข้อตกลงดังกล่าวหากโจทก์บิดพริ้วจำเลยไม่จำเลยไม่จำต้องยึดหรืออายัดที่ดินพิพาทเพื่อการบังคับคดีแต่อย่างใด ข้อตกลงของทนายโจทก์กับจำเลยข้อนี้จึงมิได้ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนข้ออ้างของโจทก์ทุกข้อจึงมิได้เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง ในอันที่โจทก์จะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์มานั้นชอบแล้ว แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับนั้น ยังไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 151 ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษายืน เว้นแต่ค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ให้คืนแก่โจทก์ทั้งหมดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ