คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 66/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

บริษัทโจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจให้ จ. และอ.ลงชื่อในสัญญาเช่าซื้อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อแทนโจทก์จ. และ อ.กระทำการแทนโจทก์ได้โดยไม่ต้องระบุในสัญญาเช่าซื้ออีกว่าโจทก์มอบอำนาจให้ จ. และ อ. กระทำการแทน เมื่อรถยนต์ที่จำเลยเช่าซื้อได้รับความเสียหาย โจทก์ย่อม มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าซ่อมรถยนต์จากจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีการซ่อมรถยนต์ดังกล่าวเสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2529 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์ 1 คัน เป็นเงิน 139,730 บาท ตกลงชำระเป็น36 งวด มีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 ซึ่งจะต้องชำระในวันที่ 20 ตุลาคม2529 ตามสัญญาเช่าซื้อถือว่าสัญญาเลิกกัน โดยมิพักต้องบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยโดยพลัน ตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2529 แต่จำเลยที่ 1ไม่ยอมส่งมอบรถยนต์คืนให้แก่โจทก์ เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2530โจทก์จึงยึดรถยนต์คืนมาได้รถยนต์ได้รับความเสียหายมากช่างประเมินค่าซ่อมเป็นเงิน 54,654 บาท การที่จำเลยไม่ยอมคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ขาดประโยชน์ที่ควรจะได้ซึ่งโจทก์อาจนำรถยนต์ออกให้เช่า จะได้ค่าเช่าไม่ต่ำกว่าเดือนละ2,000 บาท เป็นเวลา 7 เดือนเศษโจทก์ขอคิดค่าเสียหาย14,000 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน68,654 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 68,654 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆเพราะจำเลยที่ 1 ได้ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อพร้อมทั้งค่าเสียหายจนเป็นที่พอใจแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าเสียหาย47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสามจะชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้วเสร็จจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2หลายประการ เห็นสมควรวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4เสียก่อนว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวหรือไม่ และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวกับโจทก์หรือไม่ โจทก์มีนายชั้น พูนทวี ผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 เป็นของโจทก์และจำเลยที่ 1ทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวกับโจทก์ โดยโจทก์ได้มอบอำนาจให้นางจงกลณี เขมะชิต และนายอุดม เตรียมดำรงค์ ร่วมกันลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ส่วนจำเลยที่ 2 มีจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 จริง แต่ทำกับบริษัทกลการ จำกัด ไม่ได้ทำกับโจทก์ และจำเลยที่ 2 มีภาพถ่ายใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.3 เป็นพยานว่าเป็นใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ เห็นว่า ด้านหลังภาพถ่ายใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.3 มีรายการชื่อเจ้าของรถยนต์โดยระบุชื่อไว้ 2 อันดับ อันดับที่ 1 นายสุวิทย์ ลักษณาทรัพย์ เป็นเจ้าของและอันดับที่ 2 โจทก์เป็นเจ้าของ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของอันดับหลังแล้วนายสุวิทย์จึงไม่ใช่เป็นเจ้าของรถยนต์คันดังกล่าวอีกต่อไปดังนั้นที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า นายสุวิทย์เป็นเจ้าของรถยนต์ตามภาพถ่ายใบอนุญาตทะเบียนรถยนต์เอกสารหมาย ล.3 จึงฟังไม่ขึ้นข้อเท็จจริงฟังตามพยานโจทก์ได้ว่าโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อดังกล่าว เมื่อสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4ระบุว่าโจทก์เป็นผู้ให้เช่าซื้อและลายมือชื่อในช่องเจ้าของผู้ให้เช่าซื้อหรือมอบอำนาจก็เป็นลายมือชื่อของนางจงกลณีและนายอุดมผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ร่วมกันลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าซื้อแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อดังกล่าวกับโจทก์โดยนางจงกลณีและนายอุดมผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ลงในฐานะผู้ให้เช่าซื้อแทนโจทก์ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่านายประทีป มหัตธนานันท์ ผู้จัดการบริษัทกลการ จำกัดสาขานครปฐม เป็นผู้ลงลายมือชื่อในฐานะผู้ให้เช่าซื้อ จึงฟังไม่ขึ้นและแม้สัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 จะไม่มีข้อความระบุว่าให้นางจงกลณีและนายอุดมลงลายมือชื่อแทนโจทก์ก็หาทำให้มีผลเป็นว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไว้ไม่
มีปัญหาตามฎีกาจำเลยที่ 2 ต่อไปว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้เพราะโจทก์ไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อเสียก่อนหรือไม่ โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือไม่ และดอกเบี้ยตามฟ้องโจทก์ตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า เมื่อจำเลยที่ 1 รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.4 แล้วก็ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 2 ซึ่งต้องชำระในวันที่ 20 ตุลาคม 2529 เป็นต้นมาต่อมาวันที่ 3 มิถุนายน 2530 โจทก์ได้รถยนต์ที่เช่าซื้อคืนมาจากสถานีตำรวจภูธร อำเภอเมืองสมุทรสาคร เนื่องจากจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันอื่นและถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อไว้ ขณะนั้นรถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.8 ถึง จ.15 พิเคราะห์แล้วตามสัญญาเช่าซื้อข้อ 8 กำหนดข้อตกลงในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดใดงวดหนึ่งไว้ว่า ถือว่าสัญญาเช่าซื้อเลิกกันโดยมิพักต้องบอกกล่าวก่อนและจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ต้องส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้แก่โจทก์ในสภาพที่เรียบร้อยโดยพลัน ดังนั้นสัญญาเช่าซื้อรายนี้จึงเลิกกันตามข้อกำหนดของสัญญาดังกล่าวแล้ว โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวเลิกสัญญาแต่อย่างใดอีก เมื่อปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อได้รับความเสียหายตามภาพถ่ายหมาย จ.8ถึง จ.15 และโจทก์มีนายสมทรง ปั้นทอง นายช่างประเมินค่าซ่อมของรถยนต์ของโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า พยานได้ประเมินค่าซ่อมรถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นเงิน 54,654 บาท ตามรายการประเมินค่าซ่อมเอกสารหมาย จ.16 จำเลยที่ 2 มิได้นำสืบแก้พยานหลักฐานโจทก์ดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายในส่วนที่เป็นค่าซ่อมรถยนต์ดังกล่าวได้โดยไม่จำต้องมีการซ่อมรถยนต์ดังกล่าวเสียก่อนดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไว้ไม่”
พิพากษายืน

Share