คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6598/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.อ. มาตรา 91 มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ จริงอยู่ถ้ากระทำความผิดต่างวาระกัน จะต้องกระทำความผิดหลายกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า ในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันจะเป็นความผิดหลายกรรมไม่ได้
ในทันทีที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิสำเร็จแล้ว เพราะโดยสภาพของการกระทำจำเลยต้องแก้ไขจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีดังกล่าวทีละฉบับ การกระทำของจำเลยแยกออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม เมื่อจำเลยนำใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้กระแสไฟฟ้าแต่ละราย จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นความผิดหลายกรรม แต่จำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าวแล้วใช้เอกสารปลอมที่จำเลยปลอมขึ้น จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมในแต่ละกระทงตาม ป.อ. มาตรา 268 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๘, ๙๑
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕, ๒๖๘ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก (ที่ถูกมาตรา ๒๖๕ และมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ ตามมาตรา ๒๖๘ วรรคสอง) ความผิดที่จำเลยกระทำเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ ให้จำคุกกระทงละ ๖ เดือน รวม ๓๙ กระทง รวมเป็นจำคุก ๒๓๔ เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๑๑๗ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๕ กระทงหนึ่ง และมีความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ อีกกระทงหนึ่ง ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคแรก ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๕ แต่กระทงเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง จำคุก ๖ เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ เดือน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๑ บัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรม มิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมนั้นจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ จริงอยู่ถ้ากระทำความผิดต่างวาระกัน จะต้องกระทำความผิดหลายกรรม แต่ไม่ได้หมายความว่า ในวันเดียวกันหรือวาระเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันจะเป็นความผิดหลายกรรมไม่ได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์บรรยายไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยแยกกระทงเรียงเป็นลำดับข้อรวม ๓๙ กระทง มีใจความว่า จำเลยได้ปลอมใบเสร็จรับเงินค่าไฟฟ้าและใบกำกับภาษีของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอันเป็นเอกสารสิทธิด้วยการแก้ไขตัวเลขจำนวนเงินค่าใช้กระแสไฟฟ้าที่แท้จริงให้เพิ่มขึ้นจำนวน ๓๙ ฉบับ ซึ่งใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีที่ปลอมดังกล่าวเป็นผู้ใช้กระแสไฟฟ้าต่างรายกัน แล้วจำเลยใช้เอกสารที่ทำปลอมขึ้นทั้งหมดไปเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้กระแสไฟฟ้าทั้ง ๓๙ ราย เป็นเหตุให้ผู้ใช้กระแสไฟฟ้าทั้ง ๓๙ ราย หลงเชื่อจึงยอมจ่ายเงินตามจำนวนที่จำเลยทำปลอมขึ้นให้แก่จำเลย แล้วจำเลยนำเงินส่วนที่เกินจากค่ากระแสไฟฟ้าที่แท้จริงที่รับมานำไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนของจำเลยโดยทุจริต แม้ตามฟ้องโจทก์บรรยายว่า จำเลยกระทำความผิดระหว่างวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๒ เวลากลางวัน ถึงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๔๒ เวลากลางวัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด โดยไม่ได้ระบุว่าการกระทำผิดฐานใดกระทำในวันเวลาใดก็ตาม ในทันทีที่จำเลยปลอมใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีฉบับหนึ่งก็เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิสำเร็จแล้ว เพราะโดยสภาพของการกระทำจำเลยต้องแก้ไขจำนวนเงินในใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีดังกล่าวทีละฉบับ การกระทำของจำเลยแยกออกจากกันได้ จึงเป็นความผิดหลายกรรม รวม ๓๙ กระทง เมื่อจำเลยนำใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้กระแสไฟฟ้าทั้ง ๓๙ ราย จึงเป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมซึ่งเป็นความผิดหลายกรรมรวม ๓๙ กระทง เช่นกัน แต่เมื่อจำเลยเป็นผู้ปลอมเอกสารสิทธิดังกล่าวแล้วใช้เอกสารปลอมที่จำเลยปลอมขึ้น จึงต้องลงโทษฐานใช้เอกสารสิทธิปลอมในแต่ละกระทงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง รวม ๓๙ กระทง ศาลชั้นต้นพิพากษาชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ เห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ และลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๘ วรรคสอง เพียงกระทงเดียว ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share