คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4712/2540

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์ทั้งสองไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ประทับฟ้อง

ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว เพราะจำเลยหลบหนีและให้ออกหมายจับจำเลยเพื่อนำตัวมาพิจารณาต่อไป ครั้นวันที่ 27 ธันวาคม 2538 จำเลยยื่นคำร้องว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองยื่นฟ้องจำเลยฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยโจทก์ทั้งสองบรรยายวันเวลาในการกระทำความผิดของจำเลยในคำฟ้องข้อ 2 ว่า “เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2533 เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กองพิทักษ์ทรัพย์ (บังคับคดีล้มละลาย 1) กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม…” และจากคำให้การพยานโจทก์ทั้งสองในชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ระบุวันที่จำเลยให้การต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าวันที่ 20 ธันวาคม 2533 เช่นเดียวกันดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่า วันที่โจทก์ทั้งสองอ้างว่า จำเลยกระทำความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานคือวันที่ 20 ธันวาคม 2533 โจทก์ทั้งสองจะต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยมายังศาลภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันกระทำความผิดวันที่ 20 ธันวาคม2533 เป็นต้นไป คือโจทก์ทั้งสองต้องฟ้องและได้ตัวจำเลยมาศาลภายในวันที่ 20 ธันวาคม2538 แต่โจทก์ทั้งสองยังไม่ได้ตัวจำเลยมาศาลภายในวันที่ 20 ธันวาคม 2538 คดีของโจทก์ทั้งสองจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงเป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 ขอให้จำหน่ายคดีและเพิกถอนหมายจับจำเลย

โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องคัดค้านว่า คดีโจทก์ทั้งสองยังไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 เพราะโจทก์ทั้งสองได้ฟ้องจำเลยภายในอายุความศาลได้ทำการไต่สวนและมีคำสั่งถึงที่สุดว่าคดีมีมูล และได้ออกหมายจับจำเลย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ทั้งสองยังไม่ระงับไป เนื่องจากอายุความได้สะดุดหยุดอยู่นับตั้งแต่วันฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีโจทก์ทั้งสองขาดอายุความ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความเมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ย่อมมีผลเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 17)พ.ศ. 2532 ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสอง จึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”

พิพากษายกฎีกาโจทก์ทั้งสอง

Share