แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ประกันตัวโดยตีราคาประกัน 100,000 บาท เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล โดยผู้ประกันอ้างว่า จำเลยที่ 1 ถูกกลุ่มบุคคลจับตัวไปจากบ้านพัก ศาลชั้นต้นไม่เชื่อข้ออ้างของผู้ประกัน ได้ออกหมายจับและปรับนายประกัน ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ประกันผ่อนชำระค่าปรับเดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมถึงที่สุดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 119
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 ในวันที่ 6 ธันวาคม 2544 อันเป็นวันฟ้อง ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ปล่อยจำเลยที่ 1 ชั่วคราว ศาลชั้นต้นอนุญาตโดยตีราคาหลักประกัน 100,000 บาท ครั้นวันที่ 18 มีนาคม 2544 อันเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยที่ 1 ไม่มาศาลและผู้ประกันยื่นคำร้องขอผัดส่งตัวจำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 1 ถูกกลุ่มบุคคล 7 ถึง 8 คน ร่วมกันจับตัวไปจากบ้านพัก ศาลชั้นต้นไม่เชื่อข้ออ้างจึงออกหมายจับจำเลยที่ 1 และปรับผู้ประกันเต็มตามสัญญา ต่อมาวันที่ 3 เมษายน 2546 ผู้ประกันยื่นคำร้องขอให้ลดค่าปรับและขอผ่อนชำระค่าปรับเดือนละ 1,000 บาท
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ประกันอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ประกันผ่อนชำระค่าปรับเดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ประกันฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ประกันตัวโดยตีราคาประกัน 100,000 บาท เมื่อถึงวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกจำเลยที่ 1 ไม่มาศาล โดยผู้ประกันอ้างว่าจำเลยที่ 1 ถูกกลุ่มบุคคล 7 ถึง 8 คน จับตัวไปจากบ้านพัก ศาลชั้นต้นไม่เชื่อข้ออ้างของผู้ประกัน ได้ออกหมายจับและปรับนายประกันเต็มตามสัญญาค้ำประกัน ผู้ประกันยื่นคำร้องขอลดค่าปรับ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ประกันจำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาแก้เป็นว่า อนุญาตให้ผู้ประกันผ่อนชำระค่าปรับเดือนละไม่น้อยกว่า 2,500 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ดังนี้ คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ย่อมถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 119 ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของผู้ประกันจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษาให้ยกฎีกาผู้ประกัน.