คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6565/2544

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ให้ฟ้องคดีแทนทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งได้มีการรับรองว่าได้จัดทำกันขึ้นจริงโดยทนายความโนตารีปับลิกผู้ได้รับอนุญาตแห่งสำนักทนายความซึ่งได้รับอนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้ทำหน้าที่โนตารีปับลิกแล้ว จึงแสดงว่าหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยชอบ ดังนั้น แม้จะได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยก็ย่อมถือได้ว่าเป็นตราสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ กรณีไม่จำเป็นต้องอยู่ในบังคับที่ให้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ
คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างโจทก์และจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำการใดให้โจทก์ต้องเสียหายพร้อมคำขอให้บังคับจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์พอที่จำเลยจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้เท่านั้นส่วนการที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเหมาระวางเรือข้อใด สินค้าสูญหายหรือเสียหายเท่าใด คิดเป็นเงินเท่าใดโจทก์ชดใช้เงินให้ผู้รับตราส่งไปแล้วเท่าใดและได้ชำระเมื่อใดนั้นมิได้เป็นสาระที่จะเป็นเหตุทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใดเพราะโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือแต่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ
แม้อนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยก็ตามแต่ก็เป็นคนละส่วนกับคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่อ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ซึ่งถึงที่สุดไปแล้วตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายให้โจทก์(TheDefendants’paythePlaintiffs’costsinanyevent)คำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์จึงเป็นมูลหนี้ และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วยกคำร้องของจำเลย โดยจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ไม่มีอำนาจพิจารณาหรือดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างไรหรือไม่ ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ซึ่งต้องรวมค่าใช้จ่ายที่โนตารีปับลิกรับรองเอกสารในการส่งคำสั่งศาลให้แก่จำเลยด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โจทก์และจำเลยเป็นบุคคลอยู่ในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์ค ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 จำเลยทำสัญญาเช่าเหมาระวางเรือเดินทะเล ชื่อ “เจียน จิน” ซึ่งอยู่ในความครอบครองของโจทก์ในขณะนั้นเพื่อใช้ขนสินค้าตกลงว่าหากเกิดข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งระหว่างคู่สัญญาให้เสนอข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งต่ออนุญาโตตุลาการโดยให้กำหนดและกระทำขึ้นที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ และใช้กฎหมายและหลักปฏิบัติของประเทศอังกฤษบังคับ เมื่อเรือ “เจียน จิน” เดินทางถึงท่าปลายทาง ปรากฏว่าสินค้าข้าวสูญหายไปจำนวนหนึ่ง สินค้าขาดน้ำหนักและเปียกชื้น ศาลเมืองดาการ์พิพากษาให้โจทก์ซึ่งรวมถึงบริษัทโคเรีย แอสเสท เมเนจเม้นท์จำกัด เจ้าของเรือ รับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่ง บริษัทดังกล่าวได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่ง โจทก์ซึ่งต้องรับผิดต่อเจ้าของเรือตามข้อตกลงที่ทำไว้ได้ชดใช้ค่าเสียหายที่โจทก์ต้องรับผิดต่อบริษัทดังกล่าวแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่าความเสียหายเกิดจากการขนถ่ายและการจัดเก็บที่ผิดพลาด จำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้นตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ โจทก์และจำเลยได้นำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษตัดสินชี้ขาดในระหว่างการดำเนินกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการในชั้นแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการของแต่ละฝ่าย จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ประเทศอังกฤษให้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นว่า โจทก์ได้ออกหมายเรียกเพื่อประโยชน์ในการใช้มาตรา 27 ของพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการค.ศ. 1950 (Arbitration Act 1950) ของประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการแต่งตั้งอนุญาโตตุลาการโดยส่งหมายเรียกดังกล่าวออกนอกเขตศาลในประเทศอังกฤษมาให้จำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาในประเทศไทย โดยโจทก์มอบหมายให้ตัวแทนโจทก์ในประเทศไทยเป็นผู้ส่งให้แก่จำเลยด้วยตนเองซึ่งจำเลยถือว่าเป็นการส่งหมายเรียกโดยไม่ชอบและไม่ถูกต้องตามกฎหมายไทย ต่อมาศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษได้วินิจฉัยคำร้องของจำเลยและมีคำสั่ง เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2536ว่าการส่งหมายเรียกของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายและให้ยกคำร้องของจำเลย กับสั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความในชั้นศาลแทนโจทก์ ส่วนกระบวนพิจารณาของอนุญาโตตุลาการของประเทศอังกฤษในประเด็นพิพาทโดยตรงยังคงดำเนินต่อไปจำเลยจึงมีหน้าที่ต้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความในชั้นศาลต่อโจทก์ที่จำเลยต้องรับผิด คือค่าใช้จ่ายที่ศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษกำหนด 10,962.37 ปอนด์สเตอร์ลิงหรือ 432,355.87 บาท ค่าใช้จ่ายในการรับรองเอกสาร 1,030.70ดอลลาร์สหรัฐ กับ 227.50 ปอนด์สเตอร์ลิง คิดเป็นเงินไทยรวม35,410.06 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 467,765.93 บาท(อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.65 บาท และ1 ปอนด์สเตอร์ลิง เท่ากับ 39.44 บาท) พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 มกราคม 2536 อันเป็นวันที่ศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ มีคำสั่งถึงวันฟ้องรวม 3 ปี กับ 183 วัน คิดเป็นเงิน 122,836.61 บาท รวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 590,602.54 บาท ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวน 590,602.54บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 467,765.93 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า นายไอ.ที.ลี. ไม่มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นายรัฐการ บุญเหนือ ดำเนินคดีแทน ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม จำเลยไม่เคยตกลงให้นำข้อพิพาทหรือข้อขัดแย้งใด ๆ ระหว่างคู่สัญญาเสนอต่ออนุญาโตตุลาการที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ข้าวสารที่โจทก์ขนส่งไม่ได้สูญหายหรือเสียหายหรือเปียกชื้นตามที่โจทก์อ้าง หากศาลเมืองดาการ์มีคำสั่งให้จำเลยชำระหนี้จริง กระบวนพิจารณาของศาลไม่ชอบและไม่อาจอ้างมายันหรือบังคับใช้กับจำเลยได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ตามฟ้องเพราะอนุญาโตตุลาการยังดำเนินกระบวนพิจารณาในประเด็นพิพาทโดยตรงต่อไป ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเพราะมิได้บรรยายว่าจำเลยผิดสัญญาเช่าเหมาระวางเรือในข้อไหนอย่างไร สินค้าสูญหายหรือเสียหายจำนวนเท่าใด โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้รับตราส่งเป็นเงินเท่าใดและชำระไปเมื่อไร ทำให้จำเลยไม่อาจเข้าใจและต่อสู้คดีได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 467,765.93บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มกราคม2536 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เฉพาะดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องมิให้เกินจำนวน 122,836.61 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่โจทก์และจำเลยมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและมีภูมิลำเนาอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี โจทก์ทำหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.3 ให้นายรัฐการ บุญเหนือ ฟ้องจำเลยแทนเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2532 จำเลยทำสัญญาเช่าเหมาระวางเรือเดินทะเลชื่อ “เจียน จิน” จากโจทก์ เพื่อให้บรรทุกข้าวสารบรรจุกระสอบจากท่าเรือเกาะสีชังไปยังท่าเรือปลายทางเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัลตามเอกสารหมาย จ.5 ต่อมาผู้รับตราส่งที่ประเทศเซเนกัลฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์และบริษัทโคเรีย แอสเสท เมเนจเม้นท์ จำกัดให้รับผิดที่สินค้าข้าวสารเสียหายระหว่างขนส่ง ซึ่งศาลเมืองดาการ์ประเทศเซเนกัล ให้โจทก์และบริษัทโคเรีย แอสเสท เมเนจเม้นท์ จำกัด รับผิดใช้ค่าเสียหายโจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดเนื่องจากมิได้เป็นผู้รับขน จึงเรียกร้องให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย แต่จำเลยปฏิเสธโจทก์จึงเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการที่นครลอนดอน ประเทศอังกฤษวินิจฉัยตามข้อกำหนดในเอกสารหมาย จ.5 ระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าว จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ (The High Court of Justice Queen”sBench Division Commercial Court) ว่า โจทก์ส่งหมายเรียกให้จำเลยเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวนั้นไม่ชอบ ซึ่งศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ประเทศอังกฤษไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.8

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 นั้น แม้จะทำในต่างประเทศก็ตามแต่เมื่อนำมาใช้ในประเทศไทยก็ต้องปิดอากรแสตมป์ด้วย เพราะหนังสือมอบอำนาจที่ทำในประเทศไทยยังต้องปิดอากรแสตมป์ทั้งตามประมวลรัษฎากรฯ ไม่มีข้อยกเว้นว่าหนังสือมอบอำนาจที่ทำในต่างประเทศแล้วนำมาใช้ในประเทศไทย ไม่จำต้องปิดอากรแสตมป์ การที่โจทก์ไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องตามกฎหมายดังกล่าว โจทก์ย่อมไม่สามารถอ้างเป็นพยานในศาลได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า แม้หนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ที่โจทก์ให้นายรัฐการ บุญเหนือ ฟ้องคดีนี้แทนไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ตามอัตราในบัญชีท้ายประมวลรัษฎากรก็ตาม แต่ปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 โจทก์ทำขึ้นที่ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ได้มีการรับรองว่าได้จัดทำกันขึ้นจริงโดยทนายความโนตารีปับลิกผู้ได้รับอนุญาตแห่งสำนักทนายความลีแอนด์โกซึ่งเป็นสำนักงานที่ได้รับอนุญาตจากกระทรวงยุติธรรมของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีให้ทำหน้าที่โนตารีปับลิกแล้ว จึงแสดงว่าหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ได้ทำขึ้นถูกต้องตามบทบัญญัติกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐเกาหลีโดยชอบ ดังนั้น แม้จะได้นำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมาใช้ในประเทศไทยก็ย่อมถือได้ว่าเป็นตราสารที่รับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ กรณีไม่จำเป็นต้องอยู่ในบังคับที่ให้ปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรอีกดังเช่นที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยชอบแล้ว นายรัฐการบุญเหนือ จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้

ที่จำเลยฎีกาประการที่สองในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้นเห็นว่า คำฟ้องเป็นเพียงการสรุปข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเพื่อให้เห็นถึงความเกี่ยวพันกันระหว่างโจทก์และจำเลยตามที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยได้กระทำการใดให้โจทก์ต้องเสียหายพร้อมคำขอให้บังคับจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์พอที่จำเลยจะเข้าใจและต่อสู้คดีได้เท่านั้นการที่โจทก์บรรยายคำฟ้องว่าจำเลยเช่าเหมาระวางเรือจากโจทก์ไปขนข้าวสารที่ท่าเรือเกาะสีชังไปส่งที่ประเทศเซเนกัล แต่มีข้าวสารบางส่วนเสียหาย ผู้รับตราส่งจึงฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์กับพวกศาลเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัลพิพากษาให้โจทก์กับพวกต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายซึ่งโจทก์ได้ชำระค่าเสียหายไปแล้ว โจทก์เห็นว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งตามสัญญาที่ทำกับจำเลย จึงได้ทวงถามให้จำเลยชดใช้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยปฏิเสธ โจทก์จำเลยไปยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ประเทศอังกฤษ ตามข้อตกลงในสัญญาเช่าเหมาระวางเรือ ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการดังกล่าวจำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษให้ชี้ขาดว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการประเทศอังกฤษให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ แต่ศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้วให้จำเลยใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้แก่โจทก์ โจทก์จึงได้ทวงถามค่าใช้จ่ายตามคำสั่งศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษจากจำเลย แต่จำเลยเพิกเฉย และขอให้ศาลบังคับจำเลยชำระหนี้ส่วนนี้ให้แก่โจทก์นั้นเป็นคำฟ้องที่โจทก์แสดงให้เห็นโดยแจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหารวมทั้งข้อที่โจทก์อ้างอาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์พร้อมทั้งมีคำขอให้บังคับจำเลยชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ส่วนการที่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องถึงการที่จำเลยผิดสัญญาเช่าเหมาระวางเรือข้อใดสินค้าสูญหายหรือเสียหายเท่าใด คิดเป็นเงินเท่าใด โจทก์ชดใช้เงินให้ผู้รับตราส่งไปแล้วเท่าใด และได้ชำระเมื่อใดดังเช่นที่จำเลยฎีกานั้นก็มิได้เป็นสาระที่จะเป็นเหตุทำให้ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใดเพราะโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือเกี่ยวกับการที่โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้รับตราส่งตามคำพิพากษาของศาลเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล ซึ่งข้อพิพาทดังกล่าวโจทก์ได้เสนอต่ออนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษให้พิจารณาตามข้อตกลงในสัญญาเช่าเหมาระวางเรือแล้ว แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายต่าง ๆ ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้แก่จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบซึ่งเป็นคนละกรณีกัน การที่โจทก์บรรยายไว้ดังเช่นที่จำเลยฎีกานั้น คงเป็นเพียงการอ้างให้เห็นความเกี่ยวพันถึงเหตุที่มาที่โจทก์อาศัยเป็นหลักในการกล่าวหาจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ว่า จำเลยไม่ชำระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ประเทศอังกฤษ เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นการยากที่จำเลยจะเข้าใจคำฟ้องและต่อสู้คดีได้แต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมนั้นชอบแล้ว

ที่จำเลยฎีกาประการที่สามว่า จำเลยได้อุทธรณ์เกี่ยวกับกรณีที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้อยู่ในประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกแห่งอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการยอมรับนับถือและการใช้บังคับคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการต่างประเทศฉบับนครนิวยอร์คลงวันที่ 10 มิถุนายน 2501 และที่ว่า สินค้าข้าวสารไม่ได้สูญหายหรือเสียหายดังโจทก์ฟ้อง จำเลยไม่เคยผิดสัญญา จำเลยไม่เคยถูกฟ้องที่ศาลเมืองดาการ์ ประเทศเซเนกัล จำเลยไม่เคยได้รับการบอกกล่าวทวงถาม ไม่เคยรับหมายเรียกของศาลดังที่โจทก์อ้าง อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ แต่ศาลอุทธรณ์มิได้วินิจฉัยถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งทางนำสืบของโจทก์มิได้ความดังฟ้องจึงควรที่จะยกฟ้องนั้นเห็นว่า คดีเรื่องนี้โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยรับผิดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามสัญญาเช่าเหมาระวางเรือแต่อย่างใด แต่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระค่าใช้จ่ายในกรณีที่จำเลยยื่นคำร้องต่อศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษให้มีคำสั่งในกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบ ดังวินิจฉัยมาแต่ต้นแล้ว ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยขอให้บังคับจำเลยรับผิดชำระหนี้ให้โจทก์ตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2530 หมวด 6 ว่าด้วยการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการต่างประเทศ ดังนั้นคดีเรื่องนี้จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้วินิจฉัยทั้งสองกรณี รวมตลอดเรื่องความถูกต้องของสัญญาเช่าเหมาระวางเรือตามที่จำเลยฎีกาแต่อย่างใดการที่ศาลล่างทั้งสองไม่หยิบยกข้ออ้างตามฎีกาของจำเลยขึ้นวินิจฉัยนั้นเป็นการชอบแล้ว

ที่จำเลยฎีกาประการสุดท้ายเกี่ยวกับที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามฟ้องเป็นการไม่ชอบว่า แม้ศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ จะมีคำสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียม และค่าทนายความแทนโจทก์ก็ตาม แต่เนื่องจากอนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังมิได้พิจารณาชี้ขาดตามเอกสารหมาย จ.6 ว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิด เมื่อคดียังไม่ถึงที่สุดโจทก์จึงยังไม่มีสิทธิเรียกค่าทนายความและค่าฤชาธรรมเนียมที่ศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษให้จำเลยชำระ เพราะอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ส่วนค่าใช้จ่ายของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.10 ก็ไม่สามารถเรียกร้องเอาจากจำเลยได้เพราะเป็นค่ารับรองเอกสารที่โจทก์ให้โนตารีปับลิกรับรองเองเพื่อนำเอกสารมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ซึ่งศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ มิได้วินิจฉัยให้จำเลยชำระเงินส่วนนี้นั้น เห็นว่าแม้อนุญาโตตุลาการ ณ นครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ยังไม่มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยก็ตาม แต่ก็เป็นคนละส่วนกับคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษเกี่ยวกับคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า โจทก์ส่งหมายเรียกเกี่ยวกับการพิพาทกันในชั้นอนุญาโตตุลาการดังกล่าวให้จำเลยในประเทศไทยโดยมิชอบซึ่งถึงที่สุดไปแล้ว ตามคำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ กำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าใช้จ่ายให้โจทก์ (The Defendants’pay the Plaintiffs’ costs in any event) ตามเอกสารหมาย จ.8คำสั่งของศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ เองจึงเป็นมูลหนี้และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ได้ดำเนินกระบวนพิจารณาแล้วยกคำร้องของจำเลย โดยจำเลยมิได้ต่อสู้ว่าศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษไม่มีอำนาจพิจารณา หรือดำเนินกระบวนพิจารณาขัดต่อกฎหมายหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนอย่างไรหรือไม่ ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดค่าใช้จ่ายที่โจทก์ได้จ่ายไปในการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลสูงแผนกคดีพาณิชย์ ประเทศอังกฤษ ตามเอกสารหมาย จ.9ซึ่งต้องรวมค่าใช้จ่ายที่โนตารีปับลิกรับรองเอกสารในการส่งคำสั่งศาลให้แก่จำเลยด้วย ตามเอกสารหมาย จ.10 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จำเลยรับผิดชำระเงินให้โจทก์ตามฟ้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกประการฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share