คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6564/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ของโจทก์ต้องห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87,90เดิมเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่จำต้องส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานนัดแรกไม่ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับวินิจฉัยว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอระบุพยานเพิ่มเติม อ้างว่าหลงลืมพลั้งเผลอโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำหนังสือเช่ามาสืบและโจทก์ไม่ทราบว่าหนังสือเช่านั้นมีอยู่ กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติม คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2ในส่วนนี้ เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคำอุทธรณ์ และเป็นการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 มาตรา 3 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มิได้ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 มาตรา 2 จึงเป็นการนำกฎหมายที่บังคับใช้ภายหลังมาใช้บังคับย้อนหลังต่อกระบวนพิจารณาที่ล่วงเลยมาแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยต่อไปว่า แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตและโจทก์อ้างเอกสารที่ระบุพยานเพิ่มเติมเป็นพยานแล้ว ก็ย่อมต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87,90 นั้นก็หาได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่าไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เดิม อย่างไร ไม่ได้อ้างบทบัญญัติของกฎหมาย และแปลความหมายของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เดิม ไว้ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(4) ประกอบด้วยมาตรา 246 ศาลฎีกาเห็นสมควรให้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2เพื่อให้พิพากษาใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) ประกอบด้วยมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 3979 เลขที่ดิน 19 หน้าสำรวจ 317ตำบลยางขาว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ 1,800 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท เนื่องจากนายชุ่มนำที่ดินพิพาทมาขายฝากแก่จำเลยมีกำหนดไถ่ถอน 3 ปีครบกำหนดแล้วนายชุ่มไม่ไถ่ถอน จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ต่อมาด้วยความสงบเปิดเผยและด้วยเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งเป็นเวลาติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน 13 ปีเศษ จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ด้วยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 จำเลยไม่ได้ทำละเมิดต่อโจทก์ขอให้ยกฟ้อง
วันที่ 23 พฤษภาคม 2534 อันเป็นวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานจำเลย ซึ่งจำเลยเป็นฝ่ายนำสืบก่อนนั้น โจทก์ได้ยื่นคำแถลงพร้อมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม อ้างสัญญาเช่าที่นาระหว่างนายชุ่มกับโจทก์ จำเลยได้รับสำเนาคำแถลงพร้อมบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมแล้ว ไม่แถลงคัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ จำเลยเบิกความในวันที่ 23 พฤษภาคม 2534 ว่า”จำเลยไม่ทราบเรื่องสัญญาเช่าระหว่างนายชุ่มกับโจทก์ เพราะโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาสัญญาให้จำเลยก่อนวันนี้” ต่อมาวันที่ 11 กันยายน2534 จำเลยนำสืบนายชุ่ม โจทก์ ได้อ้างสัญญาเช่า ตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในการถามค้านพยานต่อศาล จำเลยไม่คัดค้านว่าโจทก์อ้างสัญญาเช่าดังกล่าวฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เดิม ศาลชั้นต้นรับสัญญาเช่าดังกล่าวไว้หมาย จ.1
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ที่นายชุ่มทำสัญญาเช่าที่นา 9 ไร่ 2 งาน ตำบลยางขาว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ จากโจทก์นั้นต้องห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87, 90 เดิมเนื่องจากโจทก์ไม่ได้ส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวัน (ที่ศาลเริ่มต้นทำการ)สืบพยานจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายนำสืบก่อน โจทก์ฎีกาในข้อกฎหมายว่าเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ส่งอ้างตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมจึงส่งสำเนาเอกสารให้จำเลยในวันระบุพยานเพิ่มเติมได้ ไม่ต้องส่งสำเนาให้จำเลยก่อนวันที่ศาลเริ่มต้นทำการสืบพยานนัดแรก จึงไม่ต้องห้ามรับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87, 90 เดิม แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับวินิจฉัยว่า “โจทก์ยื่นคำร้องขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม อ้างว่าหลงลืมพลั้งเผลอโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าต้องนำหนังสือเช่ามาสืบ และโจทก์ไม่ทราบว่าหนังสือเช่านั้นมีอยู่ จึงเป็นข้อแก้ตัวที่ยากจะรับฟัง เมื่อกฎหมายกำหนดหน้าที่ของคู่ความในการระบุอ้างพยานไว้โดยชัดเจนเช่นนี้ จะยกประโยชน์แห่งความยุติธรรมมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยหาควรไม่ เพราะความยุติธรรมนั้นจะต้องเป็นไปเพื่อคู่ความทั้งสองฝ่าย มิใช่เพื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว กรณีไม่มีเหตุสมควรที่จะอนุญาตให้โจทก์ระบุพยานเพิ่มเติม” เห็นว่า คำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2ในส่วนนี้ย่อมเห็นได้ว่า เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคำอุทธรณ์และเป็นการนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสี่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 มาตรา 3ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่มิได้ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ดำเนินกระบวนพิจารณาดังกล่าวมาวินิจฉัย เป็นการไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13)พ.ศ. 2535 มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า “พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป เว้นแต่มาตรา 9 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป” เมื่อพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2535 จึงเห็นได้ว่าเป็นการนำกฎหมายที่บังคับใช้ภายหลังมาใช้บังคับย้อนหลังต่อกระบวนพิจารณาที่ล่วงเลยมาแล้วย่อมเป็นการไม่ชอบ นอกจากนี้มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง(ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2535 ก็ได้บัญญัติยกเว้นไว้โดยชัดแจ้งว่า”พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช่บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และให้ใช้กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในวันที่ยื่นฟ้องนั้นบังคับแก่คดีดังกล่าวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดเว้นแต่มาตรา 9 ให้ใช้บังคับแก่บรรดาคดีที่ได้ยื่นฟ้องไว้แล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับด้วย” ฉะนั้นการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 มาใช้บังคับในกรณีนี้จึงเป็นการไม่ชอบ สำหรับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในตอนต่อมาที่ว่า”แม้ศาลชั้นต้นอนุญาตและโจทก์อ้างเอกสารที่ระบุพยานเพิ่มเติมเป็นพยานแล้ว ก็ย่อมต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 และ 90″ นั้นก็หาได้แสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยว่า ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เดิม อย่างไรไม่ได้อ้างบทบัญญัติของกฎหมาย และแปลความหมายของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 เดิม ไว้ แล้วนำข้อเท็จจริงที่โจทก์อุทธรณ์นั้นปรับเข้ากับข้อกฎหมายจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 141(4) ประกอบด้วยมาตรา 246 ซึ่งบัญญัติไว้มีใจความว่า คำพิพากษาให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยทั้งปวงและบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในศาลชั้นต้นนั้น ให้ใช้บังคับแก่การพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์โดยอนุโลมดังนี้เมื่อคดีปรากฏเหตุที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษา ศาลฎีกาอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 243(1) ประกอบด้วยมาตรา 247 เห็นสมควรให้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อให้พิพากษาใหม่
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้ส่งสำนวนคืนไปยังศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อพิพากษาใหม่ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รวมสั่งเมื่อพิพากษาใหม่และหากโจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาใหม่ของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ให้ยกเว้นค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาแก่โจทก์

Share