แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญารับทุนการศึกษาระบุว่า ให้มีความผูกพันระดับปริญญาโดยไม่ระบุว่าระดับปริญญาตรี โท หรือ เอก เมื่อจำเลยที่ 1 เรียนจบปริญญาตรีแล้วขอเรียนต่อระดับปริญญาโทจนต้นสังกัดเห็นชอบ รัฐบาลออสเตรเลียเจ้าของทุนขยายทุนให้จำเลยที่ 1 รับทุนจนเรียนจบ แม้สัญญาค้ำประกันระบุให้ผูกพันระดับปริญญาตรีก็เป็นเรื่องระหว่าง โจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาไม่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 สัญญา รับทุนจึงมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในระดับปริญญาโทด้วย ระหว่างจำเลยที่ 1 รับราชการใช้ทุนอยู่ จำเลยที่ 1 สอบ ชิงทุนไปดูงานที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นความต้องการของจำเลยที่ 1เอง การที่ทางราชการมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปดูงานฝึกอบรมและได้รับเงินเดือนเป็นการอนุเคราะห์ของทางราชการ ซึ่งถ้าเป็น การปฏิบัติราชการแล้วทางราชการคงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลา จึง ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติราชการ อันจะนำเอาระยะเวลาที่ไป ฝึกอบรมดูงานดังกล่าวมาหักลดจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองต้องชดใช้ ตามสัญญารับทุน การที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เงินที่จำเลยที่ 2 ชำระให้โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันควรคิดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยคือ 1 เหรียญออสเตรเลียควรคิดให้ 19.03 บาทไม่ใช่ 19.96 บาท แต่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้ในเรื่องนี้จึงเป็นการนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัยให้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับการคัดเลือกจากโจทก์ให้เป็นผู้รับทุนการศึกษาภายใต้แผนโคลัมโบไปศึกษาระดับปริญญา ณ ประเทศออสเตรเลียโดยตกลงว่า เมื่อเสร็จสิ้นการศึกษาแล้ว ยินยอมเข้ารับราชการในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าหรือในหน่วยราชการอื่นใดที่โจทก์เห็นชอบ มิฉะนั้นยินยอมจะชดใช้เงินให้แก่โจทก์ โดยให้หักเวลาปฏิบัติราชการบางส่วนออก จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรี จำเลยที่ 1 ได้ขออนุมัติขยายทุนเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท โจทก์ได้อนุมัติขยายทุนให้เพื่อศึกษาปริญญาโท จำเลยที่ 1สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทแล้ว ได้เข้ารับราชการเป็นข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัยตามคำสั่งของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าภายหลังจำเลยที่ 1 ได้ยื่นเรื่องราวขอออกจากราชการและสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าได้อนุญาตรวมระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติราชการชดใช้แล้วทั้งสิ้น 655 วัน ส่วนช่วงระยะเวลาซึ่งจำเลยที่ 1ได้รับอนุมัติให้ลาไปฝึกอบรม ณ ประเทศอังกฤษ ด้วยทุนคอนเฟดเดอเรชั่นออฟ บริทิช อินดัสตรี (ทุนประเภท 2) นั้นไม่ถือว่าเป็นช่วงเวลาการปฏิบัติราชการชดใช้ทุน จำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เงินคืนให้แก่ทางราชการเป็นเงินทั้งสิ้น 31,125.08 เหรียญออสเตรเลีย จำเลยที่ 2ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งจะต้องร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินคืนให้แก่โจทก์เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 1 ศึกษาในชั้นปริญญาตรี ณ ประเทศออสเตรเลีย ได้นำเงินจำนวน 435,398.23 บาท คิดเป็นเงินเหรียญออสเตรเลียทั้งสิ้น 21,813.54 เหรียญออสเตรเลีย (อัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะชำระหนี้ 1 เหรียญออสเตรเลียเท่ากับ19.96 บาท ไปชำระให้แก่โจทก์ ดังนั้นจำนวนเงินทุนและค่าปรับที่จำเลยที่ 2 ยังคงต้องชำระในฐานะผู้ค้ำประกัน จึงเป็นเงินรวมทั้งสิ้น1,063.56 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 19,835.58 บาท (อัตราแลกเปลี่ยนเงิน 1 เหรียญออสเตรเลียเท่ากับ 18.66 บาท) และจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระเงินทุนและค่าปรับแก่โจทก์อีก 9,311.54 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 173,753.33 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 รับทุนการศึกษาระดับปริญญาตรีเท่านั้นและไม่ได้รับทุนการศึกษาในระดับปริญญาโทด้วย ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงมีเฉพาะในชั้นปริญญาตรีเท่านั้น ระหว่างที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมที่ประเทศอังกฤษจำเลยที่ 1 ไปอบรมตามคำสั่งของอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าและมิได้ไปด้วยความประสงค์จำเลยที่ 1 เอง จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติราชการและต้องนำเวลาฝึกอบรมมาหักออกจากเวลาชดใช้เงินทุน เมื่อทางราชการอนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาออก โดยไม่ได้ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์เรียกค่าเสียหายเกินความเป็นจริง จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ได้นำเงินตามที่โจทก์เรียกร้องไปมอบให้แก่โจทก์เป็นจำนวน 22,891.60เหรียญออสเตรเลีย หรือเท่ากับเงินไทย 435,398.22 บาท ซึ่งเกินกว่าที่จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดถึง 8,072.85 เหรียญออสเตรเลียหรือเท่ากับเงินไทย 153,345.60 บาท กล่าวคือในระหว่างที่จำเลยที่ 1รับราชการชดใช้ทุนอยู่นั้นอธิการบดีของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้ามีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติราชการอบรมที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา1 ปี 4 เดือน กับ 27 วัน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้โจทก์ถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ปฏิบัติราชการ ทั้ง ๆ ที่โดยแท้จริงแล้วจำเลยที่ 1ไปอบรมตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา โจทก์จึงเรียกเงินจากจำเลยที่ 2เกินไปจำนวนดังกล่าว และขอให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 153,345.60 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ได้นำเงินจำนวน 435,398.23 บาท ไปชำระให้แก่โจทก์จริง แต่คิดเป็นเงินเหรียญออสเตรเลียได้เพียง 21,813.54 เหรียญเท่านั้น มิใช่จำนวน22,891.60 เหรียญ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าไม่เคยมีคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ไปปฏิบัติราชการอบรมที่ประเทศอังกฤษความจริงจำเลยที่ 1 ได้ขอลาไปฝึกอบรม ณ ประเทศอังกฤษ ด้วยทุนคอนเฟคเดอเรชั่น ออฟ บริทิช อินดัสตรี (ทุนประเภท 2) และทางราชการได้อนุมัติให้จำเลยที่ 1 ลาไปฝึกอบรม ณ ประเทศอังกฤษ ด้วยทุนดังกล่าว ช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ไม่ถือว่าเป็นช่วงเวลาการปฏิบัติราชการชดใช้ทุน จำเลยที่ 1 ได้รับราชการชดใช้ทุนไม่ครบกำหนดตามสัญญาโดยมิได้ระบุว่าเป็นการชดใช้ทุนเพื่อชำระหนี้สำหรับทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโท และในระหว่างหนี้ทั้งสองรายนั้นปรากฏว่าหนี้รายหลังคือการรับทุนในระดับปริญญาโทมิได้มีการทำสัญญาค้ำประกันไว้ให้ต่อโจทก์ ดังนั้นหนี้รายหลังนี้จะต้องได้รับการปลดเปลื้องไปก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสองกล่าวคือ ต้องถือว่าการชดใช้ทุนบางส่วนดังกล่าวนั้นเป็นการชำระหนี้ในส่วนของการรับทุนระดับปริญญาโท ดังนั้นจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันจึงต้องชดใช้เงินและเบี้ยปรับเต็มตามจำนวนของการรับทุนระดับปริญญาตรี หากจะฟังว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ไปอบรม ณ ประเทศอังกฤษถือว่าเป็นช่วงเวลาปฏิบัติราชการชดใช้ทุนด้วย โจทก์ก็เรียกเงินจากจำเลยที่ 2 เกินไปเพียง 5,814.34 เหรียญออสเตรเลีย คิดเป็นเงินไทยขณะจำเลยที่ 2 ฟ้องแย้ง 93,087.58 บาทเท่านั้น ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 9,311.52เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ173,753.33 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2มีนาคม 2524 จนกว่าจะชำระเสร็จ และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในเงินดังกล่าวจำนวน 1,063.56 เหรียญออสเตรเลีย หรือคิดเป็นเงินไทยในขณะยื่นฟ้องเท่ากับ 19,835.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญารับทุนภายใต้แผนโคลัมโบไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลีย สาขาวิศวกรรมโยธา ในระดับปริญญาตรี มีใจความสำคัญว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาจำเลยที่ 1 ต้องเข้ารับราชการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสองเท่าของเวลาที่ไปศึกษา ถ้าไม่รับราชการหรือรับราชการไม่ครบจะต้องชดใช้เงินทุนเป็นสองเท่าของเงินทุนหรือลดลงตามส่วนจากจำนวนเต็ม แล้วแต่กรณีให้โจทก์ จำเลยที่ 2ทำสัญญาค้ำประกันตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ครั้นต่อมาจำเลยที่ 1เดินทางไปศึกษาที่ประเทศออสเตรเลียระดับปริญญาตรี จากนั้นจำเลยที่ 1 เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท รวมระยะเวลาที่จำเลยศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท 2,355 วัน และได้รับทุนรวม 18,101.38เหรียญออสเตรเลีย เมื่อจบการศึกษาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1เข้ารับราชการที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า รวมระยะเวลา 627 วันจำเลยไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษด้วยทุนคอนเฟดเดอเรชั่นออฟ บริทิชอินดัสตรี (ทุนประเภท 2) รวมเวลา 1 ปี 5 เดือน 12 วันจำเลยที่ 1 กลับมาทำงานในสังกัดเดิม ระยะเวลา 28 วัน แล้วจำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติให้ลาออกจากราชการ ต่อมาจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินให้โจทก์เป็นเงิน 21,813.54 เหรียญออสเตรเลียคิดเป็นเงินไทย 435,398.23 บาท แล้ววินิจฉัยว่า “ปัญหาแรกมีว่าการที่จำเลยที่ 1 เข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท จำเลยที่ 1 ยังจะต้องผูกพันตามสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 1ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนเพราะตามคำเบิกความของนายถวัลย์ พลพืชน์ พยานโจทก์เบิกความว่าทุนภายใต้แผนโคลัมโบที่ไปศึกษาในประเทศออสเตรเลียมีเฉพาะในระดับปริญญาตรี เริ่มแต่ปี2504 และเลิกปี 2519 และสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ก็ระบุให้รับผิดในระดับปริญญาตรีเท่านั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์คำนายถวัลย์พยานโจทก์โดยตลอดแล้วได้ความว่า นอกจากพยานจะเบิกความดังกล่าวแล้วยังได้ความอีกว่า หากผู้รับทุนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีแล้วก็ยังสามารถเรียนต่อในระดับปริญญาโทและเอกได้ จึงเห็นได้ว่าผู้ได้รับทุนหาจำกัดให้เรียนเฉพาะระดับปริญญาตรีไม่ หากผู้รับทุนมีความสามารถก็ยังเรียนในระดับปริญญาโทและเอกได้ สำหรับสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.2 ที่ระบุให้มีผลผูกพันในระดับปริญญาตรีนั้นก็เป็นเรื่องระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หาได้เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1 ไม่ โดยเฉพาะสัญญารับทุนเอกสารหมาย จ.1 นั้นไม่มีข้อความว่าให้สิ้นความผูกพันเมื่อผู้รับทุนเรียนจบในระดับปริญญาตรี คงมีระบุว่าให้มีความผูกพันในระดับปริญญาโดยไม่ได้ระบุว่าระดับปริญญาตรี โทหรือเอก ดังนั้นเมื่อทางพิจารณาได้ความว่าหลังจากจำเลยเรียนจบปริญญาตรีแล้วจำเลยได้ดำเนินการขอเรียนต่อในระดับปริญญาโทจนต้นสังกัดเห็นชอบรัฐบาลออสเตรเลียเจ้าของทุนขยายทุนให้และในที่สุดจำเลยที่ 1 ได้รับทุนและเข้าเรียนจนจบ ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าสัญญารับทุนตามเอกสารหมาย จ.1 มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ในระดับปริญญาโทด้วยจึงชอบแล้วฎีกาจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษถือเป็นการปฏิบัติราชการหรือไม่นั้น ในข้อนี้จำเลยที่ 1ฎีกาว่าหากไม่ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการแล้วต้นสังกัดคงไม่ออกเป็นคำสั่งและจ่ายเงินเดือนให้นั้นได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1ว่า เมื่อปี 2522 ในระหว่างที่กลับมารับราชการใช้ทุนอยู่นั้น จำเลยที่ 1 ได้สอบชิงทุนไปดูงานในเรื่องการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ประเทศอังกฤษ เห็นว่าทางนำสืบของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษนั้นเป็นความต้องการของทางราชการหรือต้นสังกัดที่จำเลยทำงานอยู่ หากแต่เป็นความต้องการของจำเลยที่ 1 เอง จำเลยที่ 1 จึงขวนขวายหาทางสมัครสอบเพื่อรับทุนไปดูงานดังกล่าวที่มีคำสั่งให้จำเลยไปดูงานและฝึกอบรมตลอดจนได้รับเงินนั้นก็เป็นเรื่องทางราชการอนุเคราะห์ และหากถือว่าการไปนั้นเป็นการปฏิบัติราชการแล้วทางราชการคงไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ลาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 ขวนขวายขอไปเองโดยทางราชการหรือต้นสังกัดมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติราชการที่ศาลล่างทั้งสองไม่นำเอาระยะเวลาในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษเป็นเวลา 1 ปี 5 เดือน 12 วัน ไปหักเพื่อลดจำนวนเงินที่จำเลยทั้งสองจะต้องชดใช้ตามสัญญารับทุนจึงชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 1ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาสุดท้ายมีว่า โจทก์จะต้องคืนเงินให้จำเลยที่ 2 เพียงใดนั้น ปัญหานี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันได้ชำระเงินให้โจทก์ไปจำนวนหนึ่งนั้น โจทก์ควรคิดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเฉลี่ยธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลยซึ่งมีความหมายว่าอัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญออสเตรเลีย ควรคิดให้ 19.02 บาท ไม่ใช่19.96 บาท ตามที่โจทก์นำสืบ เห็นว่า ตามคำให้การของจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องนี้ไว้ คงให้การแต่เพียงว่าในช่วงที่จำเลยที่ 1ไปฝึกอบรมดูงานที่ประเทศอังกฤษถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการจะต้องคืนเงินในส่วนนี้ให้เท่านั้น จึงเป็นเรื่องนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่วินิจฉัย”
พิพากษายืน.