คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6557/2541

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ร้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างสิทธิเป็นผู้รับพินัยกรรมส่วนผู้คัดค้านที่ 5 คัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ทั้งผู้คัดค้านที่ 5กล่าวอ้างว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 5เป็นผู้จัดการมรดกและยกทรัพย์มรดกครึ่งหนึ่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 ตามพินัยกรรมอีกฉบับหนึ่ง ผู้ร้องไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จึงไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ คดีจึงมีประเด็นว่าพินัยกรรมทั้งสองฉบับดังกล่าวนั้น ฉบับใดเป็นฉบับแท้จริงและผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันสมควรตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ กรณีเป็นเรื่องวิธีจัดการมรดกเท่านั้น หาได้มีข้อโต้แย้งในระหว่างผู้รับมรดกแต่อย่างใดไม่ แม้ข้อกำหนดพินัยกรรมระบุให้ถวายทรัพย์มรดกแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการฟ้องและโต้แย้งสิทธิต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมิใช่เป็นเรื่องที่มีการกล่าวอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ประการใด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 และ 67 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดาเว้นเสียแต่สิทธิและหน้าที่นั้นไม่อยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของตนดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมาย ข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง หรือโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นโดยสภาพมิใช่สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดา และบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ย่อมนำมาใช้แก่นิติบุคคลได้เท่าที่ไม่ขัดกับสภาพของนิติบุคคลดังนั้น เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามนิติบุคคล มิให้เป็นผู้จัดการมรดก ประกอบกับผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรมด้วยอีกทั้งตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องได้ระบุไว้ในข้อ 5ว่า มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีดังต่อไปนี้ ข.ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้เป็นพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดในหนี้สินแต่ประการใด การตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ จึงอยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่และไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้อง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 เนื่องจากผิดหลง เพราะผู้คัดค้านที่ 2ยื่นอุทธรณ์พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ชอบ และเป็นกรณี ที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คดีไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษา ใหม่แต่อย่างใดอีกโดยพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ท่านผู้หญิงเชิญ พิศลยบุตรเจ้ามรดกได้ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2537 โดยทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งผู้ร้องมีคุณสมบัติไม่ต้องห้ามเป็นผู้จัดการมรดกและประสงค์จะเป็นผู้จัดการมรดกเพื่อดำเนินการรับมรดกตามพินัยกรรม แต่มีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของท่านผู้หญิงเชิญ พิศลยบุตร ผู้ตาย
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านทั้งสองเป็นทายาทของเจ้ามรดก ผู้คัดค้านทั้งสองเคยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอคดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ คำร้องของผู้ร้องจึงซ้ำซ้อน อีกทั้งพินัยกรรมตามที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมเพราะลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือชื่อของเจ้ามรดกคณะกรรมการของผู้ร้องกระทำการโดยทุจริตและไม่ถูกต้องตามตราสารของมูลนิธิ ผู้ร้องจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก ย่อมไม่มีสิทธิขอจัดการมรดก ขอให้ยกคำร้องขอ
ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 ยื่นคำคัดค้านว่า คณะกรรมการของผู้ร้องไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้อง นาง(คุณหญิง)สุรภี ตุลยายนไม่ได้เป็นประธานกรรมการโดยชอบ การจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการใหม่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของมูลนิธิผู้ร้องจึงไม่มีผลผูกพันผู้ร้อง ผู้ร้องมีคณะกรรมการจำนวน 7 คนมีผู้คัดค้านที่ 4 เป็นรองประธานกรรมการ นายอภัย จันทวิมลเป็นประธานกรรมการโดยเจ้ามรดกเป็นกรรมการ ต่อมานายอภัยถึงแก่กรรมและเจ้ามรดกถึงแก่อนิจกรรมนาง(คุณหญิง)สุรภี กับพวกได้จัดการประชุมกรรมการโดยไม่แจ้งให้ผู้คัดค้านที่ 4 ทราบผู้คัดค้านที่ 4 จึงไม่ได้เข้าประชุมการประชุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายและตราสารข้อบังคับของมูลนิธิ ผู้ร้องย่อมไม่มีผลตามกฎหมาย ผู้คัดค้านที่ 4 ได้ร้องเรียนต่อนายทะเบียนมูลนิธิ ขอให้เพิกถอนนาง(คุณหญิง)สุรภีกับพวกออกจากตำแหน่งประธานกรรมการและกรรมการแล้วนาง(คุณหญิง)สุรภี กับพวกจึงไม่มีอำนาจกระทำการแทนผู้ร้องไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอจัดการมรดกของเจ้ามรดก ส่วนผู้คัดค้านที่ 4มีอำนาจกระทำการแทนประธานกรรมการซึ่งถึงแก่กรรมตามข้อบังคับของมูลนิธิผู้ร้อง จึงมีอำนาจหน้าที่กระทำการแทนมูลนิธิ ทั้งผู้คัดค้านที่ 4 ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามกฎหมายขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ผู้คัดค้านที่ 5 ยื่นคำคัดค้านว่า เจ้ามรดกได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5 และตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกผู้คัดค้านที่ 5 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียสำหรับพินัยกรรมที่ผู้ร้องอ้างเป็นพินัยกรรมปลอมเพราะลายมือเขียนและลายมือชื่อในพินัยกรรมไม่ใช่ลายมือเขียนและลายมือชื่อของเจ้ามรดก ขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง และตั้งผู้คัดค้านที่ 5เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งเชิญพิศลยบุตรมูลนิธิ ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของท่านผู้หญิงเชิญ พิศลยบุตร ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำคัดค้านของผู้คัดค้านที่ 1ถึงที่ 5 และยกคำร้องฉบับลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2539
ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อุทธรณ์ แต่ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2เนื่องจากผิดหลงเพราะผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นอุทธรณ์พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย และมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2ตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 8 ตุลาคม 2540
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 5 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงเชื่อว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5เป็นพินัยกรรมฉบับแท้จริงของเจ้ามรดก แต่พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.17เป็นพินัยกรรมปลอม
ปัญหาข้อต่อไปมีว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 เป็นพินัยกรรมที่สมบูรณ์และมีผลบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5 เป็นพินัยกรรมแบบทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับและเป็นพินัยกรรมฉบับแท้จริงดังวินิจฉัยไว้แล้วข้างต้น ทั้งข้อกำหนดที่ระบุไว้ในพินัยกรรมได้กำหนดผู้รับพินัยกรรมคือเชิญพิศลยบุตรมูลนิธิ ผู้ร้อง พินัยกรรมเอกสารหมาย ร.5จึงสมบูรณ์และมีผลบังคับได้ตามกฎหมาย ส่วนข้อกำหนดอื่นในพินัยกรรมจะมีผลบังคับเรียกร้องกันได้อย่างไร หรือเป็นอันเพิกถอนไปหรือตกเป็นโมฆะหรือไม่เป็นเรื่องที่จะต้องไปว่ากล่าวกันในชั้นแบ่งปันทรัพย์มรดก หาใช่เป็นประเด็นโดยตรงในคดีนี้ไม่จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในคดีนี้
ปัญหาต่อไปตามที่ผู้คัดค้านที่ 5 ฎีกาว่า ข้อกำหนดพินัยกรรมระบุให้ถวายทรัพย์มรดกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่ด้วยการที่ผู้ร้องร้องขอจัดการมรดกรายนี้ถือเป็นการฟ้องและโต้แย้งสิทธิต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกรณีต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ตามมาตรา 264 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับแก่คดีใดถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6 และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลรอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราวและส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย” คดีนี้ผู้ร้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างสิทธิเป็นผู้รับพินัยกรรมตามเอกสารหมาย ร.5 ส่วนผู้คัดค้านที่ 5คัดค้านว่าพินัยกรรมดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม ทั้งผู้คัดค้านที่ 5กล่าวอ้างว่าเจ้ามรดกทำพินัยกรรมตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 5 เป็นผู้จัดการมรดกและยกทรัพย์มรดกครึ่งหนึ่งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 5ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.17 ผู้ร้องไม่ใช่เป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก จึงไม่มีสิทธิร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ คดีจึงมีประเด็นว่า พินัยกรรมดังกล่าวแล้วฉบับใดเป็นฉบับแท้จริงและผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้มีส่วนได้เสียอันสมควรตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกหรือไม่ กรณีเป็นเรื่องวิธีจัดการมรดกเท่านั้น หาได้มีข้อโต้แย้งในระหว่างผู้รับมรดกแต่อย่างใดไม่ทั้งมิใช่เป็นเรื่องที่มีการกล่าวอ้างว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญอันจะต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 264ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแต่ประการใด
ปัญหามีต่อไปว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นนิติบุคคลจะเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 66 และ 67 นิติบุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เว้นเสียแต่สิทธิและหน้าที่นั้นไม่อยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ของตนดังได้บัญญัติหรือกำหนดไว้ในกฎหมายข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้ง หรือโดยสภาพจะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดาเท่านั้น ซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นโดยสภาพมิใช่สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีพึงเป็นได้เฉพาะแก่บุคคลธรรมดา และบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 ย่อมนำมาใช้แก่นิติบุคคลได้เท่าที่ไม่ขัดกับสภาพของนิติบุคคล ดังนั้น เมื่อไม่มีบทกฎหมายใดที่ห้ามนิติบุคคลมิให้เป็นผู้จัดการมรดก ประกอบกับผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรมดังได้วินิจฉัยไว้ข้างต้น อีกทั้งตามตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้องได้ระบุไว้ในข้อ 5 ว่า มูลนิธิอาจได้มาซึ่งทรัพย์สินโดยวิธีดังต่อไปนี้ ข.ทรัพย์สินซึ่งมีผู้ยกให้เป็นพินัยกรรมหรือนิติกรรมอื่น ๆ โดยไม่มีเงื่อนไขผูกพันให้มูลนิธิต้องรับผิดในหนี้สินแต่ประการใด การตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ จึงอยู่ภายในขอบแห่งอำนาจหน้าที่และไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับหรือตราสารจัดตั้งมูลนิธิของผู้ร้อง และเห็นว่าผู้ร้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามที่ผู้ร้องเป็นผู้รับพินัยกรรม ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและสามารถดำเนินการโดยผู้แทนของผู้ร้องดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 70 ที่ศาลล่างทั้งสองตั้งให้ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยเมื่อผู้คัดค้านที่ 5 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกและไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียในมรดกรายนี้แล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของผู้คัดค้านที่ 5 เพราะไม่ทำให้เปลี่ยนแปลงผลคดีและไม่มีประโยชน์ที่จะพิจารณาในคดีนี้อีกต่อไป
อนึ่ง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีเกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 เนื่องจากผิดหลงเพราะผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นอุทธรณ์พ้นระยะเวลาอุทธรณ์ตามกฎหมาย โดยศาลชั้นต้นมีคำสั่งใหม่ไม่รับอุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ 2 ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่ชอบและเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม คดีไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้องโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่แต่อย่างใดอีก
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะส่วนคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับผู้คัดค้านที่ 2 นอกจากนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share