คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6556/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 5 บัญญัติ ให้จำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯ โดยนอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้ว ยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย และตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 6 กำหนดให้จำเลยมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วย จำเลยย่อมได้รับผลประโยชน์จากที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย เมื่อจำเลยได้รับที่ดินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้ค่าทดแทนราคาให้แก่โจทก์ตามราคาของ ที่ดินของโจทก์ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯ จึงถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรม ที่ดินพิพาทของโจทก์ด้านหนึ่งติดทะเล อีกด้านหนึ่งติดถนนซอยสาธารณะ โจทก์ได้ปรับปรุงที่ดินทั้งแปลงให้มีสภาพที่ดีขึ้นเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยทั้งที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่ 10 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา ไม่มากจนถึงกับมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆ ลดหลั่นลงไปตามหน่วยที่กำหนดไว้ในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอำเภอเมืองระยอง ปี 2525-2527 การกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทเป็นราคาเดียวกันตลอดทั้งแปลงเท่ากับราคาที่กำหนดไว้ตามบัญชีกำหนดราคา ฯ ในส่วนที่ดินนอกเขตสุขาภิบาลฝั่งทิศใต้ถนนสุขุมวิท บริเวณชายทะเลห่างจากทะเลหรือถนนริมทะเลรัศมี 100 เมตร จึงชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2527 มีพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุดอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 ให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจกำหนดราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน ครั้นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยได้มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า ได้กำหนดค่าทดแทนที่ดิน พืชผล ต้นไม้ อาคารและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกเวนคืนให้โจทก์รวม 1,501,369.20 บาท ที่ดินของโจทก์มีราคาธรรมดาที่ซื้อกันในท้องตลาดขณะที่พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่อำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง พ.ศ. 2525 ใช้บังคับ ตารางวาละ 1,250 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียงตารางวาละ 750 บาท คิดเป็นเงิน 3,288,750 บาท และโจทก์ได้ใช้เงินค่าปลูกสร้างอาคารและสิ่งปลูกสร้างในที่ดินไปจำนวน 1,855,000 บาท เมื่อหักจำนวนเงินค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่โจทก์ได้รับแล้ว1,420,834.20 บาท จำเลยจะต้องจ่ายค่าทดแทนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มให้โจทก์อีก 3,722,915.80 บาท พร้อมดอกเบี้ย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 3,722,915.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดค่าทดแทนที่ดินตามราคาประเมินทรัพย์ฯ และกำหนดค่ารื้อย้ายอาคารและสิ่งปลูกสร้างโดยคำนึงถึงความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของรัฐในลักษณะที่เป็นธรรมและเหมาะสมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนที่ดินเพิ่มขึ้นให้แก่โจทก์ เป็นเงิน 665,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 5 กรกฎาคม 2532) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่งและตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2527 มาตรา 5 บัญญัติให้จำเลยกำหนดราคาของอสังหาริมทรัพย์ที่เวนคืนตามความเป็นธรรมที่เป็นอยู่ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่กิ่งอำเภอบ้านฉาง อำเภอเมืองระยอง และอำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2525 คือวันที่ 10 ธันวาคม 2525 โดยนอกจากคำนึงถึงราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมแล้วยังต้องคำนึงถึงสภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ประกอบกับเหตุและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนด้วย และตามพระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2522 มาตรา 6 กำหนดให้จำเลยเป็นนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์แสวงหากำไรทางเศรษฐกิจอยู่ด้วยจำเลยย่อมได้รับผลประโยชน์จากที่ดินที่ถูกเวนคืนด้วย เมื่อจำเลยได้รับที่ดินของโจทก์ไปเท่าใดก็ควรจะต้องใช้ค่าทดแทนราคาให้แก่โจทก์ตามราคาของที่ดินของโจทก์ในวันใช้บังคับพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯ จึงถือว่าเป็นราคาตามความเป็นธรรม ปัญหานี้โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาเมื่อปี 2513 ในราคา314,400 บาท ไร่ละประมาณ 30,000 บาท เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยที่ดินพิพาทด้านหนึ่งติดทะเล อีกด้านหนึ่งติดถนนซอยสาธารณะโจทก์ได้ปรับปรุงที่ดินและปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดิน 3 หลัง สร้างศาลา ขุดบ่อน้ำจืด 3 บ่อ และปลูกไม้ยืนต้น เห็นว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาก่อนพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ฯ ใช้บังคับประมาณ 12 ปี และได้ปรับปรุงที่ดินพิพาทให้มีสภาพที่ดีขึ้น ตลอดจนระยะเวลาที่ผ่านมานาน ย่อมทำให้ที่ดินพิพาทมีราคาสูงขึ้นอีกมาก ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของนายเทพ อินบัง กำนันตำบลมาบตาพุด พยานจำเลยว่า เมื่อปี 2525 ที่ดินติดทะเลที่อยู่ใกล้กับที่ดินที่ถูกเวนคืนราคาซื้อขายไร่ละกว่า 100,000 บาท ที่ดินของโจทก์ทั้งแปลงมีราคาซื้อขายไร่ละกว่า 100,000 บาทขึ้นไป โดยปกติในการซื้อขายทั่วไปมักจะซื้อขายราคาเดียวกันทั้งแปลง นอกจากนี้ตามบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม อำเภอเมืองระยอง ปี 2525 -2527ก็กำหนดไว้ว่า ที่ดินนอกเขตสุขาภิบาล ฝั่งทิศใต้ถนนสุขุมวิทบริเวณชายทะเลห่างจากทะเลหรือถนนริมทะเลรัศมี 100 เมตร ไร่ละ110,000 บาท และโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยคิดเฉลี่ยราคาทั้งแปลงและได้ใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของที่ดินพิพาทในลักษณะเดียวกันคือใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งที่ดินพิพาทที่ถูกเวนคืนมีเนื้อที่10 ไร่ 3 งาน 85 ตารางวา ไม่มากจนถึงกับมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดราคาให้แตกต่างกันเป็นส่วน ๆ ลดหลั่นลงไปตามหน่วยที่กำหนดไว้ในบัญชีกำหนดราคาที่ดินตามราคาตลาดเพื่อเป็นทุนทรัพย์สำหรับเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมอำเภอเมืองระยอง ปี 2525-2527 ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทไร่ละ 110,000 บาท เป็นราคาเดียวกันตลอดทั้งแปลงเป็นการกำหนดค่าทดแทนที่ดินพิพาทที่ได้คำนึงถึงผลการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ ซึ่งตีราคาเพื่อประโยชน์แก่การเสียภาษีบำรุงท้องที่และราคาประเมินทุนทรัพย์ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตลอดจนสภาพและที่ตั้งของที่ดินพิพาทประกอบกับเหตุผลและวัตถุประสงค์ของการเวนคืนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคมแล้ว ชอบด้วยมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่ตำบลห้วยโป่ง และตำบลมาบตาพุด อำเภอเมืองระยองจังหวัดระยอง พ.ศ. 2527
พิพากษายืน

Share