คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6552/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามมาตรา 124 เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้วถ้านายจ้างไม่พอใจคำสั่งนั้น ให้นำคดีไปสู่ศาลได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง ในกรณีที่นายจ้างไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุดตามมาตรา 125 ดังนี้ เมื่อจำเลยผู้เป็นนายจ้างไม่นำคดีมาสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าว คำสั่งนั้นจึงถึงที่สุดตามมาตรา 125 จำเลยจะดำเนินการในศาลแรงงานในปัญหาดังกล่าวซึ่งรวมตลอดถึงการให้การต่อสู้อีกไม่ได้ ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคท้าย เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งอันถึงที่สุดแล้วได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2537 จำเลยจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่พนักงานขาย ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 9,150 บาท ต่อมาวันที่ 30 กันยายน 2541 จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยอ้างเหตุว่าไม่มีเงินจ่ายค่าจ้างเนื่องจากขาดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ โจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเขตพื้นที่ 16 ขอเรียกค่าชดเชยจากโจทก์ พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์จำนวน 54,900 บาท ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยทราบคำสั่งหรือถือว่าได้ทราบคำสั่งตามคำสั่งที่ 4/2541 แต่จำเลยไม่ยอมจ่าย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 54,900 บาท ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่ง
จำเลยยื่นคำให้การ ศาลแรงงานกลางเห็นว่า จำเลยไม่ดำเนินการนำคดีมาสู่ศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน ถือว่าคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงานเป็นที่สุด คำให้การของจำเลยจึงไม่มีประเด็นที่จะรับไว้พิจารณา มีคำสั่งไม่รับคำให้การ
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 54,900 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า ศาลแรงงานกลางสมควรรับคำให้การของจำเลยไว้พิจารณาสืบพยานเพื่อความเป็นธรรมแก่นายจ้างลูกจ้าง คำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน ที่ 4/2541 ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 ซึ่งบัญญัติให้นายจ้างสามารถย้ายสถานที่ประกอบการได้โดยลูกจ้างสามารถบอกเลิกสัญญาจ้างได้ และให้ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยพิเศษ แต่พนักงานตรวจแรงงานกลับสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามมาตรา 118 และโจทก์สมัครใจเลิกสัญญากับจำเลยนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 123 และพนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งที่ 4/2541 ให้จำเลยผู้เป็นนายจ้างจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ตามมาตรา 124 ซึ่งมาตรา 125 ได้บัญญัติว่า “เมื่อพนักงานตรวจแรงงานได้มีคำสั่งตามมาตรา 124 แล้ว ถ้านายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่พอใจคำสั่งนั้นให้นำคดีไปสู่ศาลได้ ภายในสามสิบวันนับแต่วันทราบคำสั่ง
ในกรณีที่นายจ้าง ลูกจ้าง หรือทายาทโดยธรรมของลูกจ้างซึ่งถึงแก่ความตายไม่นำคดีไปสู่ศาลภายในกำหนด ให้คำสั่งนั้นเป็นที่สุด
ปรากฏตามคำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยไม่นำคดีมาสู่ศาล ภายใน 30 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งที่ 4/2541 ซึ่งวินิจฉัยว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์และสั่งให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ คำสั่งดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามกฎหมายข้างต้นจำเลยจะดำเนินการในศาลแรงงานกลางอีกไม่ได้ ซึ่งรวมตลอดถึงการให้การต่อสู้คดีด้วย ทั้งนี้โดยต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคท้าย ดังนั้น เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเพื่อขอให้จำเลยปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะต่อสู้คดีว่าคำสั่งที่ 4/2541 ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยเหตุที่จำเลยมิได้เลิกจ้างอันทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 วรรคหนึ่ง แต่เป็นกรณีโจทก์ไม่ประสงค์ไปทำงาน ณ สำนักงานใหญ่ตามที่จำเลยแจ้งย้ายสถานประกอบกิจการแก่โจทก์ตามมาตรา 120 วรรคหนึ่ง ซึ่งโจทก์มีสิทธิได้รับเพียงค่าชดเชยพิเศษเท่านั้น อันเป็นการโต้แย้งคำสั่งอันถึงที่สุดแล้วได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปว่าคำสั่งของศาลแรงงานกลางที่ไม่รับคำให้การของจำเลยชอบด้วยกระบวนพิจารณาหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน

Share