คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6551/2542

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ตกลงว่าจ้างให้จำเลยดำเนินการส่งทุเรียนสดพันธุ์จาก ประเทศไทยไปยังเมืองเกาซุงประเทศไต้หวันโดยทางเรือ จำเลยได้ติดต่อจองระวางเรือ ทำพิธีการศุลกากรและตกลงให้ผู้มีชื่อเป็นผู้ขนส่งทุเรียนพิพาทดังกล่าวไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศไต้หวัน โจทก์ตกลงว่าจ้างโดยจำเลยเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเริ่มตั้งแต่จัดหารถลากตู้คอนเทนเนอร์ไปรับทุเรียนพิพาทที่จังหวัดจันทบุรี และนำไปส่งที่เรือแหลมฉบัง จำเลยได้ออกใบตราส่ง และรับเงินค่าบริการไปแล้วตามใบตราส่ง มีข้อความระบุว่า บริษัทจำเลยซึ่งเป็นบริษัทขนส่งได้รับสินค้าไว้ถูกต้อง แล้วและจำเลยได้เรียกเก็บเงินค่าระวางขนส่งค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมอื่นจากโจทก์ไปแล้ว จำเลยจึงเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทและตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนส่งของทางทะเลพ.ศ. 2534 ใบตราส่งหมายความว่าเอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล เมื่อจำเลยเป็นผู้ออกใบตราส่งจำเลยจึงปฏิเสธว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนในการติดต่อรับขนส่งไม่ใช่ผู้ขนส่งไม่ได้
เหตุที่ทำให้สินค้าพิพาทเสียหายเป็นความผิดของจำเลยผู้ขนส่งและตามภาพถ่ายใบกำกับสินค้าเอกสารระบุว่า ทุเรียนพิพาทมีราคากิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์และจำเลยไม่นำสืบว่าความจริงทุเรียนพิพาทมีราคาเท่าใด ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดราคาทุเรียนพิพาทให้กิโลกรัมละ 20 บาทจึงเหมาะสมแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ขนส่งทุเรียนสดพันธุ์หมอนทองจำนวน 2,000 กล่อง น้ำหนัก 22,000 กิโลกรัม ไปยังประเทศไต้หวัน เพื่อส่งให้แก่บริษัทโฮ กุ ยุน จำกัด จำเลยที่ 1 ตกลงรับขนสินค้าดังกล่าวโดยนำรถลากตู้คอนเทนเนอร์ไปบรรจุทุเรียนสดที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งโจทก์สั่งให้ตั้งอุณหภูมิตู้คอนเทนเนอร์ไว้ที่ +14 องศาเซลเซียส ต่อมาจำเลยที่ 1 ลากตู้คอนเทนเนอร์ดังกล่าวมาลงเรือเดินสมุทรชื่อ “ยูนิ มอรัล”ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งให้แก่โจทก์เป็นหลักฐาน ใบตราส่งดังกล่าวไม่มีการจดแจ้งรายการอันเป็นข้อสงวนไว้ ส่วนจำเลยที่ 2 เมื่อได้รับสินค้าของโจทก์จากจำเลยที่ 1 ลงเรือเรียบร้อยแล้วได้ออกใบตราส่งแทนจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของเรือให้จำเลยที่ 1ไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเรือ “ยูนิ มอรัล” เดินทางถึงท่าเรือเมืองเกาซุง ประเทศไต้หวัน วันที่ 19 พฤษภาคม 2538 บริษัทโฮ กุ ยุน จำกัด ผู้รับตราส่งได้รับรายงานว่าสินค้าเสียหายทั้งหมด เนื่องจากจำเลยทั้งสามหรือตัวแทนไม่ได้ตั้งอุณหภูมิให้เหมาะสมกับสภาพสินค้าตามที่โจทก์สั่งจำเลยทั้งสามจึงต้องรับผิดต่อโจทก์คือราคาทุเรียนจำนวน 20,000 กิโลกรัม กิโลกรัมละ25 บาท เป็นเงิน 500,000 บาท ค่าระวางและค่าบริการ 197,037 บาทค่ารถลากตู้คอนเทนเนอร์ 25,880 บาท ค่าภาษีที่ประเทศไต้หวัน 388,785บาท รวมเป็นเงิน 1,111,702 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2538ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสามมอบสินค้าให้แก่ลูกค้าของโจทก์ถึงวันฟ้องเป็นเงิน25,244 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,111,702 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 เป็นเพียงตัวแทนโจทก์ในการทำพิธีการทางศุลกากร และติดต่อจองระวางเรือจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับจ้างโจทก์ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดก็ไม่เกิน 20,000 บาททุเรียนพิพาทมีราคาไม่เกินกิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนค่าระวางและค่าบริการตลอดจนค่าลากตู้คอนเทนเนอร์และค่าภาษีที่ประเทศไต้หวันนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องเพราะความเสียหายของโจทก์มีประการเดียวคือ ไม่ได้รับชำระค่าสินค้าจากผู้สั่งซื้อเท่านั้น

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายจำนวน 1,011,702 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับจากวันที่ 20 พฤษภาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3

จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เบื้องต้นว่า โจทก์ตกลงว่าจ้างให้จำเลยที่ 1ดำเนินการส่งทุเรียนสดพันธุ์หมอนทอง จำนวน 2,000 กล่อง น้ำหนัก22,000 กิโลกรัม จากประเทศไทยไปยังเมืองเกาซุงประเทศไต้หวันโดยทางเรือ จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อจองระวางเรือทำพิธีการศุลกากรและตกลงให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ขนส่งทุเรียนพิพาทดังกล่าวไปให้ผู้ซื้อที่ประเทศไต้หวัน เมื่อเรือ “ยูนิ มอรัล” บรรทุกทุเรียนพิพาทไปถึงท่าเรือเมืองเกาซุง ประเทศไต้หวันปรากฏว่าทุเรียนพิพาทเสียหายทั้งหมด

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทรายนี้หรือไม่ โจทก์มีนางสุจิตราวิชิตเนติศาสตร์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความเป็นพยานว่า โจทก์ตกลงว่าจ้างจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเริ่มตั้งแต่จัดหารถลากตู้คอนเทนเนอร์ไปรับทุเรียนพิพาทที่จังหวัดจันทบุรี และนำไปส่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง จำเลยที่ 1 ได้ออกใบตราส่งและรับเงินค่าบริการไปแล้วตามเอกสารหมาย จ.11 จ.14 และ จ.15 เห็นว่า สำเนาใบตราส่งเอกสารหมาย จ.11 มีข้อความระบุว่า บริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบริษัทขนส่งได้รับสินค้าไว้ถูกต้องแล้ว ส่วนใบแจ้งการหักบัญชีเอกสารหมาย จ.14 และใบกำกับสินค้า เอกสารหมาย จ.15 ก็ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้เรียกเก็บเงินค่าระวางขนส่งค่าเช่าตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมอื่นจากโจทก์ไปแล้วจริงข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาท ที่จำเลยที่ 1อุทธรณ์ว่า การออกใบตราส่งไม่ใช่การรับขนส่งสินค้าเองหากแต่เป็นเพียงตัวแทนในการติดต่อรับขนส่งเท่านั้น จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งนั้น เห็นว่ามาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 ให้นิยามคำว่า ใบตราส่ง หมายความว่า เอกสารที่ผู้ขนส่งออกให้แก่ผู้ส่งของเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ออกใบตราส่งจำเลยที่ 1 จึงปฏิเสธว่าไม่ใช่ผู้ขนส่งไม่ได้

มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า สินค้าพิพาทเสียหายเพราะโจทก์เป็นผู้กำหนดให้ตั้งอุณหภูมิภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่ระดับ +4 องศาเซลเซียสหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้กำหนดให้ตั้งอุณหภูมิไว้ที่ระดับ +4 องศาเซลเซียส ดังที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ในทางตรงกันข้ามกลับได้ความจากนายเหรียญ วรพิพัฒน์กำธร ผู้รับมอบอำนาจจำเลยที่ 3ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้กำหนดให้ตั้งอุณหภูมิภายใต้ตู้คอนเทนเนอร์ที่ระดับ+4 องศาเซลเซียส ตามเอกสารหมาย ล.2 ดังนั้น เหตุที่ทำให้สินค้าพิพาทเสียหายจึงไม่ใช่ความผิดของโจทก์ หากแต่เป็นความผิดของจำเลยที่ 1

มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการสุดท้ายว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดราคาทุเรียนพิพาทให้กิโลกรัมละ20 บาท สูงเกินไปหรือไม่ เห็นว่า ตามภาพถ่ายใบกำกับสินค้าเอกสารหมายจ.12 ระบุว่า ทุเรียนพิพาทมีราคากิโลกรัมละ 1 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่นำสืบว่าความจริงทุเรียนพิพาทคงมีราคาเท่าใด ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางกำหนดราคาทุเรียนพิพาทให้กิโลกรัมละ 20 บาท จึงเหมาะสมแล้ว”

พิพากษายืน

Share