คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6550/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

แม้ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จะเป็นความผิดต่อส่วนตัว เมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2) แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ด้วย อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลล่างลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดและความผิดฐานดังกล่าวไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ระงับไป คงระงับไปเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามมาตรา 358 เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่มีเหตุสมควร ร่วมกันบุกรุกเข้าไปในบ้าน อันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนางอรอนงค์ คูณขุนทด ผู้เสียหายแล้วร่วมกันทำลายโต๊ะเครื่องแป้งและขว้างถ้วยชามใส่ผู้เสียหาย อันเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหาย ทำให้โต๊ะเครื่องแป้งและถ้วยชามซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้เสียหายเสียหาย เป็นเงิน 1,000 บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 364, 365 และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาดังกล่าว
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 362, 364 (ที่ถูก ไม่ต้องปรับบทมาตรา 362) 358, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 1 ปี จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 6 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 279/2547 ของศาลชั้นต้นนั้น ปรากฏว่าในคดีดังกล่าวศาลยังไม่มีคำพิพากษาจึงไม่อาจนับโทษต่อได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2548 แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364, 358, 83 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แม้ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์จะเป็นความผิดต่อส่วนตัวเมื่อผู้เสียหายถอนคำร้องทุกข์ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 39 (2) แต่การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ด้วย อันเป็นการกระทำผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายบท ศาลล่างทั้งสองได้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด และความผิดฐานดังกล่าวไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว แม้ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (1) (2) (3) ประกอบมาตรา 364 ระงับไป คงระงับไปเฉพาะความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 เท่านั้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่าสมควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปในบริเวณบ้านของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นสถานที่อันควรได้รับความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้อยู่อาศัย แล้วจำเลยทั้งสองทุบทำลายโต๊ะเครื่องแป้งและขว้างถ้วยชามใส่ผู้เสียหายทำให้โต๊ะเครื่องแป้งและถ้วยชามได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสองกระทบต่อความปลอดภัยของสังคมโดยส่วนรวม พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรงแม้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายจนไม่ติดใจเอาความแก่จำเลยทั้งสองก็ยังไม่เป็นเหตุอันควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองได้บรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้นแล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษจำคุกเสียใหม่ เพื่อให้เหมาะสมแก่รูปคดี”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานบุกรุก จำคุกคนละ 6 เดือน ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 เดือน ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ให้เปลี่ยนโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นโทษกักขังแทนมีกำหนด 3 เดือนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 ให้จำหน่ายคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ประกอบมาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share