คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2549

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยโต้แย้งว่า ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม, 33 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 8 (4) (9) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ ขอให้ศาลล้มละลายกลางส่งคำร้องของจำเลยไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 การที่ศาลล้มละลายกลางสั่งในคำร้องของจำเลยเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฯ มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา จำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวไว้ อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 226, 247 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28
จำเลยยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การภายหลังมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ อุทธรณ์ของจำเลยเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลาย ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามมาตรา 26 วรรคสี่ จึงไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยไว้พิจารณา
ปัญหาที่ว่าหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 หรือไม่ เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลชั้นต้น จำเลยก็มีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยโดยวิธีปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 ซึ่งถือว่าจำเลยได้รับแล้วในวันปิดนั้นเองตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม จำเลยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเด็ดขาดและเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามกฎหมาย ระยะเวลาที่โจทก์มีอำนาจใช้วิธีการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 271 และ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คือวันที่ 23 มีนาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 21 มีนาคม 2546 ยังไม่พ้น 10 ปี หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดี
เจ้าพนักงานของโจทก์ได้ปิดหมายเรียก ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลยตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และถือว่าจำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้วตาม ป.รัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำหลักการนับระยะเวลาปิดหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 79 วรรคสอง มาใช้บังคับ เจ้าพนักงานของโจทก์ปิดหมายเรียกวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 หมายเรียกกำหนดให้จำเลยไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นการให้เวลาจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 32 แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาจำเลยยื่นคำร้องว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 32 กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีอำนาจออกหมายเรียกผู้อุทธรณ์มาไต่สวน แต่ต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน โจทก์ส่งหมายเรียกของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้จำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 นับระยะเวลาปิดหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง จะมีผลให้ถือว่าได้รับหมายวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 นับระยะเวลาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 32 ต้องมีผลเมื่อล่วงไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ถือว่าได้รับหมายคือวันที่ 15 มิถุนายน 2538 การนัดให้ไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2538 จึงขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 32 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จะถือว่าจำเลยไม่มาพบ ไม่พิจารณาอุทธรณ์และไม่มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยต่อศาลตามประมวลรัษฎากร มาตรา 33 ไม่ได้ เพราะเป็นโมฆะ ขอให้รอการพิจารณาพิพากษาคดีไว้ชั่วคราว แล้วส่งบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า คำร้องของจำเลยมิได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม มาตรา 3 และพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (4) (9) มาตราใดขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตราใดและขัดแย้งกันอย่างไร คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จึงให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ต่อมาหลังจากสืบพยานจำเลยเสร็จคดีอยู่ระหว่างนัดฟังคำพิพากษา จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การและคำแถลงการณ์ปิดคดี
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งว่า รับคำแถลงการณ์ปิดคดี ส่วนคำร้องขอแก้ไขคำให้การนั้นไม่รับ เพราะพ้นเวลาที่จะแก้ไขคำให้การ
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยหักจากกองทรัพย์สินของจำเลย เฉพาะค่าทนายความให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์กำหนดตามที่เห็นสมควร
จำเลยอุทธรณ์คำสั่งทั้งสามต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า การที่ศาลล้มละลายกลางสั่งในคำร้องของจำเลยเป็นคำสั่งก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี แม้เป็นคำสั่งเกี่ยวกับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 ก็เป็นคำสั่งในขั้นตอนการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลยุติธรรม จึงเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยแล้วจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำสั่งศาลล้มละลายกลางไว้แต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 226, 247 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สอง จำเลยยื่นอุทธรณ์เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2548 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังมีการประกาศใช้บังคับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2547 มาตรา 3 แล้ว จึงต้องนำบทบัญญัติตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้มาใช้บังคับ คดีนี้ศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอแก้ไขคำให้การ จำเลยอุทธรณ์ ถือว่าเป็นการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลล้มละลายตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 24 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะอุทธรณ์ได้เฉพาะกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 24 วรรคสอง (1) ถึง (5) คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่จำเลยอุทธรณ์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติดังกล่าว จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ทั้งไม่มีกรณีจำเป็นต้องแก้ไขข้อผิดพลาดตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 26 วรรคสี่ คำสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยฉบับดังกล่าวมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาวินิจฉัยประการที่สาม เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แต่เป็นปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 28 คดีนี้จำเลยอุทธรณ์การประเมินภาษีของเจ้าพนักงานประเมิน โจทก์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยโดยวิธีปิดเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2539 ซึ่งถือว่าจำเลยได้รับแล้วในวันปิดนั้นเองตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม จำเลยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลเพื่อโต้แย้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หนี้ภาษีอากรตามคำวินิจฉัยดังกล่าวจึงเด็ดขาดและเป็นหนี้ภาษีอากรค้างตามกฎหมาย ระยะเวลาที่โจทก์มีอำนาจใช้วิธีการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยผู้ค้างชำระหนี้ภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร มาตรา 12 วรรคสี่ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14 เริ่มตั้งแต่วันถัดจากวันที่จำเลยได้รับคำวินิจฉัยอุทธรณ์คือวันที่ 23 มีนาคม 2539 นับถึงวันฟ้องคดีนี้คือวันที่ 21 มีนาคม 2546 ยังไม่พ้น 10 ปี หนี้ตามฟ้องไม่ใช่หนี้ที่โจทก์หมดสิทธิบังคับคดี อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ส่งหมายเรียกของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไปยังจำเลยโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 นับระยะเวลาปิดหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง มีผลให้ถือว่าได้รับหมายวันที่ 31 พฤษภาคม 2538 และนับระยะเวลาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 32 ต้องมีผลล่วงไปอีก 15 วัน นับแต่วันที่ถือว่าได้รับหมายคือวันที่ 15 มิถุนายน 2538 การนัดให้ไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ในวันที่ 6 มิถุนายน 2538 จึงขัดต่อประมวลรัษฎากร มาตรา 32 ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 เห็นว่า ตามบันทึกการปิดหมายระบุว่าปิดหมายไว้ที่หน้าประตูบ้านจำเลยและจำเลยไม่ได้โต้แย้งว่าการปิดหมายเรียกมิได้ปิด ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลย จึงฟังได้ว่าเจ้าพนักงานของโจทก์ได้ปิดหมายเรียกในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของจำเลยแล้ว ซึ่งเจ้าพนักงานของโจทก์มีอำนาจทำได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสอง และเมื่อได้ปฏิบัติดังกล่าวถือว่าจำเลยได้รับหมายโดยชอบแล้ว ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 8 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะจึงไม่นำหลักการนับระยะเวลาปิดหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง มาใช้บังคับ เจ้าพนักงานของโจทก์ปิดหมายเรียกที่บ้านจำเลยวันที่ 16 พฤษภาคม 2538 หมายเรียกกำหนดให้จำเลยไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วันที่ 6 มิถุนายน 2538 เป็นการให้เวลาจำเลยล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน ชอบด้วยบทบัญญัติประมวลรัษฎากร มาตรา 32 แล้ว เมื่อจำเลยไม่ไปพบคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามกำหนดในหมาย คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์จึงมีอำนาจพิจารณาข้อเท็จจริงต่อไปตามที่เห็นสมควร จำเลยไม่ได้โต้แย้งเรื่องการส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จึงฟังได้ว่าโจทก์ส่งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยโดยชอบแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้าย จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ เรือตรีประหยัดพยานโจทก์เบิกความตอนหนึ่งว่า โจทก์อายัดเงินฝากธนาคารออมสินของจำเลยมาชำระหนี้แล้ว คงเหลือหนี้ 17,000,000 บาทเศษ และได้สืบหาแล้วไม่พบทรัพย์สินอย่างหนึ่งอย่างใดของจำเลยที่จะพึงยึดมาชำระหนี้อีก โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ 2 ครั้ง มีระยะเวลาห่างกันไม่น้อยกว่า 30 วัน จำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวแล้ว แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 8 (9) ฟังได้ว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ที่ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share