แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้แจ้งขอเดินทางออกจากประเทศไทยและได้รับอนุมัติให้เดินทางออกนอกประเทศไทยได้ ต่อมาจำเลยได้แจ้งถอนคำขอดังกล่าวและขออยู่ต่อ ก็ได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยต่อไปอีกชั่วคราวได้ การแจ้งข้อความเปลี่ยนแปลงเพิกถอนคำแจ้งความที่ขอเดินทางออกนอกประเทศไทยของจำเลยนั้นไม่ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหายจึงไม่เป็นผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137และการอยู่ต่อมาของจำเลยก็เป็นการอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยเขียนข้อความในบัตรแสดงการออกจากประเทศไทยแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง แต่เมื่อข้อความนั้นไม่ถือเป็นความเท็จ จำเลยก็ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 267
ย่อยาว
คดี 2 สำนวนพิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนว่า จำเลยทั้งสองเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรในฐานะเป็นบุคคลไม่นับเป็นคนเข้าเมืองได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จให้เจ้าพนักงานผู้กระทำตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 267พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 มาตรา 20(4), 58, 67 กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2493 ข้อ 13
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลแขวงพระนครเหนือพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 137, 267
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามศาลอุทธรณ์ว่า วันที่ 27 มกราคม 2510จำเลยทั้งสองได้รับอนุมัติให้เดินทางออกนอกประเทศไทยตามหนังสือแสดงการออกจากประเทศไทยซึ่งเจ้าพนักงานแผนกตรวจพาหนะทางท่าอากาศยานดอนเมืองได้ตรวจประทับตราแล้วแต่จำเลยทั้งสองไม่เดินทางออกไป (แล้วจำเลยทั้งสองไปรายงานตัวว่าไม่ได้ออกและได้ยื่นคำร้องขอเป็นคนเข้าเมือง) ในระหว่างพิจารณาขอเป็นคนเข้าเมืองจำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2510 ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยกลับใจไม่เดินทางออกไป จำเลยได้แจ้งต่อกองตรวจคนเข้าเมืองเท่ากับว่าจำเลยได้แจ้งความเปลี่ยนแปลงเพิกถอนคำแจ้งความของจำเลย ที่ว่าจะเดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรนั้นเสียแล้ว และจำเลยได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้ จึงเป็นการอยู่โดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่ทำให้ผู้ใดได้รับความเสียหาย จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยแจ้งความเท็จ ส่วนข้อหาตามมาตรา 267 นั้น ตามที่จำเลยแจ้ง (บัตรแสดงการออกจากประเทศไทย)จำเลยเขียนขึ้นเองซึ่งไม่ถือเป็นความเท็จ กรณีก็ไม่เข้าเกณฑ์ความผิดตามบทมาตราที่โจทก์ฟ้อง
พิพากษายืน