แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์มีบ้านให้บุคคลอื่นเช่าในที่ดินของโจทก์ซึ่งไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะแม้หากผู้เช่าสามารถเดินเข้าออกที่ดินพิพาทได้โดยเป็นภาระจำยอมแล้ว โจทก์จะได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่ามากขึ้นทั้งทำให้ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงขึ้นด้วย ก็ยังถือไม่ได้ว่าการที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมและรื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินพิพาท เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทล้อมรั้วที่ดินพิพาทโดยด้านหน้ามีไม้กั้นติดข้อความว่า “ที่หวงห้าม ห้ามผ่าน” ด้านหลังใช้เสาไม้อันเดียวปักไว้มีป้ายติดข้อความว่า “ที่ส่วนตัวห้ามเดิน” และด้านข้างปักป้ายมีข้อความว่า “ที่สงวนลิขสิทธิ์” แต่ต่อมาในเดือนเดียวกันมีผู้รื้อถอนไม้ที่ใช้กั้นที่ดินพิพาทออก โจทก์ที่ 1 ที่ 2ที่ 3 และผู้ที่เคยใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกก็ยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกต่อมาอีก การกั้นรั้วไม้ดังกล่าวไม่มีผลให้รับฟังว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ที่ดินพิพาทโดยความไม่สงบหรือมิได้ใช้ติดต่อกันมาเกิน 10 ปี บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1387 และมาตรา 1393 แสดงว่าสิทธิการใช้ที่ดินพิพาทอันตกเป็นภาระจำยอมกฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์หาได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ ทั้งตกติดไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสามยทรัพย์นั้นด้วย เมื่อปรากฏว่าขณะที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกจากที่ดินของตนไปสู่ทางสาธารณะ แม้ต่อมาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะได้โอนขายที่ดินของตนแก่บุคคลอื่น ก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2ระงับไปไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินรวม 9 แปลง โจทก์ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินคนละ 1 แปลง ตั้งอยู่ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมืองสมุทรสาครจังหวัดสมุทรสาคร จำเลยเป็นบุตรนางสุภาพร วงศ์เชิดขวัญ เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุภาพรที่ดินของโจทก์ทั้งสี่อยู่ติดถนนสาธารณประโยชน์ โดยอยู่ทางทิศตะวันตกของถนนสาธารณประโยชน์ ส่วนที่ดินพิพาทอยู่ทางทิศตะวันออกของถนนสาธารณประโยชน์ และอยู่ติดกับถนนเศรษฐกิจ 1 ซึ่งเป็นถนนสาธารณประโยชน์ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของถนนเศรษฐกิจ 1 โจทก์ทั้งสี่และเจ้าของที่ดินเดิมได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเดิน ใช้รถยนต์และยานพาหนะอื่นเข้าออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 กว้างประมาณ 5 เมตร ยาวประมาณ60 เมตร ติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้ภาระจำยอมไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ที่ดินพิพาทจึงต้องตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ต่อมาจำเลยได้ทำรั้วคอนกรีตปิดกั้นทางภาระจำยอม ทำให้โจทก์ทั้งสี่และบุคคลอื่นไม่สามารถใช้รถยนต์และยานพาหนะอื่นเข้าออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 ได้ ขอให้บังคับจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุภาพรวงศ์เชิดขวัญ จดทะเบียนภาระจำยอมกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวจากถนนเศรษฐกิจ 1 จดถนนสาธารณประโยชน์ประมาณ 60 เมตร ลงในโฉนดที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนรั้วคอนกรีตที่ปิดกั้นทางภาระจำยอมและทำให้ทางภาระจำยอมกลับคืนสู่สภาพใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม หากจำเลยไม่ยอมรื้อให้โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รื้อแทนโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า โจทก์ได้อาศัยหรือถือวิสาสะผ่านที่ดินพิพาทไม่ได้ใช้เป็นทางเข้าออกสู่ถนนเศรษฐกิจ 1 โดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้ภาระจำยอม แต่อย่างไรก็ดีระยะเวลาที่โจทก์ใช้เดินผ่านเข้าออกในที่ดินพิพาทไม่ถึง 10 ปี โจทก์จึงไม่เกิดสิทธิภาระจำยอมโดยอายุความ เดิมที่ดินพิพาทซึ่งติดอยู่กับถนนเศรษฐกิจ 1 และที่ดินแปลงอื่น ๆ ที่อยู่ติดกับถนนเศรษฐกิจ 1 และติดกับที่ดินพิพาท เป็นที่ดินว่างเปล่า โดยเป็นที่ดินที่คั่นระหว่างถนนเศรษฐกิจ 1 กับที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากเจ้าของเดิมซึ่งเป็นที่ดินว่างเปล่าเช่นเดียวกัน มิได้มีการใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกเลย ต่อมาเจ้าของที่ดินเดิมได้จัดสรรแบ่งขายให้บุคคลภายนอกและได้แบ่งแยกที่ดินบางส่วนให้เป็นทางสาธารณะ และสามารถออกไปสู่ทางสาธารณะคือถนนท่าปรงและซอยสี่มิตรได้โดยสะดวก ครั้นต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ.2517 ถึง พ.ศ. 2519 โจทก์ได้มาซื้อที่ดินตามฟ้องจากเจ้าของเดิมและประมาณปี พ.ศ. 2518 โจทก์ได้ปลูกบ้านเพื่อให้บุคคลภายนอกเช่าและอยู่อาศัยโดยผู้เช่าและอาศัยในที่ดินของโจทก์นั้น ได้ใช้ที่ดินพิพาทและที่ดินแปลงอื่นที่คั่นอยู่ระหว่างถนนเศรษฐกิจ 1 กับที่ดินที่เจ้าของเดิมจัดสรรเป็นทางเดินเข้าออกชั่วคราวโดยมิได้เจาะจงว่าทางเดินนั้นจะอยู่ ณ ที่ใดซึ่งทางเดินเข้าออกนี้ผู้ใช้ทางมิได้มีเจตนาที่จะใช้ให้เป็นทางเดินภาระจำยอม โดยต้องการเดินผ่านเพื่อความสะดวกเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ต่อมาประมาณต้นปี พ.ศ. 2519มารดาจำเลยได้สงวนสิทธิในที่ดินพิพาทมิให้บุคคลภายนอกใช้เป็นทางเดินเข้าออกโดยสงบและโดยเปิดเผยได้ โดยมารดาจำเลยได้ทำรั้วกั้นตามแนวเขตที่ดินพิพาท แต่ต่อมาปรากฏว่าได้มีบุคคลภายนอกบุกรุกที่ดินพิพาทและรื้อถอนรั้วที่มารดาจำเลบได้สร้างทำไว้ ในวันที่ 19 ตุลาคม2519 มารดาจำเลยจึงไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร การที่โจทก์เข้าออกผ่านที่ดินพิพาทสู่ถนนเศรษฐกิจ 1นั้น เป็นเพราะโจทก์เห็นว่าการเดินผ่านดังกล่าวเป็นการออกไปสู่ทางสาธารณะได้สะดวกกว่าการออกไปสู่ทางสาธารณะอื่นคือถนนท่าปรงและซอยสี่มิตร ประกอบกับโจทก์มีบ้านให้บุคคลภายนอกเช่าโดยเก็บค่าเช่าอยู่ประมาณ 20 หลังคาเรือน หากผู้เช่าสามารถเดินผ่านเข้าออกที่ดินพิพาทได้โดยเป็นภาระจำยอมแล้ว โจทก์จะได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่าได้มากขึ้นกว่าค่าเช่าเดิม อีกทั้งจะทำให้ราคาที่ดินของโจทก์สูงตามขึ้นไปด้วยการที่โจทก์นำคดีนี้มาฟ้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุภาพร วงศ์เชิดขวัญ จดทะเบียนทางภาระจำยอมกว้างยาวตามแผนที่พิพาท หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยรื้อถอนคอนกรีตที่ปิดกั้นทางภาระจำยอมและทำให้ทางภาระจำยอมกลับคืนสู่สภาพใช้ประโยชน์ได้ดังเดิม หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รื้อแทน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสุภาพร วงศ์เชิดขวัญ จดทะเบียนทางภาระจำยอมในที่ดินพิพาทกว้างยาวตามแผนที่พิพาทแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 6819, 6823, 6824 ของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามลำดับ ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ 1 ที่ 2และที่ 3 เฉพาะที่ว่าหากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนรั้วคอนกรีตให้โจทก์ทั้งสี่เป็นผู้รื้อแทน โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย กับให้ยกฟ้องของโจทก์ที่ 4
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่าโจทก์มีบ้านให้บุคคลอื่นเช่า หากผู้เช่าสามารถเดินเข้าออกที่พิพาทได้โดยเป็นภาระจำยอมแล้ว โจทก์ก็จะได้ประโยชน์จากการเก็บค่าเช่ามากขึ้น ทั้งทำให้ที่ดินของโจทก์มีราคาสูงด้วย เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้เช่นนั้น ก็ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตแต่อย่างใด
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่ 2 มีว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นภาระจำยอมของที่ดินโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 หรือไม่ โจทก์ที่ 1ที่ 2 ที่ 3 นำสืบว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกระหว่างที่ดินของตนกับถนนเศรษฐกิจ 1 ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกิน 10 ปีที่จำเลยนำสืบโต้แย้งว่า เมื่อต้นเดือนตุลาคม2519 นางสุภาพรมารดาจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในขณะนั้น ได้ล้อมรั้วที่ดินพิพาทโดยด้านที่ติดถนนเศรษฐกิจ 1 ทำเป็นไม้กั้นมีป้ายติดข้อความว่า “ที่หวงห้าม ห้ามผ่าน” ที่ดินพิพาทด้านหลังใช้เสาไม้อันเดียวปักไว้มีป้ายติดข้อความว่า “ที่ส่วนตัวห้ามเดิน” และด้านข้างของที่ดินพิพาทด้านหนึ่งได้ปักป้ายมีข้อความว่า “ที่สงวนลิขสิทธิ์” ปรากฏตามภาพถ่ายหมาย ล.5 ถึง ล.12 เห็นว่าเมื่อนางสุภาพรใช้ไม้กั้นที่ดินพิพาทดังกล่าว ต่อมาได้มีผู้รื้อถอนไม้ที่ใช้กั้นในเดือนเดียวกันนั้น เมื่อไม้ที่ใช้กั้นที่ดินพิพาทถูกรื้อถอนออกไปแล้ว โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และผู้ที่เคยใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกก็ยังคงใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางผ่านเข้าออกต่อมาอีก ดังนี้ การกั้นรั้วไม้ในที่ดินพิพาทตามที่จำเลยนำสืบจึงไม่มีผลให้รับฟังได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ที่ดินพิพาทโดยความไม่สงบหรือมิได้ใช้ติดต่อกันมาเกิน 10 ปี แต่อย่างใดศาลฎีกาเห็นว่า คำพยานโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีน้ำหนักยิ่งกว่าพยานจำเลย น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ได้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางสัญจรผ่านเข้าออกระหว่างถนนเศรษฐกิจ 1 กับที่ดินของโจทก์แต่ละคนเป็นเวลากว่า 10 ปี โดยสงบเปิดเผย ทั้งตามพฤติการณ์ไม่อาจถือได้ว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ใช้ที่ดินพิพาทโดยการถือวิสาสะ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382
จำเลยฎีกาในข้อสุดท้ายว่า ปัจจุบันโจทก์ที่ 2 ที่ 3 ไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 6823 และเลขที่ 6824 โดยโอนขายให้บุคคลอื่นไปแล้ว ภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา โจทก์ที่ 2ที่ 3 จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1387 บัญญัติว่า “อสังหาริมทรัพย์อาจต้องตกอยู่ในภาระจำยอมอันเป็นเหตุให้เจ้าของต้องยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนหรือต้องงดเว้นการใช้สิทธิบางอย่างอันมีอยู่ในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินนั้น เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์อื่น” และในมาตรา1393 บัญญัติเป็นข้อความว่า ภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์แสดงว่าสิทธิการใช้ที่ดินพิพาทอันตกเป็นภาระจำยอมนี้กฎหมายบัญญัติเพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ หาได้มุ่งเพื่อประโยชน์ของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะไม่ ทั้งตกติดไปยังผู้รับโอนอสังหาริมทรัพย์อันเป็นสามยทรัพย์นั้นด้วย เมื่อปรากฎว่าขณะที่โจทก์ที่ 1 ที่ 2ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ โจทก์ที่ 1 ที่ 2 ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางออกจากที่ดินของตนไปสู่ทางสาธารณะ แม้ต่อมาภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โจทก์ที่ 1 ที่ 2 จะได้โอนขายที่ดินของตนแก่บุคคลอื่นก็หาทำให้อำนาจฟ้องของโจทก์ที่ 1 ที่ 2 ในคดีนี้ระงับไปไม่
พิพากษายืน.