แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้เก็บเงินค่าวัสดุก่อสร้างจากลูกหนี้ของโจทก์ จำเลยเก็บเงินดังกล่าวแล้วมิได้นำส่งโจทก์ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กลับเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้มีอำนาจหน้าที่จัดการทรัพย์สินของโจทก์และจำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงคงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 352 วรรคแรก เท่านั้น หาเป็นความผิดตามมาตรา 353 ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 353 ด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างต้นเดือนสิงหาคม 2541 ถึงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2541 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้เก็บเงินค่าวัสดุก่อสร้างจากลูกหนี้ของโจทก์ ซึ่งค้างชำระค่าสินค้าโจทก์จำนวน 100,000 บาท จำเลยเก็บเงินดังกล่าวจากลูกหนี้โจทก์แล้วแต่มิได้นำส่งโจทก์ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กลับเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352, 353 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์ให้เป็นผู้เก็บเงินค่าวัสดุก่อสร้างจากลูกหนี้ของโจทก์ จำเลยเก็บเงินดังกล่าวแล้วมิได้นำส่งโจทก์ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กลับเบียดบังเอาเงินดังกล่าวเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต โดยโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยได้รับมอบหมายจากโจทก์และจำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงคงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก เท่านั้น หาเป็นความผิดตามมาตรา 353 ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ปรับบทลงโทษจำเลยตามมาตรา 353 ด้วยนั้นจึงไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4