คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6548/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าความเสียหายของทางพิพาทเกิดจากการแก้ไขแบบแปลนของโจทก์เองจากการใช้หินคลุกมาเป็นกรวดคลุกแทนนั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสองมิได้กล่าวแก้ไว้ในคำให้การ ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อโจทก์ตรวจพบความเสียหายครั้งแรกวันที่ 16 มีนาคม 2527โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ไปซ่อมแซมเมื่อวันที่12 เมษายน 2527 และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้วหลังจากนั้นโจทก์ยังมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2ให้ไปซ่อมแซมอีกหลายครั้ง ตามหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2527วันที่ 31 มีนาคม 2529 และวันที่ 22 ตุลาคม 2530 ดังนี้โจทก์เป็นหน่วยราชการอยู่ในกรุงเทพมหานคร ส่วนทางพิพาทอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส การที่โจทก์แจ้งความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 หลังจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทราบความเสียหายครั้งแรกประมาณ 27 วัน จึงเป็นเวลาอันสมควรแล้วยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนบกพร่องในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ส่วนการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายนั้น ทางจังหวัดนราธิวาสเคยเข้าไปซ่อมทางโดยนำดินลูกรังไปลง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ซ่อมแซมทางพิพาทโจทก์ก็ได้ว่าจ้างเอกสารรายอื่นซ่อมแซมแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่รับแก่ไขเพื่อบรรเทาความเสียหาย สัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มีความว่าเมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อยและผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างคนใหม่ในกรณีผู้รับจ้างผิดสัญญาและผู้ว่าจ้างใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ 5ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ภายในกำหนด1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงานโดยให้นับวันที่ได้รับมอบงานเป็นวันเริ่มต้น ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องผู้รับจ้าง จะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สิ่งของที่ไม่ดี หรือทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาก็ตามผู้รับจ้างต้องรีบแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างจะกำหนด โดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของค่าแรงงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ว่าจ้างอีกถ้าผู้รับจ้างบิดพลิ้ว ไม่แก้ไขซ่อมแซมภายในกำหนด 15 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้าง โดยให้นับวันที่ได้รับแจ้งเป็นวันเริ่มต้น หรือถ้าผู้รับจ้างแก้ไขซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ผู้ว่าจ้างกำหนดผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานจ้างนั้นแทนผู้รับจ้างได้ถ้างานที่จ้างเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจากระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ด้วย ดังนั้น จึงมีผลบังคับว่าตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางพิพาทภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงาน ถ้าเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 และตามสัญญาจ้างเหมา ข้อ 6 วรรคสอง หมายความว่า นอกจากทางพิพาทเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจาก 1 ปีตามวรรคหนึ่งแล้วจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานวันที่ 20 เมษายน 2526 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความชำรุดบกพร่องวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 และวันที่ 1 เมษายน 2530 ซึ่งอยู่ภายในกำหนด 5 ปี ดังนี้ความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อยังไม่พ้นระยะเวลาความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมาจำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องด้วยมูลเหตุเดียวกัน แม้จะเป็นความเสียหายคนละจุดไม่ซ้ำซ้อนกันแต่ก็อยู่ในทางพิพาทนั่นเอง ขณะโจทก์ฟ้องสำนวนแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2531โจทก์พบความเสียหายในสำนวนหลังแล้ว สิทธิหรือมูลฟ้องของโจทก์จึงมีอยู่แล้วขณะฟ้องสำนวนแรก ศาลชั้นต้นชี้สองสถานสำนวนแรกวันที่ 1 เมษายน 2531 โจทก์จึงชอบที่จะแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์ในสำนวนแรกได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 180ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่โจทก์ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นการฟ้องซ้อน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่าเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2523 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1ให้ทำการก่อสร้างและราดยางทางเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงภายในเขตกองทัพภาคที่ 4 สายบ้านโต๊ะโม๊ะ-สว. นิคมสร้างตนเองกิ่งอำเภอสุคิริน อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ระยะทาง14.850 กิโลเมตร เป็นราคารวมทั้งสิ้น 28,900,000 บาท โดยจำเลยจะเริ่มลงมือทำงาน ณ สถานที่ที่กำหนดภายในวันที่25 มิถุนายน 2523 และให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 17 กันยายน 2524ให้ถูกต้องตามแบบรูปและรายละเอียดที่แนบท้ายสัญญารายละเอียดปรากฏตามสำเนาสัญญาจ้างเหมาเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทั้งสองสำนวน จำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างและราดยางทางเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงภายในเขตกองทัพภาคที่ 4ตามสัญญาแล้วเสร็จและส่งมอบงานงวดสุดท้ายให้โจทก์เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2526 รายละเอียดตามสำเนาบันทึกรายงานการตรวจรับงานจ้างฯ ลงวันที่21 เมษายน 2526 และสำเนาหนังสือส่งมอบงานของจำเลยที่ 1เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 และหมายเลข 4 ทั้งสองสำนวนต่อมาเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2527 เจ้าหน้าที่โจทก์ตรวจพบว่าทางเร่งด่วนที่จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวเกิดชำรุดเสียหายเป็นช่วง ๆ เป็นบางตอนตั้งแต่ช่วงกิโลเมตรที่ 0+000 ถึง 12+799 รายละเอียดความชำรุดเสียหายตามสำเนาบัญชีสรุปความเสียหายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ทั้งสองสำนวน ทั้งนี้มีสาเหตุเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างไว้ไม่เรียบร้อย นำสิ่งของที่ไม่มีมาใช้ในการก่อสร้าง และก่อสร้างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ รายละเอียดตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 6 ทั้งสองสำนวน รวมเป็นพื้นที่ผิวจราจรราดยางที่ชำรุดเสียหายซึ่งตรวจพบในครั้งแรก20,012 ตารางเมตร แล้วต่อมาได้ตรวจพบความชำรุดเสียหายเพิ่มเติมอีกเป็นพื้นที่ผิวจราจรเสียหาย 1,340 ตารางเมตร ต่อมาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 เจ้าหน้าที่โจทก์ตรวจพบว่าทางเร่งด่วนที่จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวเกิดชำรุดเสียหายเป็นช่วง ๆ เป็นบางตอนเพิ่มเติมขึ้นอีกตั้งแต่ช่วงกิโลเมตรที่ 0+025 ถึง 11+422 ตามสำเนารายละเอียดความเสียหายผิวจราจรราดยางเพิ่มเติมใหม่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 ทั้งสองสำนวน คิดเป็นพื้นที่ต้องซ่อมผิวจราจรราดยางเพิ่มเติมใหม่ จำนวน8,668 ตารางเมตร คิดเป็นค่าเสียหายในการซ่อมแซมเป็นราคาปัจจุบัน ราคาต่อหน่วย 58.99 บาท รวมเป็นเงิน511,325 บาท การซ่อมงานชั้นพื้นทาง (บดอัดแน่น) เพิ่มเติมใช้ปริมาณกรวดคลุกจำนวน 145 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นค่าเสียหายในการซ่อมแซมเป็นราคาขณะฟ้องต่อหน่วย295.37 บาท รวมเป็นเงิน 42,829 บาท และเป็นค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงร้อยละห้า เป็นเงิน 27,706 บาท รวมเป็นเงินค่าเสียหายในการซ่อมแซมความเสียหายที่ตรวจพบเพิ่มเติมครั้งหลังเป็นเงินทั้งสิ้น 581,860 บาท รายละเอียดตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 สำนวนแรกต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2530 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบว่าทางเร่งด่วนที่จำเลยที่ 1 รับจ้างก่อสร้างตามสัญญาดังกล่าวเกิดชำรุดบกพร่องเสียหายเป็นช่วง ๆ เป็นบางตอนเพิ่มขึ้นอีกตั้งแต่ช่วงกิโลกรัม0+080 ถึง 14+850 ตามสำเนารายละเอียดความเสียหายเพิ่มเติมของผิวการจราจรราดยาง และส่วนที่เสียหายถึงชั้นรองพื้นทางต้องทำการรื้อของเดิมและราดยางใหม่เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 8 สำนวนหลังซึ่งเกิดจากจำเลยที่ 1 ก่อสร้างผิดสัญญา คิดเป็นส่วนที่เสียหายเฉพาะผิวจราจรราดยางจำนวน 35,070 ตารางเมตร และส่วนที่เสียหายถึงชั้นรองพื้นทางต้องทำการรื้อของเดิมและราดยางใหม่ จำนวน 5,015 ตารางเมตร รวม40,085 ตารางเมตร คิดเป็นค่าเสียหายในการซ่อมแซมเป็นราคาปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 2,062,090 บาท รายละเอียดตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 สำนวนหลังโจทก์มีหนังสือแจ้งถึงความเสียหาย ปริมาณงานและเงินค่าแก้ไขให้คงสภาพเดิมให้จำเลยที่ 1 ทราบ และจำเลยที่ 1 ได้รับแล้วตามสำเนาหนังสือฯ และใบตอบรับเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9และหมายเลข 10 สำนวนแรก เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 10และหมายเลข 11 สำนวนหลัง แต่จำเลยที่ 1 เพิกเฉยโจทก์จึงใช้สิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานจ้างนี้แทนจำเลยที่ 1โดยโจทก์ได้คิดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขซ่อมแซมความชำรุดบกพร่องเสียหายที่ตรวจพบ และตรวจพบเพิ่มเติมตามจำนวนที่โจทก์ต้องเสียไปโดยสิ้นเชิง เป็นเงินจำนวน 581,860 บาท และ2,062,090 บาท ตามลำดับ ซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์ตามสัญญาจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการและเป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินจำนวน581,860 บาท และจำนวน 2,062,090 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การทั้งสองสำนวนเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับจ้างเหมาทำการก่อสร้างและราดยางทางเร่งด่วนระยะทาง 14.85 กิโลเมตร เสร็จเรียบร้อยและส่งมอบให้โจทก์ตามสัญญาแล้วเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2526โดยมีคณะกรรมการของโจทก์ตรวจสอบและรับมอบงานที่จำเลยที่ 1 ก่อสร้างถูกต้องตามสัญญาทุกประการการก่อสร้างและราดยางถนนสายนี้ นอกจากจำเลยที่ 1จะควบคุมการก่อสร้างอยู่เองตอลดเวลาแล้ว โจทก์ก็แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ของโจทก์มาคุมงานก่อสร้างตลอดเวลาจนแล้วเสร็จความชำรุดเสียหายของถนนสายนี้ไม่ได้เกิดจากบกพร่องในการดำเนินการก่อสร้างผิวจราจรราดยางของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องมือและช่างฝีมือดีวัสดุต่าง ๆเป็นชนิดดีตรงตามรายละเอีดย ได้รับการทดสอบคุณภาพว่าถูกต้อง ซึ่งผู้ควบคุมงานของโจทก์อนุญาตและรับรองแล้วว่าถูกต้องตามหลักวิชาที่โจทก์กำหนดไว้ทุกประการกรวดคลุกและหินย่อยเป็นไปตามข้อกำหนดในสัญญาผ่านการตรวจสอบแล้ว มีความสะอาดปราศจากฝุ่นและสารอินทรีย์เจือปน เมื่อนำไปบดอัดเสร็จจำเลยที่ 1 ทำความสะอาดพ่นฝุ่นออกหมกแล้วพ่นยางมะตอยตามชนิดและเกรดที่ระบุไว้ในแบบงานที่จำเลยที่ 1 ทำเสร็จถูกต้องสมบูรณ์ได้มาตรฐานเป็นไปตามสัญญาที่ทำไว้ทุกประการ ผ่านขั้นตอนการคุมงานและการตรวจรับมอบงานของฝ่ายโจทก์ ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ใช่เกิดจากการทำงานของจำเลยที่ 1 แต่เกิดจากเหตุธรรมชาติและการกระทำของบุคคลอื่นในภายหลัง กล่าวคือ ในปี 2526 ถึง 2528 ได้เกิดภาวะน้ำท่วมหสักโดยทั่วไปในจังหวัดนราธิวาส ถนนในส่วนที่เสียหายนั้นล้วนถูกน้ำท่วมทั้งสิ้น และโจทก์ไม่ได้ปิดถนนในขณะน้ำท่วมรถขนาดใหญ่ เช่น รถบรรทุกสิบล้อสัญจรไปมาเป็นประจำทุกวัน วันละหลายเที่ยว และบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่ถนนจะรับได้เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นโจทก์ละเลยมิได้บรรเทาความเสียหาย และมิได้แจ้งเหตุความเสียหายให้จำเลยที่ 1 ทราบในทันที ความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน40,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ ความเสียหายของโจทก์ได้ล่วงเลยระยะเวลาประกันแล้ว คือภายในกำหนด 1 ปี นับแต่ได้รับมอบงานไปจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 20 เมษายน 25216 ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ฟ้องโจทก์สำนวนหลังเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4920/2528คดีหมายเลขแดงที่ 6532/2529 และเป็นฟ้องซ้อนกับสำนวนแรก ทั้งฟ้องโจทก์สำนวนแรกเป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 4920/2528 คดีหมายเลขแดงที่ 6532/2529 ของศาลชั้นต้นขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินในสำนวนแรกจำนวน 581,860 บาท และในสำนวนหลังจำนวน2,062,090 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้อง (วันที่ 29 มกราคม 2531 และวันที่ 31 มีนาคม 2531 ตามลำดับ) จนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่9 มิถุนายน 2523 โจทก์ทำสัญญาจ้างเหมาจำเลยที่ 1 ก่อสร้างราดยางทางเร่งด่วนเพื่อความมั่นคงภายในเขตกองทัพภาคที่ 4สายบ้านโต๊ะโม๊ะ-สว. นิคมสร้างตนเอง กิ่งอำเภอสุคิรินอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ระยะทาง 14.850 กิโลเมตรเป็นเงิน 28,900,000 บาท ตามสำเนาสัญญาเอกสารหมาย จ.1จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1ก่อสร้างทางแล้วเสร็จและโจทก์รับมอบงานเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2526 ต่อมาปรากฏว่าทางดังกล่าวชำรุดเสียหาย เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความเสียหายเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2527 โจทก์จึงฟ้องจำเลยกับพวกให้รับผิดเป็นเงิน 1,494,640 บาท ตามคดีหมายเลขดำที่4920/2528 หมายเลขแดงที่ 6532/2529 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่25 กรกฎาคม 2528 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความเสียหายอีกโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดเป็นเงิน 581,860 บาทเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2531 เป็นสำนวนแรก ต่อมาวันที่ 1 เมษายน 2530 เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความเสียหายอีก โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดเป็นเงิน2,062,090 บาท เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2531 เป็นสำนวนหลังคดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่าความชำรุดเสียหายของทางพิพาทที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 และวันที่ 1 เมษายน 2530เกิดจากความบกพร่องในการก่อสร้างทางของจำเลยที่ 1หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ความชำรุดเสียหายของทางพิพาทที่เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2528 และวันที่ 1 เมษายน 2530 เกิดจากความบกพร่องในการก่อสร้างทางของจำเลยที่ 1ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ความเสียหายของทางพิพาทเกิดจากการแก้ไขแบบแปลนของโจทก์เองจากการใช้หินคลุกมาเป็นกรวดคลุกแทนนั้น เห็นว่า ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสองมิได้กล่าวแก้ไว้ในคำให้การ ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยให้ก็ถือว่าเป็นข้อที่มิได้กว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สองว่าโจทก์มีส่วนบกพร่องในความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยเพราะไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบและไม่รีบแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายหรือไม่ ปรากฏว่าเมื่อโจทก์ตรวจพบความเสียหายครั้งแรกวันที่ 16 มีนาคม 2527 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ไปซ่อมแซมเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2527ตามสำเนาเอกสารหมาย จ.7 และจำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือแล้วตามสำเนาใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.8 หลังจากนั้นโจทก์ยังมีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 ให้ไปซ่อมแซมอีกหลายครั้งตามหนังสือลงวันที่ 7 ธันวาคม 2527 วันที่ 31 มีนาคม 2529และวันที่ 22 ตุลาคม 2530 ตามเอกสารหมาย จ.12 จ.22 และ จ.52ตามลำดับ เห็นว่า โจทก์เป็นหน่วยราชการอยู่ในกรุงเทพมหานครส่วนทางพิพาทอยู่ที่จังหวัดนราธิวาส การที่โจทก์แจ้งความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 หลังจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ทราบความเสียหายครั้งแรกประมาณ 27 วัน จึงเป็นเวลาอันสมควรแล้ว ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนบกพร่องในความเสียหายที่เกิดขึ้นเพราะไม่รีบแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ ส่วนการแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายนั้นได้ความจากคำเบิกความของนายปัญญา หลักเมืองพยานโจทก์ว่า ทางจังหวัดนราธิวาสเคยเข้าไปซ่อมทางโดยนำดินลูกรังไปลง และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ซ่อมแซมทางพิพาทโจทก์ก็ได้ว่าจ้างเอกชนรายอื่นซ่อมแซมแล้วจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ไม่รีบแก้ไขเพื่อบรรเทาความเสียหายฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่สามว่าความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อพ้นระยะเวลาความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแล้วหรือไม่ เห็นว่า สัญญาจ้างเหมาตามสำเนาเอกสารหมาย จ.1 ข้อ 6 วรรคหนึ่งและวรรคสองมีความว่า เมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อยและผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างคนใหม่ในกรณีผู้รับจ้างผิดสัญญาและผู้ว่าจ้างใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ 5 ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับมอบงานโดยให้นับวันที่ได้รับมอบงานเป็นวันเริ่มต้น ซึ่งเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของผู้รับจ้างจะเป็นโดยทำไว้ไม่เรียบร้อยหรือใช้สิ่งของที่ไม่ดี หรือทำไม่ถูกต้องตามหลักวิชาก็ตาม ผู้รับจ้างต้องรีบแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ว่าจ้างจะกำหนด โดยไม่คิดเอาค่าสิ่งของ ค่าแรงงาน หรือค่าใช้จ่ายอื่นใดจากผู้ว่าจ้างอีกผู้รับจ้างบิดพลิ้ว ไม่แก้ไขซ่อมแซมภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือจากผู้ว่าจ้างโดยให้นับวันที่ได้รับแจ้งเป็นวันเริ่มต้น หรือแก้ไขซ่อมแซมไม่แล้วเสร็จเรียบร้อยภายในวันที่ผู้ว่าจ้างกำหนดผู้ว่าจ้างมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานจ้างนั้นแทนผู้รับจ้างได้ถ้างานที่จ้างเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจากระยะเวลาที่กำหนดข้างต้น ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ด้วย และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 บัญญัติว่า”ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิดเพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายใน 1 ปี นับแต่วันส่งมอบหรือที่ปรากฏขึ้นภายใน5 ปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดินนอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้” ดังนั้น จึงมีผลบังคับว่า ตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคหนึ่ง จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชอบต่อความชำรุดเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ทางพิพาทภายในกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับมอบงาน ถ้าเหตุชำรุดเสียหายนั้นเกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 และตามสัญญาจ้างเหมาข้อ 6 วรรคสอง หมายความว่า นอกจากทางพิพาทเกิดการชำรุดบกพร่องเสียหายขึ้นหลังจาก 1 ปี ตามวรรคหนึ่ง แล้วจำเลยที่ 1 ผู้รับจ้างยังต้องรับผิดต่อความชำรุดบกพร่องที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เมื่อจำเลยที่ 1 ส่งมอบงานวันที่ 20 เมษายน 2526เจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความชำรุดบกพร่องวันที่25 กรกฎาคม 2528 และวันที่ 1 เมษายน 2530 ซึ่งอยู่ภายในกำหนด 5 ปี ดังนี้ความเสียหายตามฟ้องเกิดขึ้นเมื่อยังไม่พ้นระยะเวลาความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างเหมา จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิด
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่ 4 ว่าโจทก์เสียหายเป็นจำนวนตามฟ้องหรือไม่ จำเลยทั้งสองไม่มีพยานมาสืบหักล้างพยานโจทก์ศาลฎีกาพิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ประกอบเอกสารหมาย จ.19 และ จ.32 แล้วเห็นว่าโจทก์คิดคำนวณค่าวัสดุ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ โดยละเอียด หากจำเลยทั้งสองเห็นว่าจุดใดคิดคำนวณไม่ถูกต้องก็สามารถที่จะชี้ให้ศาลเห็นได้โดยง่าย แต่จำเลยทั้งสองหาได้กระทำไม่ คดีจึงฟังได้ว่าโจทก์เสียหายเป็นจำนวนตามฟ้อง
คดีมีปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการที่ห้าว่าคำฟ้องสำนวนหลังเป็นฟ้องซ้อนกับคำฟ้องสำนวนแรกหรือไม่โจทก์ฟ้องสำนวนแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2531 หลังจากเจ้าหน้าที่ของโจทก์ตรวจพบความเสียหายของทางพิพาทในสำนวนหลังวันที่ 1 เมษายน 2530 และนายอาคม สมพงษ์ตรวจสอบแบบแปลนและประมาณการค่าซ่อมบำรุงทางพิพาทเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2531 ตามเอกสารหมาย จ.32 โจทก์โดยนายชัยวัฒน์ อรุโณทัยวิวัฒน์ รองเลขาธิการ ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการเร่งรัดพัฒนาชนบททราบเรื่องเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2531 ตามสำเนาบันทึกข้อความเอกสารหมายจ.34 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังโจทก์ฟ้องสำนวนแรกแล้ว โจทก์บรรยายฟ้องในสำนวนหลังและนำสืบฟังได้ว่า ความเสียหายของทางพิพาทในสำนวนหลังเป็นคนละจุดไม่ซ้ำซ้อนกันกับสำนวนแรกตามประมาณการซ่อมเอกสารหมาย จ.32 ศาลฎีกาเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองทั้งสองสำนวนให้รับผิดชอบในความชำรุดบกพร่องด้วยมูลเหตุเดียวกัน แม้จะเป็นความเสียหายคนละจุดไม่ซ้ำซ้อนกัน แต่ก็อยู่ในทางพิพาทนั่นเองขณะโจทก์ฟ้องสำนวนแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2531โจทก์พบความเสียหายในสำนวนหลังแล้ว สิทธิหรือมูลฟ้องของโจทก์จึงมีอยู่แล้วขณะฟ้องสำนวนแรกศาลชั้นต้นชี้สองสถานสำนวนแรกวันที่ 1 เมษายน 2531โจทก์จึงชอบที่จะขอแก้ไขคำฟ้องเพิ่มเติมจำนวนทุนทรัพย์ในสำนวนแรกได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น การที่โจทก์ฟ้องสำนวนหลังจึงเป็นการฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1)
อนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาครั้งแรกจำนวน20,765 บาท ครั้งที่ 2 จำนวน 72,935 บาท และค่าขึ้นศาลอนาคตอีก 100 บาทรวมเป็นเงิน 93,800 บาท นั้น เป็นการเสียเกินมา เนื่องจากค่าขึ้นศาลชั้นฎีการวมทั้งค่าขึ้นศาลอนาคตทั้งสองสำนวนที่จำเลยทั้งสองจะต้องเสียเป็นเงินเพียง66,300 บาท จำเลยทั้งสองจึงเสียค่าขึ้นศาลเกินมา 27,500 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำนวนหลัง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share