คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6543/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง กำหนดให้มีการยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยกรัม ขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ดังนั้น การที่จำเลยมีฝิ่นหรือฝิ่นดิบของกลางซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษ ในประเภท 2 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1,010 กรัม จึงต้องถือว่าจำเลยมีฝิ่นหรือฝิ่นดิบของกลางไว้ในครอบครอง เพื่อจำหน่าย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522 มาตรา 4, 6, 7, 8, 17, 69, 102 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 83 ริบของกลางทั้งหมด
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 17 วรรคสอง,69 วรรคสี่ จำคุก 15 ปี จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องบนถนนสายบ่อเกลือ-ปัว โฉมหน้าไปทางอำเภอปัว ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 8 ถึง 9 ตามแผนที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.8 ซึ่งมีชายสวมหมวกนิรภัยยืนอยู่ข้างรถจักรยานยนต์ยี่ห้อฮอนด้า รุ่นโนวา สีแดง ที่จอดอยู่ริมถนนด้านขวามือ จำเลยได้ขับรถยนต์กระบะสีน้ำเงินหมายเลขทะเบียน น.5475 แพร่ ของจำเลยไปหยุดจอดที่บริเวณดังกล่าว แล้วจำเลยได้ยกกระสอบป่านลงจากท้าย รถยนต์ คันดังกล่าวไปวางไว้ข้างถนนและขับรถยนต์กระบะออกไป ต่อมาร้อยตำรวจเอกสุจิน สุทธิแสน กับพวกตรวจพบว่าในกระสอบป่านดังกล่าวมีฝิ่นดิบจำนวน 7 ห่อ น้ำหนัก 10,309 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์1,010 กรัม ซุกซ่อนอยู่ จึงยึดไว้เป็นของกลางและติดตามจับกุมจำเลยส่งพนักงานสอบสวนพร้อมของกลางเพื่อดำเนินคดี กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ร้อยตำรวจเอกสุจิน สุทธิแสนสิบตำรวจเอกมานพ มาลารัตน์ และสิบตำรวจโทเผ่าพันธุ์ ทุนกาศ พยานโจทก์ต่างเบิกความยืนยันต้องกันว่า ในวันเกิดเหตุเมื่อพยานทั้งสามเสร็จสิ้นภารกิจจากการไปตรวจจับผู้กระทำผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติป่าไม้แล้ว ได้เดินทางกลับโดยรถยนต์บรรทุกหกล้อตราโล่ ผ่านมาทางที่เกิดเหตุ เห็นจำเลยเดินออกจากที่นั่งคนขับรถยนต์กระบะสีน้ำเงิน ซึ่งมีตู้แช่ 1 ตู้ อยู่ท้ายกระบะ หรือคันที่ใช้บรรทุกของกลางและหยิบเอากระสอบป่านที่บรรทุกอยู่บริเวณท้ายรถออกไปทิ้งที่บริเวณป่าข้างทางหรือข้างถนน ครั้นสิบตำรวจเอกมานพกับสิบตำรวจโทเผ่าพันธ์เดินเข้าไปดู จำเลยก็ได้ขึ้นรถยนต์กระบะขับออกไปร้อยตำรวจเอกสุจินเรียกให้หยุด จำเลยไม่หยุดร้อยตำรวจเอกสุจินจึงวิทยุแจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอปัวสกัดจับรถยนต์กระบะคันดังกล่าวหลังจากนั้นพยานทั้งสามได้นำกระสอบป่านที่จำเลยทิ้งไว้มาเปิดดูพบฝิ่นดิบสีดำจำนวน 7 ห่อซุกซ่อนอยู่ จึงยึดไว้เป็นของกลางและนำส่งพนักงานสอบสวน หลังจากนั้นในวันเดียวกันพยานทั้งสามพร้อมด้วยร้อยตำรวจเอกสำเนียง ทาเศษ พนักงานสอบสวนติดตามจับกุมจำเลยได้ที่บ้านของจำเลย และยึดรถยนต์กระบะคันที่ใช้บรรทุกฝิ่นดิบดังกล่าวเป็นของกลาง ชั้นจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยเป็นผู้รับจ้างขนฝิ่นดิบให้แก่บุคคลอื่นในราคา 500 บาท ปรากฏตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.5 โดยข้อนี้ร้อยตำรวจเอกสำเนียงพนักงานสอบสวนพยานโจทก์เบิกความสนับสนุนว่า ในวันเกิดเหตุขณะที่พยานเข้าเวรอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอปัวได้รับแจ้งทางวิทยุจากเจ้าพนักงานตำรวจตระเวนชายแดนที่ 325 หรือร้อยตำรวจเอกสุจิน ผู้บังคับกองร้อย เจ้าพนักงานตำรวจตระเวนชายแดนที่ 325ว่า ให้สกัดจับรถยนต์กระบะยี่ห้อนิสสัน ซึ่งมีผู้ชายขับและมีผู้หญิงนั่งมาด้วย 1 คน และรถจักรยานยนต์อีก 2 คัน กำลังแล่นมุ่งหน้าจากอำเภอบ่อเกลือไปยังอำเภอปัว และหลังจากนั้นอีก 20 นาทีได้รับแจ้งทางวิทยุอีกว่า ได้ตรวจพบฝิ่นของกลางพยานจึงมอบหมายให้เจ้าพนักงานตำรวจใต้บังคับบัญชาออกไปสกัดจับรถยนต์กระบะ และได้รับแจ้งทางวิทยุอีกว่าพบรถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ที่บ้านจำเลย พยานจึงได้ขออนุมัติออกหมายค้นจากพันตำรวจโทประจญ อินไสย ตามเอกสารหมาย จ.3 เพื่อนำไปตรวจค้นบ้านจำเลยและจับจำเลยได้ ชั้นจับกุมจำเลยรับสารภาพว่า จำเลยเพียงเป็นผู้รับจ้างขนฝิ่นดิบของกลางจากชายคนหนึ่งจากกิ่งอำเภอบ่อเกลือมายังอำเภอปัวในราคา 500 บาท ตามเอกสารหมาย จ.5 และภาพถ่ายหมาย จ.6 จ.7 และชั้นสอบสวนจำเลยให้การภาคเสธว่า มีฝิ่นดิบของกลางไว้ในครอบครอง โดยรับจ้างขนมาจากบุคคลอื่นในราคา 500 บาท มิใช่มีไว้เพื่อจำหน่ายตามเอกสารหมาย จ.13 และบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุเอกสารหมาย จ.14 ภาพถ่ายหมายจ.9 ซึ่งได้ความสอดคล้องเชื่อมโยงกันเป็นลำดับมีเหตุผลให้รับฟังอีกทั้งพยานโจทก์ทั้งสี่ปากต่างเป็นเจ้าพนักงานตำรวจปฏิบัติการไปตามหน้าที่ตามปกติธรรมดา ทั้งไม่ปรากฏว่าได้เคยมีสาเหตุโกรธเคืองหรือรู้จักกับจำเลยมาก่อน กรณีจึงไม่มีเหตุที่พยานดังกล่าวจะจงใจเบิกความใส่ร้ายจำเลยโดยปราศจากมูลความจริงประกอบกับฝิ่นดิบของกลางมีราคามากถึงประมาณ 100,000 บาท ดังคำเบิกความของร้อยตำรวจเอกสุจินและร้อยตำรวจเอกสำเนียงเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้าน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นฝิ่นดิบของชาวบ้านนำมาทิ้งไว้โดยไม่ตั้งใจ นอกจากนี้จำเลยเองก็ได้เบิกความตอบอัยการโจทก์ถามค้านเจือสมพยานหลักฐานโจทก์ว่าพยาน (จำเลย) ให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนเฉพาะข้อหามีฝิ่นไว้ในครอบครอง ดังนั้น นายใจ ยั่งยืน พยานจำเลยจะมาเบิกความให้ฝืนต่อคำเบิกความของจำเลยและคำรับดังกล่าว ย่อมไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีฝิ่นดิบของกลางไว้ในครอบครองและตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522มาตรา 17 วรรคสอง บัญญัติว่า “การมียาเสพติดให้โทษนั้นประเภท 2 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ตั้งแต่หนึ่งร้อยกรัมขึ้นไป ให้ถือว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย”ดังนั้น ในเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยมีฝิ่นหรือฝิ่นดิบของกลาง ซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 2 ไว้ในครอบครองคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 1.010 กิโลกรัมหรือ 1,010 กรัม จึงต้องว่าจำเลยมีฝิ่นหรือฝิ่นดิบของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันต้องด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งกำหนดไว้เด็ดขาดพฤติการณ์พยานหลักฐานโจทก์และโดยข้อกำหนดแห่งกฎหมายเชื่อได้สนิทใจว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้อง คำพิพากษาฎีกาที่จำเลยอ้างถึงทั้งสามฎีกา รูปคดีไม่เหมือนกัน คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบแล้วฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share