แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ในวันที่ 14 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอุทธรณ์ ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 1 เดือน แล้วไม่รอฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตให้ขยายระยะเวลาให้เพียงถึงวันที่ 21 กันยายน 2544 มิใช่ระยะเวลา 1 เดือนตามที่ขออันเป็นความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 กรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษ และการที่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นอุทธรณ์หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดวันที่ 21 กันยายน 2544 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ดังกล่าว แต่กลับมายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นเพื่อให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 1 เดือน เมื่อภายหลังระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ได้หมดสิ้นไปแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มิได้อ้างเหตุสุดวิสัยไว้ด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 1 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก 6 เดือน โดยศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2544 ต่อมา วันที่ 14 กันยายน 2544 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอุทธรณ์ ทนายจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 1 เดือน อ้างว่าเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นทนายความยื่นอุทธรณ์ แต่ไม่สามารถจะกระทำได้ทันภายในกำหนดเพราะเวลากระชั้นชิดและยังไม่ได้เอกสารต่างๆ ตลอดจนคำพิพากษาซึ่งจะต้องใช้ในการเรียบเรียงอุทธรณ์และประกอบการยื่นอุทธรณ์ ทั้งทนายจำเลยที่ 1 มีภาระต้องเรียบเรียงอุทธรณ์คดีอื่นอยู่อีกหลายคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้ศาลมีคำพิพากษาตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2544 และได้พิมพ์คำพิพากษาเสร็จภายหลังการอ่านคำพิพากษา หากจำเลยที่ 1 สนใจที่จะขอคัดหรือถ่ายก็สามารถทำได้ตั้งแต่ภายหลังการอ่านคำพิพากษาแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษ แต่เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงให้จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 21 กันยายน 2544
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้ไปติดต่อทนายจำเลยที่ 1 และนำเอกสารต่างๆ ตามที่ทนายจำเลยที่ 1 ต้องการไปมอบให้ทนายจำเลยที่ 1 แล้ว และทนายจำเลยที่ 1 แจ้งว่าจะดำเนินการในชั้นอุทธรณ์ให้ ให้จำเลยที่ 1 รอไปจนกว่าจะมีหมายศาลเรียกไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ทนายจำเลยที่ 1 ไม่เคยบอกเกี่ยวกับระยะเวลายื่นอุทธรณ์ จนกระทั่งจำเลยที่ 1 ได้ทราบจากทนายจำเลยที่ 1 ว่า ทนายจำเลยที่ 1 ได้ไปขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว แต่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตยื่นอุทธรณ์ไม่ได้แล้ว จำเลยที่ 1 จึงไปสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลชั้นต้นได้รับแจ้งว่าเหตุที่จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์ไม่ได้ก็เพราะความผิดพลาดของทนายจำเลยที่ 1 ที่ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้วไม่รอฟังคำสั่งว่าศาลอนุญาตให้ตามที่ขอหรือไม่ ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเกิดจากการกระทำของทนายจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ไว้วางใจในความเป็นผู้มีความรู้และประกอบวิชาชีพทนายความ เชื่อได้ว่าจะดูแลรักษาสิทธิให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมิได้ติดตามดูแลรักษาสิทธิด้วยตนเองจึงเป็นพฤติการณ์พิเศษ ขอให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ตามที่ขอไว้นั้น เห็นว่าการยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 จะกระทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้นเว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องลงวันที่ 14 กันยายน 2544 ขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ออกไปอีก 1 เดือน แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 21 กันยายน 2544 แม้จะน้อยกว่าระยะเวลาที่จำเลยที่ 1 ขอมา ก็ไม่เป็นเหตุที่จำเลยที่ 1 จะอุทธรณ์ให้ขยายเวลาต่อไปได้อีก ทั้งพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1 ยกขึ้นอ้างในฎีกาก็เป็นความบกพร่องของทนายจำเลยที่ 1 เอง กรณีไม่มีพฤติการณ์พิเศษ และการที่จำเลยที่ 1 มิได้ยื่นอุทธรณ์หรือยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ภายในกำหนดวันที่ 21 กันยายน 2544 ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยที่ 1 ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ดังกล่าว แต่กลับมายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ 1 เดือน เมื่อภายหลังจากระยะเวลาการยื่นอุทธรณ์ได้หมดสิ้นไปแล้ว โดยจำเลยที่ 1 มิได้อ้างเหตุสุดวิสัยไว้ด้วย จึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน