แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
หลักการของ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างแท้จริงหากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างเสมอยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 288, 371
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องว่าจำเลยเคยถูกนางเพชร ชัยพิพัฒน์ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาผู้ตายฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้ตายและศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3239/2543 ของศาลชั้นต้น โจทก์แถลงว่าจำเลยได้หลบหนีหมายจับของพนักงานสอบสวน ต่อมาหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีดังกล่าว จำเลยจึงเข้ามอบตัวและคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องนั้นล่วงเลยกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า เมื่อศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นซึ่งผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยไปแล้ว จึงทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในข้อหานี้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพิพากษาใหม่ต่อไปตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความจากสำเนาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3239/2543 ของศาลชั้นต้นและในคดีนี้ว่า เหตคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2541 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง นางเพชร ชัยพิพัฒน์ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นมารดาของนายไกรธวัช พุฒิชาติ ผู้ตาย ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ภายหลังเกิดเหตุจำเลยได้หลบหนีการจับกุมพนักงานสอบสวนได้ออกหมายจับไว้ ต่อมาเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2543 นางเพชรผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในข้อหาฆ่าผู้อื่นต่อศาลชั้นต้นด้วยตัวเองโดยมิได้ประสานงานให้พนักงานอัยการโจทก์ทราบ ในการดำเนินคดี นางเพชรซึ่งเป็นโจทก์ได้นำพยานเข้าสืบในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเพียง 2 ปาก คือนางเพชรเองซึ่งมิได้รู้เห็นในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและนายศรีเมือง สุจินพรหม ผู้ซึ่งอ้างว่ารู้เห็นเหตุการณ์คดีนี้โดยเห็นคนร้ายเป็นชายทางด้านหลังและด้านข้างใช้อาวุธปืนยิงนายไกรธวัชผู้ตายและยืนยันด้วยว่ามิใช่จำเลยนี้ในที่สุดศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2543 พ้นกำหนดระยะเวลายื่นอุทธรณ์แล้ว โดยนางเพชรก็มิได้ยื่นอุทธรณ์ จำเลยได้เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองศรีสะเกษและให้การปฏิเสธ นอกจากนี้จำเลยยังยื่นคำร้องต่อโจทก์เพื่อขอความเป็นธรรมว่า ผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในข้อหาว่าฆ่าผู้อื่นโดยเจตนามาแล้ว ชั้นที่สุดศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุดอันทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) คดีจึงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ระงับไปแล้วหรือไม่ เห็นว่า หลักการของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ที่บัญญัติให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปเมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง อันเป็นหลักการห้ามดำเนินคดีซ้ำสองแก่จำเลยนั้น จะต้องปรากฏว่าคดีก่อนเป็นกรณีที่จำเลยถูกฟ้องดำเนินคดีอย่างแท้จริง หากปรากฏว่าคดีก่อนเป็นการฟ้องร้องดำเนินคดีอย่างสมยอมกัน แม้ว่าจะเป็นการกระทำกรรมเดียวกันก็ถือไม่ได้ว่าการกระทำกรรมนั้นจำเลยเคยถูกฟ้องและศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดอันจะมีผลทำให้สิทธินำคดีมาฟ้องในความผิดกรรมนั้นระงับไปไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีก่อนคือคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3239/2543 ของศาลชั้นต้น ซึ่งนางเพชรเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นกรรมเดียวกันกับคดีนี้มีพฤติการณ์บ่งชี้ว่านางเพชรโจทก์ในคดีนั้นจะดำเนินคดีโดยสมยอมโดยไม่สุจริต เนื่องจากขณะเกิดเหตุมีผู้พบเห็นจำเลยเป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายจนได้มีการระบุชื่อจำเลยเป็นผู้ทำให้ตายไว้ในรายงานการชันสูตรพลิกศพท้ายฟ้อง หลังเกิดเหตุนางเพชรผู้เสียหายซึ่งเป็นมารดาของผู้ตายได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนและได้มีการออกหมายจับจำเลยไว้แต่จำเลยหลบหนีการจับกุม คดีอยู่ระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานตำรวจ นางเพชรผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 3239/2543 ของศาลชั้นต้น และยังปรากฏด้วยว่าในการดำเนินคดีดังกล่าวทนายโจทก์เพียงแต่นำนางเพชรมารดาผู้เสียหายซึ่งไม่เห็นเหตุการณ์ในขณะเกิดเหตุและนายศรีเมือง สุจินพรหม ผู้ซึ่งอ้างว่าเห็นเหตุการณ์แต่กลับเบิกความเป็นปฏิปักษ์ต่อคดีเข้าเบิกความต่อศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้องอันเป็นเหตุให้ศาลพิพากษายกฟ้องคดีนั้นเพราะเห็นว่าคดีไม่มีมูล และนางเพชรโจทก์คดีนั้นก็ไม่ยื่นอุทธรณ์เช่นนี้ ย่อมส่อแสดงว่าคดีก่อนนางเพชรผู้เสียหายซึ่งเป็นโจทก์ในคดีนั้นได้ฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยในลักษณะสมยอมกัน เป็นการดำเนินคดีโดยไม่สุจริตเพื่อหวังผลเพียงต้องการตัดสิทธิพนักงานอัยการโจทก์คดีนี้มิให้มีสิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยซ้ำสองได้อีกเท่านั้น ย่อมถือไม่ได้ว่าคดีก่อนได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยอย่างแท้จริง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้หาได้ระงับไปไม่ ดังนั้น พนักงานอัยการโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน