คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 654/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การคำนวณค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฯ ให้ถือเอาอัตราค่าจ้างสุดท้ายเป็นฐานในการคำนวณ ส่วนสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 ต้องถือเอาตามจำนวนสินจ้างที่ลูกจ้างควรได้รับการเลิกจ้าง เมื่อโจทก์มิได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายตั้งแต่วันที่23 กันยายน 2533 ต่อมาวันที่ 9 เมษายน 2534 จึงถูกเลิกจ้างโจทก์จึงไม่มีสิทธินำเงินส่วนแบ่งการขายจำนวนเดือนละ 300,000 บาท มาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า เมื่อศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้ค้างชำระค่าส่วนแบ่งการขายเพราะโจทก์ไปดำรงตำแหน่งอื่น โจทก์ก็ไม่มีสิทธิได้การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์ยังมีสิทธิได้เป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริงไม่ชอบด้วย พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 จำเลยไม่เคยยกเหตุที่โจทก์ยักยอกเงิน 40,000 บาท ของจำเลยในคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ จึงไม่มีเหตุดังกล่าวที่จำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้คดีของโจทก์ว่าจำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างจำเลย ปัจจุบันตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปได้รับค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท ค่าครองชีพเดือนละ 150 บาทค่าน้ำมันรถยนต์เหมาจ่ายเดือนละ 3,990 บาท เงินส่วนแบ่งจากการขายตามจำนวนคำสั่งซื้อรถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานครต่อเดือน ค่ารักษาระดับการขายคิดตามจำนวนรถต่อทุก 3 เดือน เงินส่วนแบ่งจากยอดขายทุก1 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี เงินส่วนแบ่งจากยอดขายรถยนต์ต่อทุกเดือนต่อมาประมาณเดือนกันยายน 2533 จำเลยกระทำผิดสัญญาและเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างด้วยการลดงาน ลดอำนาจหน้าที่ของโจทก์และตั้งบุคคลอื่นมาเป็นผู้จัดการฝ่ายขายปลีกด้วยค่าจ้างต่ำกว่าที่จ่ายให้โจทก์ย้ายพนักงานใต้บังคับบัญชาของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายขาดรายได้ไปเดือนละ 300,000 บาท เป็นระยะเวลา 4 เดือน 15 วันคิดเป็นเงิน 1,350,000 บาท และจำเลยยังค้างเงินค่าตอบแทนโจทก์อยู่ 144,500 บาท โจทก์ทวงถามจำเลยแล้วจำเลยไม่ชำระ ต่อมาวันที่9 เมษายน 2534 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โดยโจทก์มิได้กระทำความผิดและมิได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทราบเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมต่อโจทก์ โจทก์เสียหายไม่มีงานทำ โจทก์ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยปีละ4,249,680 บาท โจทก์ขอคิดเพียง 2 ปี เป็นเงิน 8,499,360 บาทโจทก์มีสิทธิได้รับเงินค่าชดเชยตามกฎหมายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย180 วัน คิดเป็นเงิน 2,124,840 บาท โจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 1 เดือน เป็นเงิน 354,140 บาท และโจทก์มีสิทธิได้รับค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี 28 วันทำงานคิดเป็นเงิน 330,530 บาท รวมกับค่าจ้างค้างจ่ายและเงินเพิ่มกรณีจงใจผิดนัดชำระค่าจ้างแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น 13,236,870 บาทขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 13,236,870 บาท กับให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ทุก ๆ 7 วัน จากต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยเป็นลูกจ้างจำเลย นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 11 ปีเศษ ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายคือเงินเดือน 50,000บาท กับค่าครองชีพเดือนละ 150 บาท ส่วนค่าน้ำมันเดือนละ 3,990 บาทมิใช่ค่าจ้าง ส่วนเงินค่ารักษาระดับการขายและเงินส่วนแบ่งจากการขายเป็นเงินรางวัลพิเศษ มิใช่อัตราแน่นอนขึ้นอยู่กับภาวะการตลาดและปัจจัยอื่น จึงไม่ใช่ค่าจ้าง จำเลยไม่เคยเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างหรือกระทำผิดสัญญาจ้าง โจทก์ไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ ขาดงานบ่อยครั้งทำให้จำเลยเสียหาย จำเลยเลิกจ้างโจทก์เหตุเพราะระหว่างที่โจทก์ปฏิบัติงานเป็นผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป โจทก์ได้ทุจริตปลอมแปลงเอกสารสำคัญเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ส่วนเงินจำนวน 1,494,500 บาทนั้นโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเพราะโจทก์พ้นจากหน้าที่ ผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป และโจทก์มีเงินรางวัลพิเศษสำหรับตำแหน่งใหม่อยู่แล้วโจทก์ถูกเลิกจ้างเพราะมีความผิด ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ส่วนค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนต้องคำนวณจากค่าจ้างเดือนละ 50,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักน้อยไม่พอฟังว่าโจทก์ได้ใช้วิธีการอันไม่สุจริต ปลอมแปลงเอกสารเกี่ยวกับการจองซื้อรถยนต์วอลโว่เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวและทำให้จำเลยเสียหาย โจทก์ไม่ได้ละทิ้งงาน การเลิกจ้างนั้นจึงไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์รวมทั้งค่าเสียหาย โจทก์ทำงานกับจำเลยมาเป็นเวลา 11 ปี 5 เดือน เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายในส่วนนี้ให้โจทก์ 600,000 บาท ส่วนเงินค่าส่วนแบ่งจากการขายที่โจทก์ฟ้องเป็นเงินที่โจทก์เรียกร้องโดยคำนวณเอาจากอัตราเดิมที่โจทก์เคยได้รับขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปเมื่อตำแหน่งนี้ถูกยุบเลิกไปและโจทก์ไปดำรงตำแหน่งอื่น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับ พิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 996,950 บาทแก่โจทก์ คำขออื่นของโจทก์นอกจากนี้ให้ยกเสีย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์จำเลย ดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ศาลแรงงานกลางกำหนดค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ถูกต้องหรือไม่ ปัญหาข้อนี้ โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 4. ว่า อัตราค่าจ้างสุดท้ายที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยแก่โจทก์ ควรคำนวณจากค่าจ้างของโจทก์เดือนละ 350,150 บาทคิดเป็นเงิน 2,100,900 บาท และสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า1 งวด เป็นเงิน 350,150 บาท เพราะเดิมโจทก์มีตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป มีค่าจ้างเดือนละ 50,150 บาท พร้อมเงินส่วนแบ่งจากการขาย ขณะนั้นเป็นเงินเดือนละ 300,000 บาท จำเลยย้ายโจทก์ไปอยู่ตำแหน่งอื่นเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533 ตามเอกสารหมาย จ.7เป็นผลให้สิทธิประโยชน์ของโจทก์ขาดหายไปเดือนละ 300,000 บาทเห็นว่า การคำนวณค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 นั้น ให้ถือค่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายของลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างเป็นฐานในการคำนวณส่วนการคำนวณสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 ก็ต้องถือตามจำนวนสินจ้างที่ลูกจ้างควรจะได้รับในระยะเวลาที่นายจ้างเลิกสัญญาจ้างนั้น ซึ่งค่าจ้างอัตราสุดท้ายของโจทก์ ในขณะที่ถูกเลิกจ้างและสินจ้างที่โจทก์ควรจะได้รับในระยะเวลาที่จำเลยบอกเลิกสัญญาจ้างตามที่ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาคือ เงินเดือนเดือนละ 50,000 บาท และค่าครองชีพเดือนละ 150 บาท รวมเดือนละ50,150 บาท เท่านั้น โจทก์มิได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายอีกเดือนละ 300,000 บาท แต่อย่างใด เพราะโจทก์มิได้ดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไปอันจะมีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายนั้นมาตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2533 แล้ว ดังนั้น ที่ศาลแรงงานกลางถือเอาอัตราค่าจ้างประจำเดือนสุดท้ายที่โจทก์ได้รับเดือนละ 50,150บาท มาเป็นฐานคำนวณค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์นั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ข้อ 2. จำเลยจะต้องเสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 15 ต่อปีทุก 7 วันในเงินค้างชำระจำนวน 144,500 บาท แก่โจทก์หรือไม่ ปัญหาข้อนี้โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 5. ว่า เงินค้างชำระจำนวน 144,500 บาทเป็นส่วนหนึ่งของเงินส่วนแบ่งจากการขายรถยนต์วอลโว่ที่โจทก์จะพึงได้ตามหลักเกณฑ์ในเอกสารหมาย จ.29 และ จ.30 เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยไม่ได้ค้างชำระเงินจำนวน 144,500 บาทซึ่งเป็นเงินส่วนแบ่งจากการขายแก่โจทก์ และเงินจำนวนนี้โจทก์เรียกร้องโดยคำนวณเอาจากอัตราเดิมที่โจทก์เคยได้รับขณะดำรงตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายทั่วไป เมื่อตำแหน่งนี้ถูกยุบเลิกไปและโจทก์ไปดำรงตำแหน่งอื่นโจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินส่วนแบ่งจากการขายจำนวนนี้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยค้างชำระโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดเงินเพิ่มจากจำเลย โจทก์อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงว่า จำเลยยังค้างชำระเงินจำนวนนี้และต้องเสียเงินเพิ่มแก่โจทก์จึงเป็นการโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ข้อ 3. จำเลยจะยกเหตุเลิกจ้างอื่นนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้หรือไม่ ปัญหาข้อนี้ จำเลยอุทธรณ์ในข้อ 12.2 ว่า การที่จำเลยนำสืบว่า โจทก์ทุจริตปลอมแปลงเอกสารกรณีนายสุชาติเปลี่ยนรถและยักยอกเงินของจำเลยจำนวน 40,000 บาท มิใช่ข้อต่อสู้ที่นอกเหนือจากคำสั่งเลิกจ้างตามเอกสารหมาย จ.4 ศาลฎีกาได้ตรวจคำสั่งเลิกจ้างตามเอกสารหมายจ.4 แล้ว มีข้อความว่า “ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่บริษัทฯ ได้แต่งตั้งขึ้นว่า ในระหว่างที่ท่านทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายของบริษัทฯ นั้น ท่านได้ใช้วิธีการอันไม่สุจริตและปลอมแปลงเอกสารบางอย่างเกี่ยวกับการจองซื้อรถยนต์วอลโว่เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวทำให้บริษัทฯ ต้องเสียประโยชน์อันพึงได้และได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังปรากฏว่าท่านได้ปฏิบัติตน เป็นปัญหากับเพื่อนร่วมงานและผู้ใต้บังคับบัญชาจนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ต้องโยกย้ายตำแหน่งของท่านเพื่อความเหมาะสม แต่ท่านไม่เพียงแต่พยายามปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ได้รับแต่งตั้งใหม่นั้นให้ดีกลับแสดงพฤติการณ์ดื้อแพ่งต่อคำสั่งของผู้บังคับบัญชาแสดงกิริยาข่มขู่และกล่าวคำอาฆาตผู้บังคับบัญชา ละทิ้งการงานและยุยงส่งเสริมพนักงานของบริษัทฯ ให้เกลียดชัดบริษัทฯ และทำการอื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นพนักงานของบริษัทฯ อีกหลายประการด้วยเหตุนี้ บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างมีผลตั้งแต่วันที่9 เมษายน 2534 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ท่านมีสิทธิได้รับเงินเดือนสำหรับเดือนเมษายน 2534 ทั้งเตือนขอให้ท่านติดต่อรับได้ทีฝ่ายการเงินของบริษัทฯ…” ดังนี้ จะเห็นได้ว่าจำเลยมิได้ยกเอาเหตุที่โจทก์ยักยอกเงินจำนวน 40,000 บาท ของจำเลยขึ้นอ้างแต่อย่างใดเมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า พยานหลักฐานของจำเลยไม่พอฟังว่า โจทก์ได้ใช้วิธีการอันไม่สุจริต ปลอมแปลงเอกสารกับการจองซื้อรถยนต์วอลโว่เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ส่วนตัวและทำให้จำเลยเสียหาย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่าโจทก์ยักยอกเงินของจำเลยไป 40,000บาท จึงเป็นเหตุหรือข้ออ้างที่อยู่นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น…”
พิพากษายืน

Share