แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
การที่สัญญาประกันชีวิตจะเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 865 นั้น ต้องเป็นกรณีที่บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จโจทก์กับจำเลยทำสัญญาประกันชีวิตต่อกันโดยเด็กชายส.บุตรโจทก์เป็นผู้เอาประกัน โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ ดังนั้นบุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็คือเด็กชายส.หาใช่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ไม่ ฎีกาจำเลยที่ว่า เด็กชายส.ละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่ตนป่วยเป็นโรคลมชักในขณะที่โจทก์ขอต่ออายุกรมธรรม์นั้นเป็นข้อเท็จจริงนอกคำให้การจำเลย ถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2527 โจทก์กับจำเลยได้ทำสัญญาประกันชีวิตต่อกัน โดยเด็กชายสุรชัย สมบัติบุตรของโจทก์เป็นผู้เอาประกัน โจทก์เป็นผู้รับประโยชน์ สัญญาครบกำหนดวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ต่อมาวันที่ 29 ตุลาคม 2528 เด็กชายสุรชัยตกน้ำถึงแก่ความตาย โจทก์ขอรับเงินตามสัญญา จำเลยปฏิเสธขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เด็กชายสุรชัย สมบัติ มิได้ตกน้ำตาย แต่ถึงแก่ความตายด้วยสาเหตุเป็นโรคลมชัก ซึ่งเป็นโรคประจำตัว โดยในขณะโจทก์ขอเอาประกันชีวิต เด็กชายสุรชัยก็ป่วยเป็นโรคนี้อยู่แต่โจทก์กับเด็กชายสุรชัยไม่เปิดเผยข้อความจริง กลับแจ้งว่าเด็กชายสุรชัยมีสุขภาพสมบูรณ์ หากจำเลยทราบความจริงจะไม่รับประกันชีวิตเด็กชายสุรชัยต่อมาโจทก์ขาดส่งเบี้ยประกันภัยเป็นเหตุให้สัญญาสิ้นผลเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2528 และโจทก์ได้ต่ออายุสัญญาเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2528 ซึ่งขณะขอต่ออายุสัญญาเด็กชายสุรชัยก็ยังป่วยเป็นโรคลมชักอยู่ แต่โจทก์ก็คงปกปิดข้อความจริงดังกล่าว ซึ่งหากจำเลยทราบความจริงจำเลยก็จะไม่รับต่ออายุสัญญา การที่โจทก์ปกปิดความป่วยเจ็บของเด็กชายสุรชัยอันเป็นข้อสาระสำคัญในการทำสัญญา สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะจำเลยได้บอกล้างไปยังโจทก์แล้ว จึงตกเป็นโมฆะ จำเลยไม่ต้องรับผิดตามสัญญา ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษา ให้จำเลยชำระเงิน 1,600 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้เงินจำนวน 112,525 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาข้อที่ 2 ที่จำเลยฎีกาว่า ความจริงสัญญาประกันชีวิตขาดผลบังคับลงเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2528เนื่องจากโจทก์ขาดส่งเบี้ยประกันภัยงวดเดือนมิถุนายน 2528แล้วได้ขอต่ออายุกรมธรรม์สัญญาใหม่เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2528โดยโจทก์ละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงที่เด็กชายสุรชัยเป็นโรคลมชักให้จำเลยทราบซึ่งข้อความจริงดังกล่าวหากจำเลยได้ทราบก็จะบอกปัดไม่ยอมทำการต่อกรมธรรม์สัญญาให้นั้น เห็นว่าการที่สัญญาประกันชีวิตจะเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 865 นั้น ต้องเป็นกรณีที่บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นรู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จ ซึ่งกรณีตามคำฟ้องของโจทก์บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็คือเด็กชายสุรชัยนั่นเอง หาใช่โจทก์ซึ่งเป็นเพียงผู้รับประโยชน์ไม่ ดังนั้นแม้ข้อเท็จจริงจะฟังตามที่จำเลยฎีกาก็ไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตเป็นโมฆียะ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงตามที่จำเลยฎีกา
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เด็กชายสุรชัยละเว้นไม่เปิดเผยข้อความจริงที่ตนป่วยเป็นโรคลมชักในขณะที่โจทก์ขอต่ออายุกรมธรรม์นั้นเป็นข้อเท็จจริงนอกคำให้การจำเลย ถือได้ว่าเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายืน