คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6539/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ฉะนั้น หนังสือมอบอำนาจจะชอบด้วยกฎหมายอย่างไรหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางอาจมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎมายไปด้วยไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีการสอบสวนแล้วจำเลยมิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบ เพียงแต่อ้างว่าการยึดรถจักรยานยนต์ของกลางในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวค้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของนางสาวอรนุชซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายวิทยาผู้เสียหาย เจ้าพนักงานยึดรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้ซึ่งมีสภาพแตกต่างจากเดิมบางส่วน จากนั้นจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ทั้งนี้จำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายไปหรือรับของโจรโดยช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อหรือรับไว้ด้วยประการใด ๆ ซึ่งทรัพย์ดังกล่าวจากคนร้าย โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335, 357
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 3 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2545 เวลาประมาณ 21 นาฬิกามีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ ขณะจอดอยู่ที่บริเวณวัดมฤคทายวันไป ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2545 เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุได้ที่บ้านของนายนคร นรสิทธิ์ นายจ้างของจำเลย สำหรับความผิดฐานลักทรัพย์ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจรตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาหรือไม่ โจทก์มีนายวิทยาผู้เสียหาย นายปรีชา นายนคร จ่าสิบตำรวจอนันต์ และพันตำรวจตรียุทธจักรเป็นพยานเบิกความประกอบกันได้ความตามที่กล่าวไว้ในทางนำสืบของโจทก์ข้างต้น เห็นว่า เมื่อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุของผู้เสียหายหายไป ผู้เสียหายก็ไปร้องทุกข์และติดตามหารถจักรยานยนต์ดังกล่าว จนนายอ้วนลูกพี่ลูกน้องของผู้เสียหายนำเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุได้จากบ้านของนายนคร นายจ้างของจำเลยอันเป็นปกติวิสัยของเจ้าของทรัพย์ดังเช่นผู้เสียหายซึ่งมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ของตนจะต้องปฏิบัติเช่นนั้น และนายนครเป็นพยานเบิกความว่า จำเลยขอเบิกเงินค่าจ้างจากพยานโดยบอกว่า จะไปซื้อรถจักรยานยนต์ พยานเห็นจำเลยขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุตั้งแต่วันซื้อมาโดยตลอด และจำเลยขับรถจักรยานยนต์ดังกล่าวไปจอดที่บ้านของพยาน แล้วจำเลยก็จะนั่งรถยนต์ของพยานไปขายผ้าโดยกระทำเช่นนี้ทุกวัน แสดงว่าจำเลยครอบครองและใช้สอยรถจักรยานยนต์คัดเกิดเหตุตลอดมา นายนครเป็นนายจ้างของจำเลยไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยจึงไม่มีข้อระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลย เชื่อว่านายนครเบิกความไปตามความจริงที่รู้เห็นมา ที่จำเลยฎีกาเป็นทำนองว่า จำเลยซื้อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุจากนายต้นโดยไม่ทราบว่าเป็นรถจักรยานยนต์ซึ่งถูกลักมานั้น รถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์ที่มีราคาสูง และเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่าปัจจุบันมีการโจรกรรมรถจักรยานยนต์ซึ่งกระทำโดยพวกมิจฉาชีพเป็นจำนวนมาก ผู้ที่ทำธุรกรรมเกี่ยวข้องกับทรัพย์ดังกล่าวย่อมต้องตรวจสอบสมุดจดทะเบียนรถเพื่อทราบถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงอันจะเป็นการป้องกันความเสียหายที่อาจมีขึ้น แต่การที่จำเลยซื้อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุจากนายต้นในคดีนี้ กลับไม่มีการตรวจสอบหลักฐานทางทะเบียนเพื่อทราบถึงบุคคลผู้เป็นเจ้าของที่แท้จริงก่อนแต่อย่างใด และจำเลยเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า ขณะที่ซื้อรถจักรยานยนต์จากนายต้น ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียนติดรถ โดยนายต้นบอกว่า แผ่นป้ายทะเบียนหล่นหายไป ส่อแสดงถึงพฤติการณ์ในการปกปิดแหล่งที่มาของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุอันเป็นพิรุธแต่จำเลยก็ยังคงซื้อรถจักรยานยนต์ดังกล่าวจากนายต้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการซื้อขายทรัพย์โดยสุจริตทั่วไป นอกจากนี้ผู้เสียหายเบิกความว่า พยานตรวจสอบรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแล้ว ปรากฏว่ามีการเปลี่ยนอะไหล่หลายรายการ เช่น วงล้อหน้าหลัง ที่พักเท้า เรือนไมล์ มือจับรถจักรยานยนต์ ท่อไอเสีย และเบาะ เป็นต้น แม้จำเลยจะนำสืบอ้างว่า เมื่อซื้อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุมาแล้ว จำเลยเปลี่ยนอะไหล่บางส่วนกับนายปรีชาเพื่อความสวยงาม แต่นายนครเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยบอกว่าที่เปลี่ยนล้อรถจักรยานยนต์เพราะเพื่อนของจำเลยมีสาเหตุกับผู้อื่นกลัวว่าจำจำรถจักรยานยนต์ได้ จึงเอาล้อรถจักรยานยนต์ของเพื่อนมาเปลี่ยนกับล้อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุ ข้อต่อสู้ของจำเลยในเรื่องดังกล่าวจึงขัดแย้งกันเอง ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุตามที่กล่าวมาแล้ว ย่อมเป็นพิรุธแสดงให้เห็นว่าจำเลยดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเพื่อมิให้เจ้าของติดตามเอาคืน เมื่อพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์แห่งคดีทั้งปวงแล้ว เชื่อว่าจำเลยซื้อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดเมื่อเป็นทรัพย์ที่ได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานรับของโจร ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า หนังสือมอบอำนาจที่นางสาวอรนุชมอบอำนาจให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ตามหนังสือมอบอำนาจปิดอากรแสตมป์ไม่บริบูรณ์ตามกฎหมาย ผู้เสียหายจึงไม่มีอำนาจร้องทุกข์ในคดีนี้นั้น เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรที่โจทก์ฟ้องในคดีนี้เป็นความผิดอาญาแผ่นดินไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความได้ ดังนั้น แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้ร้องทุกข์พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนคดีนี้ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีคำร้องทุกข์จากผู้เสียหาย ฉะนั้น หนังสือมอบอำนาจจะชอบด้วยกฎหมายอย่างไรหรือไม่จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาข้อต่อไปของจำเลยมีว่า การที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์ของกลางในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 1 ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในปัญหาดังกล่าวจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยใหม่ เห็นว่า การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางและการสอบสวนเป็นการดำเนินการคนละขั้นตอนกัน แม้การตรวจค้นเพื่อยึดของกลางอาจมิชอบด้วยกฎหมายก็เป็นเรื่องที่จะไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหาก หามีผลทำให้การสอบสวนไม่ชอบด้วยกฎหายไปด้วยไม่ โจทก์บรรยายฟ้องว่ามีการสอบสวนแล้วจำเลยมิได้ฎีกาว่าการสอบสวนไม่ชอบเพียงแต่อ้างว่าการยึดรถจักรยานยนต์ของกลางในที่รโหฐานโดยไม่มีหมายค้นเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องถือว่าการสอบสวนในความผิดที่กล่าวหาตามฟ้องชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share