แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 2,213,493 บาท แต่หนังสือแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษี 6,629,281 บาท และโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่พิพากษาให้จำเลยคืนเงินทั้งหมดย่อมแสดงว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้แจงของจำเลยไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบทั้งหมด แต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบบางส่วน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้นั้น เห็นว่า มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าห้ามมิให้ศาลประทับฟ้องเว้นแต่ผู้รับการประเมินจะชำระค่าภาษีเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ต้องชำระค่าภาษีก่อนฟ้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น หากไม่สั่งคืนภาษีส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยอาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้มีคำสั่งทางปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป เพราะโจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามประเมินแก่จำเลยแล้ว ฉะนั้น การให้จำเลยคืนเงินเพียงบางส่วนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ เป็นการพิพากษาให้ไม่เกินกว่าที่โจทก์มีคำขอ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 มิใช่เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองบางส่วนไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมิน (ภ.ร.ด. 8) เล่มที่ 02 เลขที่ 74 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 กับให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาด (ภ.ร.ด. 11) เล่มที่ 01/48 เลขที่ 52 ลงวันที่ 2 กันยายน 2548 ให้จำเลยคืนเงินจำนวน 2,213,493 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวตั้งแต่วันพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยเพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินเล่มที่ 02 เลขที่ 74 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2548 และใบแจ้งคำชี้ขาดของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเล เล่มที่ 01/48 เลขที่ 52 ลงวันที่ 2 กันยายน 2548 ให้จำเลยคืนเงิน 2,213,493 บาท แก่โจทก์ภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันครบกำหนดจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าใบแจ้งรายการประเมินและใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับพิพาทชอบด้วยมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หรือไม่ นั้น เมื่อพิเคราะห์ใบแจ้งรายการประเมินตามเอกสารแผ่นที่ 68 มีข้อความระบุรายละเอียดทรัพย์สินคือ โรงแรม ที่ตั้งของทรัพย์สิน จำนวนค่ารายปี ค่าภาษีที่ให้โจทก์ไปชำระต่อจำเลยใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับใบแจ้งรายการนี้ การไม่ชำระตามกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มตามมาตรา 43 หากไม่พอใจในการประเมินให้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ใบแจ้งรายการประเมินดังกล่าวจึงไม่มีเหตุผลที่อย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง และข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ การที่จำเลยมิได้แสดงรายละเอียดของเหตุผลในใบแจ้งรายการประเมินเกี่ยวกับรายละเอียดของการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีเพิ่มขึ้น โดยที่โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างของโจทก์มิได้แตกต่างไปจากเดิม โจทก์ย่อมไม่สามารถทราบได้ว่าจำเลยแจ้งประเมินค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างรายการใดเพิ่มขึ้นหรือลดลงไปจากที่โจทก์เคยยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันเข้าข้อยกเว้นที่จะไม่ต้องแสดงเหตุผลตามมาตรา 37 วรรคสาม (2) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ที่ว่า เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาว่า ใบแจ้งรายการประเมินไม่ชอบด้วยมาตรา 37 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 นั้นชอบแล้ว แต่เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบในรูปแบบของใบแจ้งรายการประเมินที่ต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ในใบแจ้งรายการประเมินหรือเอกสารประกอบใบแจ้งรายการประเมินและแจ้งให้โจทก์ทราบต่อไปตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 หากโจทก์ยังไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่ระบุไว้ในใบแจ้งรายการประเมินดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและนำคดีมาฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยและคำชี้ขาดของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลต่อไป ด้วยเหตุนี้กระบวนการยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินที่เกิดขึ้นหลังจากมีใบแจ้งรายการประเมินโดยไม่ชอบแล้วย่อมเสียไปทั้งหมด ส่วนที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีจำนวน 2,213,493 บาท แต่หนังสือแจ้งการประเมินและคำชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าภาษี 6,629,281 บาท และจำเลยอุทธรณ์ว่า การที่ศาลภาษีอากรกลางไม่พิพากษาให้จำเลยคืนเงินทั้งหมด ย่อมแสดงว่าหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินและคำชี้ขาดของจำเลยไม่ใช่คำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบทั้งหมด แต่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบบางส่วน ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า มาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 กำหนดเป็นเงื่อนไขว่า ห้ามมิให้ศาลประทับฟ้องเว้นแต่ผู้รับการประเมินจะชำระค่าภาษีเสร็จสิ้นแล้ว โจทก์ต้องชำระค่าภาษีก่อนฟ้องตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด หากไม่สั่งคืนภาษีส่วนนี้ให้แก่โจทก์ จำเลยอาจไม่มีความจำเป็นต้องดำเนินการให้มีคำสั่งทางปกครองที่ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป เพราะโจทก์ได้ชำระค่าภาษีตามการประเมินแก่จำเลยแล้ว และการให้จำเลยคืนเงินเพียงบางส่วนตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์เป็นการพิพากษาให้ไม่เกินกว่าที่โจทก์มีคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 มิใช่เป็นกรณีที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่าคำสั่งทางปกครองบางส่วนไม่ชอบด้วยกฎหมาย อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตาม ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินนั้นไม่ถูกต้อง โดยที่ถูกต้องเพิกถอนเพียงการแจ้งการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมินซึ่งมีผลให้การดำเนินการที่ต่อเนื่องจากการแจ้งการประเมินดังกล่าวไม่ชอบไปด้วย ดังวินิจฉัยมาดังกล่าว ดังนั้น ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำชี้ขาดของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเชิงทะเลด้วย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นด้วยในผลส่วนนี้ และสมควรแก้ไขเฉพาะส่วนที่ยังไม่ถูกต้องดังกล่าวเท่านั้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เพิกถอนการประเมินแต่ให้เพิกถอนการแจ้งการประเมินตามใบแจ้งรายการประเมิน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ