คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6536/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กรณีที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอนั้น หมายถึงกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ แต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาล
โจทก์บรรยายฟ้องโดยอ้างสภาพแห่งข้อหาว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครอง ปรปักษ์ จำเลยได้กระทำการโต้แย้งสิทธิโดยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็น ชื่อโจทก์ เมื่อสภาพแห่งข้อหาของโจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง ปรปักษ์เพียงประการเดียว แต่โจทก์ยังขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อโจทก์ อีกทั้งห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกด้วย จึงเป็นคดีมีข้อพิพาท ซึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจโดยทำเป็นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 ประกอบด้วยมาตรา 172 วรรคแรก
แม้เอกสารฉบับพิพาทซึ่งเป็นหลักฐานการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจะระบุชื่อว่า “หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ” ก็เป็นผลสืบเนื่องจากการที่โจทก์กับจำเลยได้นำแบบฟอร์มของหนังสือสัญญาดังกล่าวมาใช้เพื่อความสะดวกแก่การทำสัญญาเท่านั้น เมื่อไม่ปรากฏข้อความอันเป็นข้อตกลงที่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์กับจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันหรือไม่ เมื่อใด ประกอบกับโจทก์ได้ชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยรับไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญานั้นเอง และจำเลยก็ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้า ครอบครองนับแต่วันทำเอกสารฉบับพิพาทเป็นต้นไป เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าทั้งฝ่ายโจทก์กับจำเลยไม่มีเจตนา จะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด และแม้สัญญาซื้อขาย ดังกล่าวจะตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคแรก แต่การที่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ มิใช่เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยตามสัญญาจะซื้อขาย เมื่อโจทก์ได้ครอบครอง ที่ดินพิพาทติดต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๖๓๗๒ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง ให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยถึงแก่กรรม โจทก์ยื่นคำขอให้ศาลหมายเรียก ช. ทายาทของจำเลยเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ ๑,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ระหว่างพิจารณา โจทก์ถึงแก่กรรม อ. ทายาทของโจทก์ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ อนุญาต
ศาลอุทธรณ์ภาค ๗ พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ ๘๐๐ บาท แทนโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายประการแรกว่า โจทก์ยื่นคำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยมิได้ทำเป็นคำร้องขอชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า กรณีที่จะเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทโดยทำเป็นคำร้องขอนั้น หมายถึงกรณีที่ไม่มีบุคคลใดโต้แย้งสิทธิ แต่มีเหตุที่ผู้เสนอคดีจำต้องใช้สิทธิทางศาล ส่วนคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยอ้างสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยการครอบครองปรปักษ์ จำเลยได้กระทำการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลย ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ห้ามจำเลยและบริวารเกี่ยวข้อง และให้จำเลยไปจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ดังกล่าวโจทก์มิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เพียงประการเดียวอันจะเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ต้องเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำร้องขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๘ (๑) แต่โจทก์ยังขอให้บังคับจำเลยซึ่งเป็นผู้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเป็นชื่อโจทก์ อีกทั้งห้ามจำเลยและบริวารเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกด้วย จึงเป็นคดีมีข้อพิพาทซึ่งโจทก์ชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจโดยทำเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๕ ประกอบกับมาตรา ๑๗๒ วรรคแรก คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค ๗ ในปัญหาข้อนี้ชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ปัญหาประการต่อมาว่าโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หรือไม่ เห็นว่า แม้เอกสารฉบับพิพาทซึ่งเป็นหลักฐานการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจะระบุชื่อว่า “หนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ” ก็ตาม แต่ไม่ปรากฏว่าหนังสือดังกล่าวได้ระบุข้อความอันเป็นข้อตกลงที่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์กับจำเลยจะไปจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทกันหรือไม่ เมื่อใด ประกอบกับข้อเท็จจริงก็รับฟังได้ว่าโจทก์ได้ ชำระเงินค่าที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยรับไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญาและจำเลยก็ได้ส่งมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ เข้าครอบครองนับแต่วันทำหนังสือดังกล่าวเป็นต้นไป เป็นพฤติการณ์ที่เห็นได้ว่าทั้งฝ่ายโจทก์กับจำเลยไมมีเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด มิใช่เป็นพียงสัญญาจะซื้อขายตามที่จำเลยอ้าง ส่วนข้อความที่ระบุชื่อว่าเป็นหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำนั้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่โจทก์กับจำเลยได้นำแบบฟอร์มของหนังสือสัญญาดังกล่าวมาใช้เพื่อความสะดวกแก่การทำสัญญาเท่านั้น และแม้สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยจะตกเป็นโมฆะเนื่องจากมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียน ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๕๖ วรรคแรกก็ตาม แต่การที่โจทก์เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนั้นเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ มิใช่เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนจำเลยตามสัญญาจะซื้อขายดังที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใด เมื่อปรากฏว่าโจทก์ได้ ครอบครองที่ดินพิพาทต่อกันมาเป็นเวลาเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๘๒ คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๗ ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา ๘๐๐ บาท แทนโจทก์

Share