คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 มาตรา 29 ตรี บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลยที่ 2) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (จำเลยที่ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมี “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น วันที่ 30 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 จัดตั้ง “ฝ่ายจัดการกองทุน” ขึ้นในส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันได้ออกข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ให้เติมอัตรากำลังของ “ฝ่ายจัดการกองทุน” เข้าไปในอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ข้อบังคับทั้งสองฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไป ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “ฝ่ายจัดการกองทุน” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 ตรี คือเจ้าหน้าที่ “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั้นเอง การดำเนินงานของจำเลยที่ 2 ที่แยกออกจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น บุคคลนอกเหนือจาก “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้
อัตรากำลังของ “ฝ่ายจัดการกองทุน” ประกอบด้วยพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่สังกัดอยู่ฝ่ายจัดการกองทุนกับลูกจ้างตามสัญญาจ้าง แสดงว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 มีทั้งพนักงานและลูกจ้าง ดังนั้นการที่ ก. ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 สัตตรส ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ให้ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 ก็คือการทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แม้ในสัญญาจ้างแรงงานระบุว่าโจทก์ไม่มีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลลบล้างบทบัญญัติในมาตรา 29 ตรี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญากับโจทก์และการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างอยู่ในความรับรู้และเห็นชอบของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าการและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 6 และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ด้วยตามมาตรา 29 นว จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เกินขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 จึงต้องผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่เพียงตัวแทนไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงาน
ตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 1 (3) ระบุว่า “…นายจ้างจะประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป…” หมายความว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์จะเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานเพียงประการเดียว หากผลการปฏิบัติงานผ่านเกณฑ์การประเมินจำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน เมื่อผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมินจำเลยที่ 1 จึงต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญา จะอ้างว่าการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานหรือไม่เป็นอำนาจพิจารณาของจำเลยที่ 1 และหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการบุคลากรเพิ่มไม่ได้ อีกทั้งแนวคิดเรื่ององค์กรกะทัดรัดเกิดขึ้นก่อนการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างแต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงทำสัญญาจ้างแรงงาน หลังจากมีการทำสัญญาจ้างแล้วคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้ดำเนินการกลยุทธ์องค์กรกะทัดรัดได้ จำเลยที่ 1 จึงยกข้อที่ต้องเป็นองค์กรกะทัดรัดไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงานมาอ้างไม่ได้ จึงอ้างมาตรา 20 มาปฏิเสธการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุไม่มีความจำเป็นแก่ธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างแรงงาน ข้อ 1 (3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 มีวัตถุประสงค์เป็นธนาคารกลาง จำเลยที่ 2 มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นนิติบุคคล มีสถานภาพเป็นองค์การของรัฐบาลและเป็นรัฐวิสาหกิจ (ในขณะเกิดเหตุคดีนี้) ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 จำเลยที่ 2 เป็นกองทุนของจำเลยที่ 1 และตามระเบียบของจำเลยที่ 1 ระบุให้จำเลยที่ 2 เป็นหน่วยงานฝ่ายหนึ่งของจำเลยที่ 1 เงินทุนเริ่มต้นของจำเลยที่ 2 ได้มาจากการจัดสรรเงินสำรองของจำเลยที่ 1 ตามกฎหมายส่งสมทบเข้าเป็นทุนประเดิม จำเลยที่ 2 จึงเป็นส่วนหนึ่งของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าการและผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 2 มีอำนาจหน้าที่วางนโยบาย ควบคุมดูแลกิจการของจำเลยที่ 2 มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ดำเนินการตามคำสั่งของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 4 ได้รับแต่งตั้งจากจำเลยที่ 3 ให้เป็นผู้จัดการมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 2 ในขณะเดียวกันก็เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการด้านจัดการกองทุนและหนี้ (เดิมเรียกผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุน) จำเลยที่ 4 จึงเป็นทั้งผู้แทนของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ในกิจการของจำเลยที่ 2 ที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก บุคลากรของจำเลยที่ 2 ทั้งหมดเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ปลายเดือนกันยายน 2545 นายเกริก ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุน และเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้เสนอให้โจทก์ไปทำงานเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งที่ปรึกษา ให้ปฏิบัติงานในสำนักงานของจำเลยที่ 2 ก่อนเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตของจำเลยที่ 1 ที่ 2 อันเนื่องมาจากก่อนและหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้เงินช่วยเหลือสถาบันการเงินต่าง ๆ ประมาณ 7 แสนล้านบาท และได้รับชำระเงินคืนไม่ครบถ้วน จำเลยที่ 1 ที่ 2 จึงกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของสถาบันการเงินที่ล้มละลาย 56 แห่ง จำเลยที่ 1 ที่ 2 จำต้องประสานงานกับกรมบังคับคดีเพื่อเปลี่ยนหลักประกันเป็นตัวเงินโดยการขายสิทธิเรียกร้องในสถาบันการเงินที่ล้มละลายซึ่งมีลูกหนี้มากกว่า 62,000 ราย มีกำหนดขายครั้งแรกในเดือนธันวาคม 2545 แต่อาจทำไม่ทัน และมีความเห็นของนักกฎหมายว่าการขายสิทธิเรียกร้องนั้นกระทำไม่ได้ เพราะผู้ซื้อสิทธิเรียกร้องไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ประกอบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ขาดแคลนบุคลากรด้านกฎหมาย ต้องการให้โจทก์ซึ่งในขณะนั้นรับราชการเป็นข้าราชการตุลาการชั้น 4 ตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์เข้าเป็นที่ปรึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งหมดนั้น โดยเสนอเงื่อนไขให้โจทก์ทำงานเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายซึ่งเทียบเท่าตำแหน่งพนักงานอาวุโสระดับ 9 ในอัตราเงินเดือนเดือนละ 150,000 บาท ของจำเลยที่ 1 ที่อยู่ถัดลงมาจากตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการระดับ 10 ในระยะแรกให้โจทก์ทดลองงาน 11 เดือน เมื่อครบกำหนดจำเลยที่ 1 ที่ 2 จะประเมินผลการปฏิบัติงาน หากผ่านการประเมินก็จะบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมายแก่หน่วยงานของจำเลยที่ 1 ต่อไป (แต่ไม่ให้ไปกินตำแหน่งของพนักงานจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่เดิม) หากภายใน 6 เดือนแรก ผลการปฏิบัติงานของโจทก์ไม่เป็นที่พึงพอใจ จำเลยที่ 1 ที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกจ้างโจทก์ได้ โจทก์ตอบรับเข้าทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาให้จำเลยที่ 1 โดยปฏิบัติงานในสำนักงานของจำเลยที่ 2 ก่อน มีเงื่อนไขตามที่เสนอจ้างและตามที่ระบุในสัญญาจ้าง ต่อมาคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 พิจารณาจ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 โดยมีเงื่อนไขให้โจทก์ทดลองปฏิบัติงานเป็นระยะเวลา 11 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2546 ก่อนหน้าที่โจทก์จะลงนามในสัญญาจ้าง 2 วัน นายเกริกแจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 3 ขอขยายระยะเวลาทดลองงานเพิ่มอีก 1 ปี แต่การประเมินผลงานและเงื่อนไขอื่นยังคงเดิม โจทก์ตกลง วันที่ 21 ตุลาคม 2545 นายเกริกซึ่งเป็นผู้กระทำการแทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์ลงนามในสัญญาจ้างแรงงานมีกำหนดระยะเวลา 1 ปี 11 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขในสัญญาว่าจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ปฏิบัติงาน ในตำแหน่งที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 และปฏิบัติงานตามที่จำเลยที่ 3 มอบหมายเมื่อครบกำหนดตามสัญญา จำเลยที่ 2 จะประเมินผลการทำงานเพื่อพิจารณารับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษากฎหมาย หลังจากทำสัญญานายเกริกแจ้งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ 2 เตรียมสำรองตำแหน่งไว้ให้โจทก์ จำเลยที่ 1 เชิดให้นายเกริกออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 1 รู้แล้วยอมให้นายเกริกเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงเป็นคู่สัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ หลังจากงานของจำเลยที่ 2 สำเร็จตามเป้าหมาย วันที่ 26 กันยายน 2546 จำเลยที่ 1 ที่ 3 เลื่อนตำแหน่งนายเกริกไปเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน และย้ายจำเลยที่ 4 มาเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุนและหนี้แทนนายเกริก เดือนธันวาคม 2546 มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ปรากฏว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมินสมควรบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตามเงื่อนไขในสัญญาจ้างแรงงาน แต่จำเลยทั้งสี่ปฏิเสธที่จะรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 โดยอ้างเหตุว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีนโยบายลดขนาดองค์กร และงานที่โจทก์ดูแลรับผิดชอบมีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 ถึง 3 ปี ทั้งที่ตำแหน่งของโจทก์เป็นตำแหน่งตั้งขึ้นใหม่เฉพาะตัวโจทก์หากบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์เกษียณอายุตำแหน่งต้องยุบไปโดยปริยาย ไม่ได้เป็นการเพิ่มพนักงานเป็นการถาวร และตามสัญญาจ้างแรงงานไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสี่จ้างโจทก์ให้ดูแลเฉพาะงานที่อ้างว่ามีกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 ถึง 3 ปี จำเลยทั้งสี่กระทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน ทำให้โจทก์เสียหายในการคาดหวังว่าจะได้รับบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีสิทธิได้รับเงินเดือนสูงขึ้น มีสิทธิได้รับเงินสำรองเลี้ยงชีพ รถยนต์ประจำตำแหน่ง รับค่าน้ำมันรถยนต์ และมีพนักงานขับรถประจำตำแหน่ง โจทก์เสียหายในชีวิตราชการอายุราชการไม่ต่อเนื่องทำให้ตกอาวุโส ไม่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาคในระยะเวลาที่ควรได้รับแต่งตั้ง ทำให้คู่สมรสของโจทก์ไม่มีโอกาสได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ขอคิดค่าเสียหายรวม 53,665,936 บาท ขอบังคับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงิน 53,664,936 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า ฝ่ายจัดการกองทุนเป็นส่วนงานลำดับที่ 12 ของจำเลยที่ 1 ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยการแบ่งส่วนงานสำนักงานใหญ่ มีอัตรากำลังเป็นการเฉพาะตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยอัตรากำลัง ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยพนักงาน พ.ศ.2532 หมวด 2 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง และอัตราเงินเดือน ข้อ 15 ผู้ว่าการเป็นผู้มีอำนาจบรรจุแต่งตั้งพนักงานทุกตำแหน่งเว้นแต่ในตำแหน่งที่มีอัตราเงินเดือนขั้น 9 ขึ้นไปต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ข้อบังคับฉบับนี้ใช้บังคับจนถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2546 จำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 ยกเลิกข้อบังคับว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 แต่ตามบทเฉพาะกาลในข้อ 7 ให้ข้อบังคับว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 ยังคงใช้บังคับอยู่จนกว่าจะมีการออกระเบียบ คำสั่ง หรือวิธีปฏิบัติที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล วันที่ 29 มิถุนายน 2547 จำเลยที่ 1 ออกระเบียบที่ พ 69/2547 เรื่องคุณสมบัติมาตรฐานของตำแหน่งงานและการบรรจุพนักงาน มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 กรกฎาคม 2547 ซึ่งในส่วนที่ 2 ว่าด้วยหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการบรรจุของพนักงานธนาคารว่าการบรรจุและแต่งตั้งพนักงานให้กระทำได้ภายในจำนวนอัตรากำลังและตำแหน่งที่คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 กำหนด ในปี 2546 จำเลยที่ 1 กำหนดทิศทางเชิงกลยุทธ์ปี 2546-2550 มีวัตถุประสงค์ให้เป็นองค์กรที่มีคุณภาพโดยจัดทำให้องค์กรกะทัดรัดภายในปี 2550 กำหนดเป้าหมายในการดำเนินการเป็นองค์กรกะทัดรัดโดยไม่มีการเพิ่มหรือขยายส่วนงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นกองทุนของจำเลยที่ 1 และมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 มาตรา 29 ตรี โดยมีฝ่ายจัดการกองทุนเป็นเจ้าหน้าที่และให้แยกดำเนินงานไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 บุคคากรในกองทุนของจำเลยที่ 2 ประกอบด้วยบุคลากรตามมาตรา 29 ตรี และมาตรา 29 ปัณรสคือพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่สังกัดฝ่ายจัดการกองทุน พนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ผู้ว่าการจำเลยที่ 1 (จำเลยที่ 3) มีคำสั่งแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ในกองทุน ได้รับเงินเดือนจากจำเลยที่ 2 และผู้จัดการกองทุน กับลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานระหว่างลูกจ้างกับจำเลยที่ 2 การประเมินผลงาน การขึ้นเงินเดือน และการพิจารณาความดีความชอบของพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่ปฏิบัติงานให้จำเลยที่ 2 เป็นอำนาจของจำเลยที่ 4 และคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณา เพียงแต่จำเลยที่ 2 ต้องเสนอผลการพิจารณาไปยังจำเลยที่ 1 เพื่อรับทราบในภาพรวม ส่วนการประเมินผลงาน การขึ้นเงินเดือน และการพิจารณาความดีความชอบของลูกจ้างเป็นอำนาจของผู้จัดการกองทุนและคณะกรรมการกองทุนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณา จำเลยที่ 3 มี 2 สถานะ คือในสถานะผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการของจำเลที่ 1 และเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 16 กับสถานะผู้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่มีอำนาจควบคุมดูแลการดำเนินงานของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 2 และที่ 4 คือคณะกรรมการกองทุนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 เกี่ยวข้องในฐานะประธานคณะกรรมการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 โดยนำเรื่องที่นายเกริก ผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นเสนอขอให้คณะกรรมการกองทุนของจำเลยที่ 2 พิจารณารับโจทก์เข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จำเลยที่ 3 ไม่ได้เป็นคู่สัญญากับโจทก์ จำเลยที่ 3 ปฏิบัติงานตามอำนาจหน้าที่ในการดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการจัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์ จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 สายจัดการกองทุนและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 แต่จำเลยที่ 4 ยังไม่ได้เป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะมีการทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ นายเกริกเป็นผู้ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์ สัญญาจ้างแรงงานข้อ 1 (3) ที่มีข้อความว่า “เมื่อครบกำหนดสัญญานายจ้างจะประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป” นั้นนายเกริกทำนิติกรรมเกินเลยไปจากอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้เป็นตัวการตัวแทนต่อกันหรือเป็นตัวแทนเชิดของอีกฝ่ายหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่มีอำนาจรับบุคคลใดเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นายเกริกนำเสนอเงื่อนไขดังกล่าวต่อจำเลยที่ 3 ในฐานะจำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการกองทุนของจำเลยที่ 2 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 กับที่ 4 ในฐานะส่วนตัว เมื่อจำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงาน จำเลยทั้งสี่ไม่เคยมีพฤติการณ์เชิดนายเกริก หรือเชิดจำเลยที่ 2 หรือยอมให้จำเลยที่ 2 เชิดตัวเองเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการจ้างในวันที่ 30 กันยายน 2545 (ที่ถูก 2547) สัญญาจ้างจึงสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องบอกกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ได้มอบหมายให้นายเกริกทาบทามโจทก์มาเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แม้นายเกริกเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ใช่ผู้แทนของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ปฏิบัติครบถ้วนตามสัญญาจ้างแรงงานทุกประการโดยประเมินผลงานโจทก์และนำผลการประเมินเสนอจำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แล้ว ส่วนจำเลยที่ 1 จะรับโจทก์เป็นพนักงานหรือไม่เป็นเรื่องของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุคคลนอกสัญญาจ้างแรงงาน การที่นายเกริกแจ้งให้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลของจำเลยที่ 1 เตรียมสำรองตำแหน่งไว้ให้โจทก์เป็นการกระทำของนายเกริกในฐานะผู้จัดการกองทุนของจำเลยที่ 2 นายเกริกไม่มีอำนาจหน้าที่ที่จะสำรองตำแหน่งของจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ การบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับธุรกิจของจำเลยที่ 1 ว่ามีความจำเป็นหรือไม่ หากไม่จำเป็นก็บรรจุไม่ได้เพราะขัดต่อมาตรา 20 และต้องพิจารณาด้วยว่าอยู่ในกรอบอัตรากำลังและตำแหน่งที่คณะกรรมการของจำเลยที่ 1 กำหนดหรือไม่ หากไม่อยู่ก็ต้องขออนุมัติต่อคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 ก่อน จำเลยที่ 1 มีที่ปรึกษากฎหมายครบถ้วนทุกสายงานแล้ว ไม่จำเป็นต้องจ้างโจทก์ในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายเพราะไม่อยู่ในแผนอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 มีนโยบายจัดองค์กรกะทัดรัดเพื่อลดปริมาณคนลง โจทก์ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาจำเลยที่ 2 เฉพาะงานของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำหน้าที่ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ไม่เคยขอคำปรึกษาจากโจทก์ โจทก์สมัครใจลาออกจากตำแหน่งผู้พิพากษามาทำงานให้จำเลยที่ 2 และปรารถนาจะได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 อีกทั้งโจทก์สามารถกลับไปเป็นผู้พิพากษาและได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดิมทุกประการ โจทก์ไม่เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 และเป็นประธานกรรมการของจำเลยที่ 2 “ฝ่ายจัดการกองทุน” (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นสายจัดการกองทุน) เป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 พนักงานระดับสูงและพนักงานส่วนใหญ่ของจำเลยที่ 2 เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ให้ความเห็นชอบชั้นที่สุดในการพิจารณาความดีความชอบและการเลื่อนเงินเดือนของพนักงานระดับสูงของจำเลยที่ 2 ช่วงก่อนและหลังปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในประเทศ มีการนำเงิน 7 แสนล้านบาทเศษ ของจำเลยที่ 2 ไปช่วยสถาบันการเงิน 56 แห่ง ต่อมาราชการสั่งระงับกิจการสถาบันการเงิน 56 แห่ง นั้น จัดตั้งองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ขึ้นชำระบัญชี นำทรัพย์สินของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ออกขายทอดตลาดประกาศให้เจ้าหนี้ยื่นขอรับชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ยื่นขอรับชำระหนี้ ปรส. อนุมัติให้จำเลยที่ 2 ได้รับชำระหนี้ 6 แสนล้านบาทเศษ แต่จำเลยที่ 2 ได้รับเงินจริง 1 แสนล้านบาทเศษ ต่อมาศาลพิพากษาให้สถาบันการเงิน 56 แห่ง ล้มละลาย การรวบรวมทรัพย์สินจึงตกอยู่แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ยื่นขอรับชำระหนี้ต้นเงินที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยรวม 9 แสนล้านบาทเศษ ต้องมีการขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่มีอยู่เหนือลูกหนี้ มากกว่า 62,000 ราย เป็นเงินหลายแสนล้านบาทเพื่อให้ผู้ที่ซื้อสิทธิเรียกร้องได้เข้าสวมสิทธิของสถาบันการเงินไปไล่เบี้ยเอาแก่ลูกหนี้ เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดนำมาแบ่งเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 2 ด้วย กรมบังคับคดีไม่คุ้นเคยกับการขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้อง จำเลยที่ 2 ต้องเข้าช่วยเหลือกรมบังคับคดีในการบังคับคดีและการขายทอดตลาด นายเกริก ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุนของจำเลยที่ 1 และเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นเห็นว่าจำเลยที่ 2 ยังไม่มีนักกฎหมายอาชีพที่มีความรู้ความสามารถในทางกฎหมายที่เชี่ยวชาญด้านการบังคับคดีและงานศาลที่จะเข้าช่วยเหลือประสานงานกับกรมบังคับคดีในการจัดระบบและยกร่างประกาศขั้นตอนการขาย ให้ความมั่นใจในข้อกฎหมายที่อาจเป็นปัญหา หากได้นักกฎหมายที่เคยเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีและผู้พิพากษาจะเป็นประโยชน์มากในการบังคับคดี โจทก์ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์และเคยเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รุ่นเดียวกับนายไกรสร อธิบดีกรมบังคับคดีในขณะนั้นมีคุณสมบัติครบถ้วน นายเกริกจึงทาบทามโจทก์ให้ลาออกจากราชการมาเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมาย โจทก์ตกลง แต่เมื่อรายงานด้วยวาจาต่อจำเลยที่ 3 ก็มีการเพิ่มเงื่อนไขให้โจทก์เข้ามาเป็นลูกจ้างและให้ประเมินผลงานด้วย โจทก์ตกลง วันที่ 15 ตุลาคม 2545 คณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ประชุมครั้งที่ 11/2545 โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นประธาน ที่ประชุมมีมติอนุมัติให้จ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2546 (เดือนกันยายน 2546) โดยให้ประเมินผลการปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่จ้างและนำผลการประเมินมาประกอบการพิจารณาเพื่อบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายของสายงานต่าง ๆ โดยไม่อิงกับตำแหน่งบริหารต่อไป วันที่ 21 ตุลาคม 2545 นายเกริกและโจทก์ลงลายมือชื่อทำสัญญาจ้างแรงงาน สัญญามีสาระสำคัญสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 แต่ขยายระยะเวลาจ้างออกไปเป็นวันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 ในการประชุมวาระพิเศษของคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลของจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2545 นายเกริกแถลงชี้แจงพร้อมแสดงเอกสารสัญญาจ้างแรงงานต่อที่ประชุม แต่ไม่มีการลงมติ โจทก์ได้รับการประเมินขึ้นเงินเดือน 2 ครั้ง โดยอนุโลมใช้หลักเกณฑ์การขึ้นเงินเดือนของพนักงาน จำเลยที่ 1 วันที่ 1 ตุลาคม 2546 นายเกริกย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน และให้จำเลยที่ 4 ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงินมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุนแทนนายเกริก ซึ่งค่างานของตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุนต่ำกว่าค่างานของตำแหน่งผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายสถาบันการเงิน เดือนธันวาคม 2546 นายวิชาญ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารกองทุน สายจัดการกองทุน ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ว่าผลงานดีมากเป็นที่ประจักษ์และผ่านการประเมิน สมควรที่จำเลยที่ 2 จะรับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ในตำแหน่งที่ปรึกษาจำเลยที่ 2 วันที่ 7 มกราคม 2547 จำเลยที่ 4 เห็นว่าโจทก์มีผลงานดีมาก จำเลยที่ 2 จะขอจ้างโจทก์ต่อไปเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจ้างแรงงาน แต่ไม่บรรจุเป็นพนักงานเนื่องจากจำเลยที่ 1 มีนโยบายลดอัตรากำลังตามเป้าหมายองค์กรกะทัดรัด ให้นายวิชาญนำเสนอคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ทราบ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 คณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ประชุมครั้งที่ 1/2547 นายวิชาญ เสนอต่อที่ประชุมว่าผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมาก แต่จำเลยที่ 2 มีนโยบายลดอัตรากำลังตามนโยบายองค์กรกะทัดรัดของจำเลยที่ 1 และงานที่โจทก์รับผิดชอบกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2 ถึง 3 ปี จึงไม่ควรบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ขอต่อสัญญาจ้างโจทก์อีก 2 ปี ที่ประชุมอนุมัติให้จ้างโจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 ต่อไปอีก 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2549 โจทก์ไม่ตกลงและมีหนังสือโต้แย้งคัดค้าน จำเลยที่ 3 บันทึกต่อท้ายหนังสือของโจทก์ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการตามพันธะผูกพันในสัญญาจ้างแรงงานข้อ 1 (3) (หมายถึงประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อพิจารณารับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1) โดยส่งเรื่องให้จำเลยที่ 1 พิจารณาต่อไป จำเลยที่ 4 ที่บันทึกลงวันที่ 3 สิงหาคม 2547 ถึงผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายบริหารกองทุน (นายวิชาญ) ทราบ วันที่ 17 สิงหาคม 2547 ที่ประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 มีมติรับทราบการที่โจทก์ไม่ประสงค์ต่อสัญญาจ้างแรงงานกับจำเลยที่ 2 วันที่ 20 กันยายน 2547 นางสาวดวงมณี ผู้อำนวยการอาวุโสสายทรัพยากรบุคคลของจำเลยที่ 1 มีบันทึกถึงผู้ช่วยผู้ว่าการด้านวางแผนของจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 อยู่ในระหว่างการปรับองค์กรให้กะทัดรัด ไม่ควรรับพนักงานจากภายนอกเว้นแต่ไม่สามารถหาจากภายในได้และสายงานร้องขอเป็นกรณีพิเศษ เมื่อไม่มีส่วนงานใดร้องขอจำเลยที่ 1 จึงไม่สมควรบรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 วันที่ 21 สิงหาคม 2547 จำเลยที่ 3 บันทึกต่อท้ายบันทึกของนางสาวดวงมณีว่า “เนื่องจากอยู่ระหว่างปรับองค์กรให้กะทัดรัดลงหลายฝ่ายงานต้องลดอัตรากำลังลง เมื่อไม่มีฝ่ายงานใดต้องการที่ปรึกษากฎหมาย (นอกจากกองทุน ฯ) จึงไม่สามารถบรรจุได้ ให้แจ้งกองทุนว่า ธปท. (หมายถึงธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นจำเลยที่ 1) ไม่รับบรรจุ” วันที่ 1 ตุลาคม 2547 จำเลยที่ 4 มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ไม่บรรจุโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ยังต้องบังคับคดีแก่สถาบันการเงินอีก 21 แห่ง ต้องใช้เวลาอีก 5 ถึง 10 ปี การบังคับคดีจึงจะแล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ให้คำปรึกษาช่วยเหลือทางกฎหมายด้านอื่นแก่จำเลยที่ 1 ด้วย วันที่ 1 ตุลาคม 2547 โจทก์กลับเข้ารับราชการใหม่ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาซึ่งเทียบเท่าผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ เป็นข้าราชการตุลาการชั้น 4 รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.1 จ.2 จ.3/1 จ.4 จ.5 จ.7 จ.9 จ.11 ถึง จ.14 จ.17 จ.18 จ.19 จ.19/1 จ.19/2 จ.20 จ.22 จ.38 จ.40 ล.1 เอกสารท้ายคำให้การของจำเลยหมายเลข 5, 6, 8 (ตรงกับเอกสารหมาย ล.1 แผ่นที่ 300) แล้ววินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 เป็นกองทุนในจำเลยที่ 1 มีฝ่ายจัดการกองทุน (สายจัดการกองทุน) ซึ่งเป็นหน่วยงานของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทยพุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 มาตรา 29 ตรี แม้จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคล แต่ก็เป็นเพียงกระบวนการหรือวิธีการที่จะให้จำเลยที่ 1 สามารถดำเนินมาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินให้มั่นคงและมีเสถียรภาพในกรณีสถาบันการเงินเกิดวิกฤตการณ์ร้ายแรงได้คล่องตัวเท่านั้น โดยยังคงเป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ต้องควบคุมอย่างใกล้ชิด จำเลยที่ 2 จึงเป็นนิติบุคคลที่ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของจำเลยที่ 1 ไม่ได้แยกเป็นอิสระอย่างเด็ดขาดจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ตระหนักดีถึงทรัพย์สินจำนวนมากของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่ถูกกรมบังคับคดียึดไว้แล้วยังไม่ได้ขายทอดตลาดจึงได้พูดกับนายเกริกซึ่งเป็นที่มาของเงื่อนไขการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ประกอบการพิจารณาบรรจุเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ว่าการและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารทรัพยากรบุคคลของจำเลยที่ 1 และในฐานะประธานกรรมการของจำเลยที่ 2 กับนายเกริกในฐานะผู้ช่วยผู้ว่าการสายจัดการกองทุนของจำเลยที่ 1 และในฐานะผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นต่างก็ตระหนักถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในการหานักกฎหมายที่มีความรู้ความสามารถเชี่ยวชาญด้านการบังคับคดีและการศาล มีความซื่อสัตย์สุจริตมาประสานงานกับกรมบังคับคดี จึงรู้เห็นร่วมกันติดต่อทาบทามโจทก์ซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามประสงค์มาเป็นที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 ในการประสานงานกับกรมบังคับคดี จำเลยที่ 2 กับโจทก์จึงทำสัญญาจ้างแรงงานโดยระบุเรื่องจำเลยที่ 2 ประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ไว้ในข้อ 1 (3) จำเลยที่ 1 ไม่เคยคัดค้าน โต้แย้ง หรือท้วงติงว่าจำเลยที่ 1 ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ตกลงตามเงื่อนไขนั้น หรือไม่ได้มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ตกลงกับโจทก์เช่นนั้น เป็นกรณีจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 รู้เห็นสมัครใจเข้าร่วมกับจำเลยที่ 2 โดยนายเกริกจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ในตำแหน่งที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยที่ 2 เพื่อให้โจทก์ประสานงานกับกรมบังคับคดีให้การขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง สำเร็จลุล่วง จำเลยที่ 1 จึงผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์ จำเลยที่ 3 กระทำการในฐานะผู้ว่าการของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำเป็นส่วนตัว จำเลยที่ 4 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการของจำเลยที่ 2 หลังจากนายเกริกในฐานะผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาจ้างแรงงานกับโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4 ไม่อาจปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานเป็นการส่วนตัวได้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงไม่ผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ การรับโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ขึ้นอยู่กับการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพียงสถานเดียว เมื่อผลการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมิน จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 จะยกข้ออ้างซึ่งไม่มีอยู่ในสัญญาจ้างแรงงานว่าจำเลยที่ 1 อยู่ระหว่างปรับองค์กรให้กะทัดรัด ต้องลดอัตรากำลังและไม่มีฝ่ายใดต้องการที่ปรึกษากฎหมายมาเป็นเหตุไม่บรรจุโจทก์เป็นพนักงานไม่ได้ ข้ออ้างที่ว่าไม่มีหน่วยงานใดต้องการโจทก์เป็นที่ปรึกษากฎหมายไม่ตรงตามความเป็นจริง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ ทำให้โจทก์เสียหาย พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าเสียหาย 10 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยประการแรกว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องผูกพันต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 (เอกสารหมาย ล.1 หน้า 192 ถึง 194) หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ.2485 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พุทธศักราช 2485 พ.ศ.2528 ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2528 มาตรา 29 ตรี บัญญัติให้จัดตั้งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (จำเลยที่ 2) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลขึ้นในธนาคารแห่งประเทศไทย (จำเลยที่ 1) มีวัตถุประสงค์เพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยมี “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ และให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่น วันที่ 30 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ออกข้อบังคับว่าด้วยการแบ่งส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 3 ถึง 5 จัดตั้ง “ฝ่ายจัดการกองทุน” ขึ้นในส่วนงานของสำนักงานใหญ่ของจำเลยที่ 1 ให้มีหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 และในวันเดียวกันก็ออกข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ว่าด้วยอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 6 ถึง 8 ให้เติมอัตรากำลังของ “ฝ่ายจัดการกองทุน” เข้าไปในอัตรากำลังของจำเลยที่ 1 ข้อบังคับทั้งสองฉบับนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2528 เป็นต้นไป ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “ฝ่ายจัดการกองทุน” ที่เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 ตรี คือเจ้าหน้าที่ “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั้นเอง เมื่อมาตรา 29 ตรี บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า “ฝ่ายจัดการกองทุน” เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 และให้แยกจำเลยที่ 2 ไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 การดำเนินงานของจำเลยที่ 2 ที่แยกออกจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1 จึงต้องกระทำโดยเจ้าหน้าที่ใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 เท่านั้น บุคคลนอกเหนือจาก “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันได้ความว่าอัตรากำลังของ “ฝ่ายจัดการกองทุน” ประกอบด้วยพนักงานของจำเลยที่ 1 ที่สังกัดอยู่ฝ่ายจัดการกองทุนกับลูกจ้างตามสัญญาจ้าง แสดงว่าเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 มีทั้งพนักงานและลูกจ้าง ดังนั้นการที่นายเกริก ซึ่งเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 2 ในขณะนั้นและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 29 สัตตรส ทำสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 จ้างโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ให้ทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษาของจำเลยที่ 2 ก็คือการทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างใน “ฝ่ายจัดการกองทุน” ของจำเลยที่ 1 นั่นเอง ประกอบกับปรากฏตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาและเอกสารหมาย จ.11 (เอกสารหมาย ล.1 หน้า 174 ถึง 177) จ.18 (เอกสารหมาย ล.1 หน้า 204 ถึง 206) ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจำเลยที่ 2 นำเงิน 7 แสนล้านบาทเศษ ไปช่วยสถาบันการเงิน 56 แห่ง ต่อมาศาลพิพากษาให้สถาบันการเงิน 56 แห่งล้มละลาย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 9 แสนล้านบาทเศษ ต้องมีการขายทอดตลาดสิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ที่มีอยู่เหนือลูกหนี้มากกว่า 62,000 ราย เป็นเงินหลายแสนล้านบาท แล้วนำเงินมาเฉลี่ยคืนแก่เจ้าหนี้ แต่สิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง กำลังจะขาดอายุความ ลูกหนี้และหลักประกันของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ค่อย ๆ เสียหายเสื่อมค่าลงไปเรื่อย ๆ จำเลยที่ 2 จะยึดก็ไม่ทันปรับโครงสร้างหนี้ก็ไม่ทัน อุปสรรคอยู่ที่กรมบังคับคดีไม่เคยขายทอดตลาดลูกหนี้ทางบัญชีและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นว่ากระทำไม่ได้ พนักงานของจำเลยที่ 1 ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้เรื่องศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดีมากนัก จำเลยที่ 3 เห็นว่า การได้ผู้พิพากษามาทำงานกับจำเลยที่ 1 จะเป็นประโยชน์เพราะจำเลยที่ 1 มีจุดอ่อนในเรื่องศาลยุติธรรม โจทก์เป็นผู้มีความรู้ความสามารถในทางการศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี และมีกำหนดขายทอดตลาดสิทธิเรียกต้องของสถาบันการเงิน 56 แห่ง ครั้งแรกในวันที่ 2 ธันวาคม 2545 อันเป็นที่มาของการทำสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2545 แสดงว่าในขณะนั้นจำเป็นต้องมีผู้มาปฏิบัติหน้าที่ดำเนินกิจการของจำเลยที่ 2 ในส่วนการบังคับคดีแก่สถาบันการเงิน 56 แห่ง อย่างเร่งด่วน แต่จำเลยที่ 1 ไม่มีพนักงานที่เชี่ยวชาญที่จะดำเนินการได้ จึงได้จ้างโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการมาดำเนินการ อีกทั้งปรากฏตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 163 ถึง 169 ว่าคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติการปรับโครงสร้างองค์กรของสายจัดการกองทุน (ฝ่ายจัดการกองทุน) ในการประชุมครั้งที่ 9/2545 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2545 ดังนั้น โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 แม้ในสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ระบุว่าโจทก์ไม่มีฐานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ก็ไม่มีผลลบล้างบทบัญญัติในมาตรา 29 ตรี จำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 กับโจทก์แทนจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 1 ในการทำสัญญากับโจทก์ และการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างอยู่ในความรับรู้และเห็นชอบของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ว่าการและเป็นผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 6 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) และในขณะเดียวกันจำเลยที่ 3 ก็เป็นประธานกรรมการของคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ด้วยตามมาตรา 29 นว ดังที่ปรากฏในรายงานการประชุมคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ครั้งที่ 11/2545 วันที่ 15 ตุลาคม 2545 เอกสารหมาย จ.13 (เอกสารหมาย ล.1 หน้า 187 ถึง 191) ว่าที่ประชุมซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นประธานมีมติ “อนุมัติให้ว่าจ้างนายนิพนธ์ (โจทก์) เป็นที่ปรึกษากฎหมายของกองทุน (จำเลยที่ 2) ตามที่เสนอตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงสิ้นปีงบประมาณ 2546 (กันยายน 2546) โดยให้มีการปฏิบัติงานในช่วงเวลาที่จัดจ้างนายนิพนธ์ ฯ ดังกล่าว และจะนำผลการประเมินมาประกอบการพิจารณาเพื่อบรรจุเป็นพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (จำเลยที่ 1) ในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านกฎหมายของสายงานอื่น ๆ โดยไม่อิงกับตำแหน่งบริหารต่อไป” ต่อมาจำเลยที่ 2 จึงทำสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ในวันที่ 21 ตุลาคม 2545 โดยมีสาระสำคัญตามที่ที่ประชุมมีมติอยู่ในข้อ 1 (3) ว่าจำเลยที่ 2 จะประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 แต่ได้ขยายระยะเวลาจ้างออกเป็นตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2545 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 จำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เกินขอบอำนาจแห่งฐานตัวแทน จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 820 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นแต่เพียงตัวแทนไม่ต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยประการที่สองว่าเมื่อผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมิน จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ข้อ 1 (3) หรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ข้อ 1 (3) ระบุว่า “…นายจ้างจะประเมินผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างเพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป…” หมายความว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนต้องประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์เพื่อพิจารณารับเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์จะเข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับผลการปฏิบัติงานเพียงประการเดียว หากผลการปฏิบัติงานผ่านเกณฑ์การประเมินจำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน เมื่อผลประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์อยู่ในเกณฑ์ดีมากและผ่านการประเมินจำเลยที่ 1 จึงต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญา จะอ้างว่าการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานหรือไม่เป็นอำนาจพิจารณาของจำเลยที่ 1 และหน่วยงานของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องการบุคลากรเพิ่มไม่ได้ อีกทั้งตามเอกสารหมาย ล.1 หน้า 163 ถึง 169 หน้า 211 ถึง 215 ปรากฏว่าคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 อนุมัติวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ที่ให้จำเลยที่ 1 เป็นองค์กรที่มีคุณภาพโดยใช้กลยุทธ์องค์กรกะทัดรัดภายในปี 2550 มาตั้งแต่การประชุมครั้งที่ 9/2545 เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2545 และอนุมัติให้ดำเนินการตามแนวทางองค์กรกะทัดรัดได้ในการประชุมครั้งที่ 2/2547 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2547 แสดงว่า แนวคิดเรื่ององค์กรกะทัดรัดเกิดขึ้นก่อนการจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างแต่จำเลยที่ 1 ก็ยังคงทำสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 หลังจากมีการทำสัญญาจ้างแล้วคณะกรรมการของจำเลยที่ 1 จึงอนุมัติให้ดำเนินการกลยุทธ์องค์กรกะทัดรัดได้ จำเลยที่ 1 จึงยกข้อที่ต้องเป็นองค์กรกะทัดรัดไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงานมาอ้างไม่ได้จำเลยที่ 1 มีความจำเป็นเร่งด่วนต้องจ้างโจทก์เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ (เป็นเจ้าหน้าที่) ดำเนินการแก้ไขปัญหาของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธุรกิจของจำเลยที่ 1 (ที่มาตรา 29 ตรี บัญญัติให้แยกไว้ต่างหากจากธุรกิจอื่นของจำเลยที่ 1) ดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น จำเลยที่ 1 จึงอ้างมาตรา 20 (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) มาปฏิเสธการรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ด้วยเหตุไม่มีความจำเป็นแก่ธุรกิจของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ต้องรับโจทก์เข้าเป็นพนักงานตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ข้อ 1 (3) อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขั้น
ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่มีความเสียหายและค่าเสียหายที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไม่เป็นความจริงนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างแรงงานเอกสารหมาย จ.14 ข้อ 1 (3) ไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายและศาลแรงงานกลางรับฟังพยานหลักฐานแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ลาออกจากราชการในตำแหน่งผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ทำให้เสียสิทธิในเงินเดือนและประโยชน์ที่ได้รับอยู่ในขณะนั้นและที่จะได้รับต่อไปในอนาคต แต่จะได้รับค่าจ้างและสิทธิประโยชน์จากจำเลยที่ 1 แทน เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่รับโจทก์เข้าเป็นพนักงาน โจทก์เสียหายไม่ได้รับค่าจ้างหรือเงินเดือนและสิทธิประโยชน์จากจำเลยที่ 1 เมื่อเปรียบเทียบเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งที่โจทก์ได้รับเมื่อโจทก์กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 1 ตุลาคม 2547 จนโจทก์มีอายุครบ 60 ปี ซึ่งเท่ากับจำนวนปีที่โจทก์เกษียณอายุหากยังทำงานกับจำเลยที่ 1 ตามวิธีคิดคำนวณค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ (ที่โจทก์จะได้รับจากจำเลยที่ 1) ของจำเลยที่ 1 โดยคำนวณจากฐานค่าจ้างขั้นต่ำ 159,000 บาท ตามทางนำสืบของจำเลยที่ 1 แล้ว โจทก์ได้รับเงินเดือนและสิทธิประโยชน์ในการเป็นผู้พิพากษาน้อยกว่าการเป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 เมื่อพิจารณาถึงความสูญเสียสิทธิประโยชน์ โอกาส และตำแหน่งงานที่โจทก์ควรได้รับความสุจริตในการต่อสู้คดี รวมทั้งการที่โจทก์มีทางเยียวยาความเสียหายด้วยการกลับเข้ารับราชการแล้ว จึงสมควรกำหนดค่าเสียหายให้ 10 ล้านบาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share