คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10553/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ตามหนังสือมอบอำนาจช่วง และฟ้องเดิมของโจทก์ระบุว่าฟ้อง นางสาวดารุณีเป็นจำเลยที่ 1 โดยให้รับผิดในมูลละเมิด ระบุว่าภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ต่อมาโจทก์ขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องโดยแก้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นนางดารุณีหรือนางสาวดรุณี และขอแก้ไขภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ซึ่งภูมิลำเนาตามที่ขอแก้ไขตรงกับภูมิลำเนาปัจจุบันของจำเลยที่ 1 ที่ให้การระบุว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยระบุว่าย้ายมาจากบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง และจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันที่ทำละเมิดในคดีนี้ ดังนี้จึงเป็นการแก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล และภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเดิมซึ่งเป็นจำเลยคนเดียวกัน มิใช่แก้ไขคำฟ้องโดยเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 1 จากนางสาวดารุณี เป็นนางสาวดรุณี ซึ่งเป็นคนละคนกันแต่อย่างใด อีกทั้งการที่โจทก์ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของจำเลยที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจช่วงและคำฟ้องเดิมผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น ก็เป็นการสะกดชื่อตัวผิดเล็กน้อยจาก “นางสาวดรุณี” เป็น “นางสาวดารุณี” พอถือว่าเป็นชื่อเดียวกันนั้นเอง ส่วนชื่อสกุลสะกดผิดจาก “สังข์แก้ว” เป็น “สังข์ทอง” ก็ผิดเฉพาะพยางค์ท้ายเท่านั้น พยางค์หน้าเป็นคำเดียวกัน ชื่อสกุลจึงคล้ายคลึงกันมาก แสดงว่าที่ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลจำเลยที่ 1 ผิดเกิดจากการสับสนเข้าใจผิดในชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงถูกตัวและถูกต้องชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 470,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากไม่ได้บรรยายฟ้องว่ารถคันที่โจทก์รับประกันภัยไว้เสียหายอย่างไร และไม่ได้บรรยายให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 กับนายเสถียรเป็นนายจ้างลูกจ้างกันอย่างไร วันเกิดเหตุนายเสถียรทำงานในทางการที่จ้างให้แก่จำเลยที่ 1 อย่างไร เหตุละเมิดไม่ได้เกิดจากความประมาทของนายเสถียร ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ค่าซ่อมแซมรถไม่เกิน 50,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 1 และนายเสถียร จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน 80-2125 พัทลุง จากจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ส่งมอบการครอบครองให้จำเลยที่ 1 ไปแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 1
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนยัน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ตามสำเนาหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.6 โจทก์มอบอำนาจให้นายสมพจน์ มีอำนาจดำเนินคดีแทนและมอบอำนาจช่วงได้ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.7 นายสมพจน์ได้มอบอำนาจช่วงให้นายทรงชัย หรือนายสุนันท์ หรือนายศราวุธ ฟ้องคดีนี้แทนตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.10 โจทก์รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี ตามกรมธรรม์ประกันภัย เอกสารหมาย จ.1 จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง นายทักษิณ ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี ไปตามถนนสายเอเซีย 41 จากอำเภอทุ่งสงมุ่งหน้าไปทางอำเภอเวียงสระ นายเสถียร ขับรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 จังหวัดพัทลุง จากอำเภอเวียงสระมุ่งหน้าไปอำเภอทุ่งสง เมื่อถึงที่เกิดเหตุรถยนต์บรรทุกทั้ง 2 คัน ได้ชนกันได้รับความเสียหายตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารหมาย ป.จ.1 ของศาลแพ่งธนบุรี
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.8 มีข้อความว่า นายสมพจน์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ได้มอบอำนาจช่วงให้นายทรงชัยฟ้องและดำเนินคดีกับนางสาวดารุณี ที่ 1 บริษัทหาดใหญ่สหมอเตอร์ จำกัด ที่ 2 และผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีและตามคำฟ้องเดิมโจทก์ได้ฟ้องนางสาวดารุณี เป็นจำเลยที่ 1 บริษัทหาดใหญ่สหมอเตอร์ จำกัด เป็นจำเลยที่ 2 โดยฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง และจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวร่วมกันเป็นนายจ้างหรือตัวการของนายเสถียร ผู้ทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือมอบหมายจากจำเลยทั้งสองโดยคำฟ้องเดิมระบุภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ว่า อยู่บ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง แม้ต่อมาโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 24 เมษายน 2541 โดยขอแก้ชื่อจำเลยที่ 1 จากนางสาวดารุณี เป็นนางดารุณีหรือนางสาวดรุณี และได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องตามคำร้องลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2541 ขอแก้ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นนางสาวดรุณี และขอแก้ไขภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 เป็นบ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ก็เป็นการแก้ไขชื่อตัวชื่อสกุลและภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ตามฟ้องเดิมซึ่งเป็นจำเลยคนเดียวกัน มิใช่การแก้ไขคำฟ้องโดยการเปลี่ยนตัวจำเลยที่ 1 จากนางสาวดารุณี เป็นนางสาวดรุณี ซึ่งเป็นคนละคนกัน ภูมิลำเนาที่ขอแก้ไขนั้นก็ตรงกับภูมิลำเนาปัจจุบันของจำเลยที่ 1 ที่ให้การระบุว่า จำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่บ้านเลขที่ 2/1 หมู่ที่ 10 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารท้ายคำร้องดังกล่าวปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ย้ายภูมิลำเนามาจากบ้านเลขที่ 1 หมู่ที่ 3 ตำบลคลองใหญ่ อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ซึ่งก็ตรงกับภูมิลำเนาของนางสาวดารุณี จำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องเดิมก่อนมีการแก้ไขและตรงกับสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนท้ายคำร้องดังกล่าว ทั้งตามภูมิลำเนาของจำเลยที่ 1 ที่ระบุในคำฟ้องก็ไม่ปรากฏว่ามีบุคคลชื่อนางสาวดารุณีหรือดรุณี อันจะแสดงว่าฟ้องผิดตัว นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้เช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง จำเลยที่ 1 จึงเป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวและเป็นนายจ้างหรือตัวการนายเสถียรผู้ทำละเมิดตามที่โจทก์เข้าใจ ตามหนังสือมอบอำนาจและตามฟ้องมานั้นเอง ที่โจทก์ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลของจำเลยที่ 1 ในหนังสือมอบอำนาจช่วงและคำฟ้องเดิมผิดพลาดคลาดเคลื่อนนั้น ก็เป็นการสะกดชื่อตัวผิดเล็กน้อยจาก “นางสาวดรุณี” เป็น “นางสาวดารุณี” พอถือว่าเป็นชื่อเดียวกันนั้นเอง ส่วนชื่อสกุลสะกดผิดจาก “สังข์แก้ว” เป็น “สังข์ทอง” ก็ผิดเฉพาะพยางค์ท้ายเท่านั้น พยางค์หน้าเป็นคำเดียวกัน ชื่อสกุลจึงคล้ายคลึงกันมาก แสดงว่าที่ระบุชื่อตัวและชื่อสกุลจำเลยที่ 1 ผิดเกิดจากการสับสนเข้าใจผิดในชื่อของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ถือว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ฟ้องจำเลยที่ 1 และได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.8 ถูกตัวและถูกต้องชอบแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ โดยมิได้วินิจฉัยในประเด็นข้อพิพาทข้ออื่น ๆ ให้ครบถ้วนทุกข้อ จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่การย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองมีคำพิพากษาในประเด็นข้ออื่น ๆ ที่ยังไม่ได้วินิจฉัยนั้นจะทำให้คดีล่าช้าเสียความเป็นธรรมโดยไม่จำเป็น ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นข้ออื่น ๆ นั้นไปในคำพิพากษานี้
ในปัญหาที่ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากมิได้ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี นับแต่เกิดเหตุละเมิด เห็นว่า เหตุละเมิดเกิดวันที่ 13 กันยายน 2539 วันสุดท้ายที่ครบกำหนด 1 ปี คือวันที่ 13 กันยายน 2540 เป็นวันเสาร์และวันที่ 14 ก็เป็นวันอาทิตย์หยุดทำการตามประเพณี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/4 ประกอบมาตรา 193/8 ให้วันเริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลาอายุความ 1 ปี นั้น ดังนั้นโจทก์จึงฟ้องคดีนี้วันที่ 15 ซึ่งเป็นวันจันทร์เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันเสาร์และอาทิตย์ได้ ถือว่าโจทก์ฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปีแล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ในปัญหาที่ว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยที่ 1 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้จำเลยที่ 1 เห็นว่า จำเลยที่ 1 กับนายเสถียร เป็นนายจ้างลูกจ้างกันอย่างไร วันเกิดเหตุนายเสถียรทำงานอะไร ซึ่งเป็นงานในทางการที่จ้างให้แก่จำเลยที่ 1 รถยนต์บรรทุกคันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี ซึ่งทำประกันไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหายอย่างไร ต้องซ่อมแซมอย่างไรบ้าง เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องในเรื่องนี้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง เป็นนายจ้างหรือตัวการของนายเสถียร จ้างวานใช้ให้นายเสถียรกระทำไปในทางการที่จ้างหรือที่มอบหมายในขณะเกิดเหตุนายเสถียรเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง ไปในทางการที่จ้างหรือที่มอบหมายจากจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2539 เวลา 15.30 นาฬิกา นายเสถียรขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง จากอำเภอเวียงสระมาตามถนนสายเอเซีย 41 มุ่งหน้าไปอำเภอทุ่งสง ด้วยความประมาทขับรถด้วยความเร็วสูงเมื่อมาถึงที่เกิดเหตุได้ขับแซงรถจักรยานยนต์ล้ำเข้าไปในช่องทางรถสวนอย่างกะทันหันและรวดเร็วพุ่งเข้าชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี ทำให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี ได้รับความเสียหายได้แก่ กันชนหน้าแตก กระโปรงหน้าแตก กระจกหน้าแตก และอื่น ๆ ปรากฏตามใบเสนอราคาและภาพถ่าย เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 และ 6 โจทก์ผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ทำการซ่อมแซม โดยเสียค่าใช้จ่าย ค่าซ่อมแซม และค่าลากรถมาซ่อม รวมเป็นเงิน 470,000 บาท ปรากฏตามสำเนาใบสั่งซ่อมเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 7 โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิในค่าเสียหายดังกล่าว เห็นว่า การบรรยายฟ้องตามคำฟ้องดังกล่าวมีความหมายชัดแจ้งว่า นายเสถียรเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 1 และขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ไปเกิดเหตุชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายกันชนหน้าแตก และอื่น ๆ รวมเป็นค่าเสียหาย 470,000 บาท ตามใบเสนอราคา ภาพถ่ายและใบสั่งซ่อมท้ายฟ้องหมายเลข 5 ถึง 7 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงชัดแจ้งไม่เคลือบคลุม
ในปัญหาที่ว่า เหตุรถยนต์ทั้งสองคันชนกันเกิดจากความประมาทของนายเสถียรหรือนายทักษิณ โจทก์มีนายทักษิณ ผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี เป็นพยานเบิกความยืนยันว่า พยานขับรถคันดังกล่าวจากอำเภอถ้ำพรรณรามุ่งหน้าไปทางอำเภอเวียงสระ เมื่อเลยสามแยกพรรณราประมาณ 100 เมตร รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง ได้หลบรถจักรยานยนต์มาชนหน้ารถด้านขวา พยานหลบไม่พ้นและรถยนต์คันที่พยานขับตกข้างทาง โจทก์ยังมีร้อยตำรวจเอกยศ ขณะเกิดเหตุรับราชการอยู่ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำหน้าที่เวรสอบสวนคดีอาญาเป็นพยานเบิกความสนับสนุนว่า พยานได้รับแจ้งเหตุจึงไปที่เกิดเหตุ พบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 2125 พัทลุง และคันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี ซึ่งเฉี่ยวชนกันอยู่ในที่เกิดเหตุ จากการสอบสวนนายเสถียรขับรถแซงรถจักรยานยนต์ล้ำเข้าไปในช่องทางเดินรถของนายทักษิณเป็นเหตุให้รถยนต์ทั้งสองคันเฉี่ยวชนกัน พยานสรุปสำนวนว่าอุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของนายเสถียรประกอบกับเมื่อเกิดเหตุรถยนต์ชนกันแล้ว รถยนต์คันที่นายทักษิณขับมาได้เสียหลักตกข้างทาง ส่วนรถยนต์คันที่นายเสถียรขับมายังคงจอดอยู่กลางถนน แสดงว่าจุดชนอยู่ในช่องเดินรถที่นายทักษิณขับมา ส่วนจำเลยที่ 1 มีเพียงตัวจำเลยที่ 1 และสิบตำรวจโทเสรี เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า อุบัติเหตุเกิดจากการประมาทร่วมกันของทั้งสองฝ่าย จึงเป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ จึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุรถยนต์ชนกันเกิดจากความประมาทของนายเสถียรฝ่ายเดียว
ในปัญหาที่ว่านายเสถียรเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 1 และทำละเมิดในทางการที่จ้างหรือตามที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 หรือไม่ เห็นว่า รถยนต์คันที่นายเสถียรขับเป็นของจำเลยที่ 1 ที่เช่าซื้อมา และจำเลยที่ 1 ก็เป็นผู้ประกอบการขนส่ง ที่นายเสถียรขับรถยนต์จนเกิดชนกันนั้นเป็นส่วนหนึ่งของการขนส่งประกอบกับได้ความจากคำเบิกความของพยานโจทก์ปากร้อยตำรวจเอกยศว่า พยานได้เรียกจำเลยที่ 1 มาสอบปากคำ ทราบว่านายเสถียรเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 มีตัวจำเลยที่ 1 และสิบตำรวจโทเสรี พี่ชาย เป็นพยานเบิกความประกอบกันว่า เมื่อจำเลยที่ 1 เช่าซื้อมาแล้วก็ให้สิบตำรวจโทเสรีนำไปให้นายเสถียรเช่าโดยไม่ได้ทำสัญญาเช่า จึงเป็นการเบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ถึงนายเสถียรซึ่งได้ตายไปแล้วจึงเลื่อนลอยไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อพยานโจทก์และพฤติการณ์แห่งคดีน่าเชื่อว่านายเสถียรเป็นลูกจ้างและทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1
ในปัญหาที่ว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่เพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายเสถียรทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 จนเป็นเหตุให้รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 80 – 5714 สุราษฎร์ธานี ของห้างหุ้นส่วนจำกัดรวยพัฒนกิจได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวยพัฒนกิจ ในผลแห่งละเมิดที่นายเสถียรได้กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ได้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวได้ชำระค่าซ่อมและส่งมอบรถยนต์คันดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวยพัฒนกิจผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัย โจทก์จึงได้รับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าซ่อมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์คันดังกล่าวได้ แต่ได้รับช่วงสิทธิเรียกค่าเสียหายได้เท่าที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวยพัฒนกิจจะมีสิทธิเรียกร้องได้จากจำเลยที่ 1 เท่านั้น ตามใบเสนอราคาเอกสารหมาย ป.จ.2 ของศาลจังหวัดนครปฐม มีรายการเปลี่ยนอะไหล่ใหม่เกือบทั้งหมดจนเกินความจำเป็น ทั้งรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยและได้รับความเสียหายนั้นก็เป็นรถยนต์ที่ใช้งานมาแล้วนานประมาณ 2 ปี รถยนต์ซึ่งรวมอะไหล่ต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นรถยนต์คันดังกล่าวย่อมมีราคาลดลงตามสภาพมูลค่าที่ซ่อมจึงสูงเกินกว่ามูลค่าความเสียหายของรถยนต์ที่ได้รับความเสียหายจริง เห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้ตามสมควรแก่สภาพของรถยนต์ที่เสียหาย เป็นเงิน 250,000 บาท แม้โจทก์จะได้จ่ายค่าซ่อมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เกี่ยวกับรถยนต์ไปเป็นเงิน 470,000 บาท ก็เป็นการจ่ายตามสัญญาประกันภัยระหว่างโจทก์กับห้างหุ้นส่วนจำกัดรวยพัฒนกิจ โจทก์มีสิทธิเพียงความเสียหายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรวยพัฒนกิจมีสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 เป็นเงินจำนวน 250,000 บาท ตามที่กำหนดมาให้แล้ว พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 250,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความรวม 10,000 บาท

Share