คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6535/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะบทมาตราแห่งความผิด ส่วนกำหนดโทษคงเป็นไปตามเดิมคือปรับ 1,000 บาทจึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 การที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อสอบถามเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 2 คนใช้ของโจทก์ร่วมที่ 1 ถึงเรื่องที่โจทก์ร่วมที่ 2 เล่าให้คนใช้ของจำเลยฟังว่า จำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1เป็นชู้กับคนใช้เก่านั้น กรณียังถือไม่ได้ว่า จำเลยที่ 1 เข้าไปโดยไม่มีเหตุสมควรและการที่จำเลยที่ 2 ตามจำเลยที่ 1 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 เมื่อมีเสียงดังขึ้นภายในบ้านเพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้นก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปโดยไม่มีเหตุสมควรเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าเป็นไพร่เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ 2 ตอบว่าไม่ได้พูดและกล่าวว่าจำเลยที่ 1ใส่ร้าย จำเลยที่ 1 จึงตบหน้าโจทก์ร่วมที่ 2 ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมที่ 2 กล่าวถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการปฏิเสธเรื่องที่จำเลยที่ 1สอบถามเท่านั้น แม้โจทก์ร่วมที่ 2 จะใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้างก็เพราะจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่า โจทก์ร่วมที่ 2ก่อน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295,364, 365, 91 จำเลยให้การปฏิเสธ นายอาทร และ นางสาวบัวลาขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295, 364, 365 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษมาตรา 365 ซึ่งเป็นบทหนักที่สุดปรับคนละ100 บาท จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 391 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 364ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะบทมาตราแห่งความผิดเท่านั้น ส่วนกำหนดโทษคงเป็นไปตามเดิม จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จำเลยทั้งสองจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 จำเลยทั้งสองฎีกาได้แต่เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายซึ่งในการวินิจฉัยในข้อกฎหมาย ศาลฎีกาต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการแรกว่า องค์ประกอบสำคัญของความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 คือการเข้าไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนบ้านที่ดีกับโจทก์ร่วมที่ 1ผู้เป็นเจ้าของบ้าน การเข้าออกบ้านทั้งสองหลังระหว่างจำเลยทั้งสองกับผู้เสียหายนั้นเป็นเรื่องที่กระทำกันมาตลอด การที่จำเลยทั้งสองเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 จึงเป็นการเข้าไปโดยถือวิสาสะย่อมไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามบทมาตราดังกล่าวนั้น พิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงฟังได้ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ว่าบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 กับของจำเลยทั้งสองมีลักษณะเป็นทาวน์เฮาส์อยู่ติดกันทั้งสองฝ่ายเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เมื่อวันที่4 กรกฎาคม 2528 เวลาประมาณ 6 นาฬิกา จำเลยที่ 1 บอกโจทก์ร่วมที่ 1 กับนางวัลยา อุยยามะพันธุ์ ภริยาโจทก์ร่วมที่ 1 ว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ซึ่งเป็นคนใช้ของโจทก์ร่วมที่ 1 เล่าให้คนใช้ของจำเลยทั้งสองฟังว่าจำเลยที่ 2 สามีของจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับนางสาวมีคนใช้เก่าของจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ 1 จึงขอพบโจทก์ร่วมที่ 2 นางวัลยาบอกให้มาพบในตอนเย็นจำเลยที่ 1 ยืนยันขอพบในขณะนั้นโจทก์ร่วมที่ 1 เห็นว่าจำเลยที่ 1 กำลังมีอารมณ์โกรธเกรงว่าจะเกิดเรื่องจึงบอกให้จำเลยที่ 1 รออยู่ที่หน้าบ้านแล้วโจทก์ร่วมที่ 1 เข้าไปตามโจทก์ร่วมที่ 2 ในบ้านชั่วครู่ต่อมานางวัลยาบอกให้จำเลยที่ 1 รออยู่ที่หน้าบ้านและเดินเข้าไปในบ้าน จำเลยที่ 1เดินตามนางวัลยาเข้าไปในบ้านที่ห้องรับแขกเมื่อโจทก์ร่วมที่ 1พาโจทก์ร่วมที่ 2 มาที่ห้องรับแขก จำเลยที่ 1 ด่าว่า โจทก์ร่วมที่ 2ว่าเป็นไพร่เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ 2 ปฏิเสธว่าไม่ได้พูด จำเลยที่ 1 ตบหน้าโจทก์ร่วมที่ 2 ไป 2 ครั้ง จำเลยที่ 2ได้ยินเสียงดังภายในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 ก็เข้าไปในบ้านที่ห้องรับแขกดังกล่าว แล้วจำเลยที่ 2 ผลักโจทก์ร่วมที่ 2 จนศีรษะไปชนขอบหน้าต่างได้รับบาดเจ็บ โจทก์ร่วมที่ 1 กับนางวัลยาพูดห้ามจำเลยทั้งสองจึงหยุดโจทก์ร่วมที่ 1 โทรศัพท์ไปแจ้งความ จำเลยทั้งสองก็ออกจากบ้านไป ดังนี้ ศาลฎีกาเห็นว่า เหตุคดีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากฝ่ายจำเลยทราบจากคนใช้ของตนว่าโจทก์ร่วมที่ 2 พูดว่าจำเลยที่ 2สามีของจำเลยที่ 1 เป็นชู้กับนางสาวมีคนใช้เก่าของจำเลยทั้งสองจำเลยทั้งสองซึ่งรับราชการทั้งคู่ย่อมจะได้รับความเสียหาย และจำเลยที่ 1 คงประสงค์จะสอบถามเรื่องดังกล่าวจากโจทก์ร่วมที่ 2เพื่อให้ได้ความกระจ่ายชัด ได้ความว่าก่อนเกิดเหตุคดีนี้โจทก์ร่วมที่ 1 กับจำเลยทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นอกจากนี้เมื่อจำเลยที่ 1 บอกเรื่องราวที่ทราบมาจากคนใช้ของตนดังกล่าวให้โจทก์ร่วมที่ 1 และนางวัลยาฟัง และขอพบโจทก์ร่วมที่ 2 นั้นทั้งสองฝ่ายก็ยังไม่มีเรื่องทะเลาะหรือมีปากมีเสียงกัน ทั้งในขณะที่จำเลยที่ 1 เดินตามนางวัลยาเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1ที่ห้องรับแขกก็ไม่ปรากฏว่านางวัลยาหรือโจทก์ร่วมที่ 1 ได้ห้ามปรามหรือขอร้องให้จำเลยที่ 1 ออกไปจากบ้าน เช่นนี้ เห็นว่าการที่จำเลยที่ 1 เข้าไปในห้องรับแขกที่บ้านของโจทก์ร่วมที่ 1ซึ่งเป็นเพื่อนบ้านที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเพื่อสอบถามเรื่องราวจากโจทก์ร่วมที่ 2 นั้น กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร ส่วนจำเลยที่ 2ย่อมทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ภริยาของตนเข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1เพื่อสอบถามเรื่องราวดังกล่าว เมื่อมีเสียงดังขึ้นภายในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1ที่ห้องรับแขกเพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นนั้น ก็ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมที่ 1 โดยไม่มีเหตุสมควรอีกเช่นกัน การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 ฎีกาของจำเลยทั้งสองข้อนี้ฟังขึ้น
ที่จำเลยทั้งสองฎีกาเป็นประการสุดท้ายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อจำเลยที่ 1 ต่อว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าเอาเรื่องไม่จริงมาพูดโจทก์ร่วมที่ 2 ตอบว่า อาจารย์ใส่ร้ายหนูนั้นย่อมเป็นการดูถูกก้าวร้าวจำเลยที่ 1 เมื่อประกอบกับพฤติการณ์ที่โจทก์ร่วมที่ 2เคยพูดจาหมิ่นประมาทจำเลยที่ 2 แล้ว กรณีย่อมถือได้ว่าการที่จำเลยทั้งสองทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะพิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 บัญญัติว่า “ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้” ข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่า เมื่อโจทก์ร่วมที่ 1 พาโจทก์ร่วมที่ 2 มาพบจำเลยที่ 1ที่ห้องรับแขกแล้ว จำเลยที่ 1 ด่าโจทก์ร่วมที่ 2 ว่าเป็นไพร่เอาเรื่องไม่จริงมาพูด โจทก์ร่วมที่ 2 ตอบว่าตนไม่ได้พูดและกล่าวว่าอาจารย์ (หมายถึงจำเลยที่ 1) ใส่ร้ายหนู จำเลยที่ 1 จึงตบหน้าโจทก์ร่วมที่ 2 และต่อมาจำเลยที่ 2 ก็เข้ามาทำร้ายโจทก์ร่วมที่ 2ด้วย ดังนี้เห็นว่า การที่โจทก์ร่วมที่ 2 กล่าวถ้อยคำดังกล่าวเป็นเพียงการปฏิเสธเรื่องที่จำเลยที่ 1 สอบถามเท่านั้นแม้โจทก์ร่วมที่ 2 อาจจะใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมแก่จำเลยที่ 1 อยู่บ้างก็เป็นเพราะจำเลยที่ 1 ได้ด่าว่า โจทก์ร่วมที่ 2 ก่อน กรณียังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 การกระทำผิดของจำเลยทั้งสองจึงมิใช่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เฉพาะความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364 เสียด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share