คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 652/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์จำเลยทำยอมในศาลโดยจำเลยให้สิทธิโจทก์ที่จะตรวจตราดูการที่จำเลยดำเนินงานประจำปีฉลองรูปปั้นเซียนและจำเลยจะทำบัญชีรับจ่ายสำหรับงานดังกล่าว พร้อมหลักฐานกับเงินสุทธิมายื่นต่อศาลเพื่อให้โจทก์ตรวจดูได้ ซึ่งศาลพิพากษาตามยอม และจำเลยก็ได้ปฏิบัติตามข้อความในสัญญายอมแล้วนั้น ต่อมาโจทก์จะอ้างว่าได้ตรวจตราแล้วจำเลยบริหารงานไม่ชอบ และบัญชีก็ผิดพลาด ขอให้ศาลไต่สวนนั้น ศาลย่อมไม่ไต่สวนให้ เพราะเป็นประเด็นใหม่ มิได้ระบุหรือขยายความไว้ในสัญญายอม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เป็นเจ้าของรูปปั้นเซียนเอียะฮง แซ่เล้า มีประชาชนเคารพสักการะบริจาคทรัพย์ทำบุญแก่รูปปั้นมากมาย โจทก์จึงตั้งกรรมการบริหารงานขึ้น โดยโจทก์เป็นหัวหน้าสูงสุด จำเลยที่ 1 เป็นประธานกรรมการ จำเลยนอกนั้นเป็นกรรมการและเหรัญญิก ในพ.ศ. 2502 จำเลยบริหารงานไม่สุจริต โจทก์จึงยุบเลิกคณะกรรมการและขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิ จำเลยคัดค้านและโต้แย้งสิทธิเป็นเจ้าของรูปปั้น จึงขอให้ศาลแสดงว่ารูปปั้นเซียนเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์และห้ามมิให้ขัดขวางการขอจดทะเบียนมูลนิธิ

จำเลยให้การว่า รูปปั้นเซียนมิใช่ของโจทก์ ประชาชนเคารพสักการะกันเองโจทก์เห็นว่ามีรายได้มาก มีใจโลภ ขอจดทะเบียนตั้งมูลนิธิแต่ประชาชนราว 80 คนคัดค้านทางการจึงไม่อนุญาต โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ใจความว่า

ข้อ 1 โจทก์จำเลยยอมรับว่ารูปปั้นเซียนเป็นของประชาชน การบริหารงานคงเป็นไปตามเดิม จำเลยกับพวกมีสิทธิดำเนินการต่อไปได้แต่ให้สิทธิโจทก์ที่จะไปตรวจตราดูการดำเนินการดังกล่าวนี้ได้

ข้อ 2 การที่โจทก์จะไปขออนุญาตก่อตั้งมูลนิธิเกี่ยวกับรูปปั้นเซียนเป็นสิทธิของโจทก์จำเลยไม่เกี่ยวข้อง

ข้อ 3 จำเลยจะทำบัญชีรับจ่ายสำหรับงานปีฉลองรูปปั้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2503 พร้อมหลักฐานการจ่ายเงินกับเงินสุทธิมายื่นและวางศาลภายในเดือนมีนาคม 2503 เพื่อให้โจทก์มาตรวจดูได้ถ้าพ้นปี พ.ศ. 2503 ไปแล้ว โจทก์ยังขออนุญาตและจดทะเบียนมูลนิธิตามข้อ 2 ไม่ได้ ก็ให้จำเลยมารับคืนบัญชี และหลักฐานกับเงินสุทธิไปได้

ศาลพิพากษาตามยอม

ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องว่า จำเลยทำบัญชีส่งศาลไม่ถูกและทุจริตขอให้จำเลยพ้นจากหน้าที่ มอบกิจการให้โจทก์ ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้องว่าเป็นเรื่องนอกสัญญายอม

ครั้นวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2503 โจทก์ยื่นคำร้องใหม่ว่าบัญชีรับจ่ายที่จำเลยยื่นต่อศาลปรากฏว่าจำเลยจ่ายเงินในเดือนมกราคมและมีนาคม มิใช่เดือนกุมภาพันธ์ผิดจากสัญญายอมเป็นเงิน 51,827.50 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องส่งเงินนี้ต่อศาล และวันที่ 20 ยื่นคำร้องอีกว่า โจทก์ตรวจบัญชีรับจ่ายของจำเลยแล้ว จำเลยจ่ายไม่ถูกต้องและนอกเหนือหน้าที่ไป 51,827.50 บาท จึงขอให้ศาลสั่งจำเลยส่งเงินที่จ่ายผิดไป

ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำร้องทั้ง 2 ฉบับนี้ ในประเด็นว่าบัญชีรับจ่ายพร้อมด้วยหลักฐานจ่ายเงินสุทธิที่จำเลยส่งศาลไว้แล้วถูกต้องหรือไม่

จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านว่า จำเลยปฏิบัติครบถ้วนตามยอมแล้วสัญญายอมมิได้กำหนดให้อำนาจโจทก์ที่จะโต้แย้งการจ่ายเงิน และบัดนี้พ้นกำหนดที่โจทก์จะต้องขออนุญาตและจดทะเบียนมูลนิธิแล้ว จึงสิ้นสิทธิว่ากล่าว คำร้องโจทก์แตกต่างจากฟ้องเดิม เป็นการตั้งข้อหาเรียกร้องทุนทรัพย์ใหม่ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และหลีกเลี่ยงค่าธรรมเนียม ขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ว่าโจทก์มีอำนาจให้จำเลยวางเงินต่อศาล และให้ศาลไต่สวนถึงการบริหารของจำเลยหรือไม่ และเมื่อมิได้เสียค่าธรรมเนียมในทุนทรัพย์ที่เรียกร้อง ศาลจะควรรับไว้พิจารณาหรือไม่

ศาลชั้นต้นสั่งว่า มูลเหตุที่ศาลสั่งให้ไต่สวนเพราะคู่ความโต้เถียงกันถึงข้อที่ว่า เงินสุทธิมีเท่าใด อันเป็นปัญหาชั้นบังคับคดีตามยอม การไต่สวนเช่นนี้ ไม่จำต้องเสียค่าขึ้นศาล ส่วนที่ศาลสั่งให้จำเลยนำเงินมาวางศาลหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง จึงให้ยกคำร้องจำเลยที่ขอให้ศาลชี้ขาดเบื้องต้น

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า การบังคับตามยอมในชั้นบังคับคดีก็คือ ถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ดังที่ยอมไว้ ศาลก็บังคับให้จำเลยกระทำตามนั้นได้ แต่เรื่องนี้จำเลยได้ปฏิบัติตามข้อความที่ระบุไว้ในสัญญายอมครบถ้วนแล้ว การที่โจทก์ตรวจตราแล้วเห็นว่าจำเลยบริหารไม่ถูกไม่ชอบหรือบัญชีผิดพลาดอย่างไร ตามสัญญายอมมิได้ระบุหรือขยายความว่าจะให้กระทำอย่างไรอีก จริงอยู่ การที่โจทก์มีอำนาจตรวจตราได้นั้นโจทก์ย่อมทักท้วงคัดค้านได้เมื่อเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะควรคัดค้านในคดีนี้หรือจะต้องว่ากล่าวเป็นเรื่องหนึ่งต่างหากเมื่อข้อความในสัญญายอมมิได้ระบุให้ดำเนินการอย่างไรต่อไป เป็นแต่ให้จำเลยมีหน้าที่ปฏิบัติ เมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่แล้ว การโต้เถียงกันว่าถูกหรือไม่ถูกจึงเป็นประเด็นใหม่มิใช่เรื่องที่จะบังคับตามยอมในคดีนี้ อย่างไรก็ดี ปรากฏว่าโจทก์จดทะเบียนมูลนิธิไม่สำเร็จใน พ.ศ. 2503 ซึ่งตามสัญญายอม จำเลยมีสิทธิรับบัญชีและเงินสุทธิที่วางไว้คืนไปได้ ฉะนั้น แม้จะไต่สวนได้ความประการใด ก็ไม่บังเกิดผลแก่โจทก์ในคดีนี้ต่อไปแล้ว การไต่สวนในชั้นนี้จึงไม่เป็นประโยชน์ เมื่อจำเลยกระทำไม่ถูกต้องอย่างไร ควรว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากตามสิทธิของโจทก์อันจะพึงมี

พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ไต่สวนและให้จำเลยวางเงินนั้นเสีย

Share