แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรณีที่พระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติไว้เป็นพิเศษว่าสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยนั้น ถ้าศาลพิพากษาปรับจำเลยแต่ละคนคนละสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรด้วย ก็ย่อมเป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เกินกว่าสี่เท่า อันเป็นการผิดข้อความที่บัญญัติไว้และกรณีเช่นนี้ย่อมจะนำประมวลกฎหมายอาญามาตรา 31 ซึ่งให้ปรับเรียงตามรายตัวบุคคลมาใช้บังคับไม่ได้ด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่สมคบกันลักลอบนำปลาเค็ม 19 กระสอบหนัก 1,213 กิโลกรัม ราคา 6,065 บาท โดยใช้เรือยนต์บรรทุกปลาดังกล่าวจากประเทศพม่าเข้ามาในราชอาณาจักรไทยโดยมิได้ผ่านด่านศุลกากร และโดยเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี ขอให้ลงโทษ
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27, 32 ฉบับที่ 9 พ.ศ. 2482 มาตรา 6, 16, 17 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2490 มาตรา 3 ฉบับที่ 13 พ.ศ. 2499 มาตรา 4 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร (ฉบับที่ 6) มาตรา 3, 4 ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2502 มาตรา 3 พระราชบัญญัติพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2503 มาตรา 4 และอาศัยอำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 ให้ปรับจำเลย 4 เท่าราคาของซึ่งรวมอากรด้วยแล้วเป็นเงินคนละ 77,632 บาท ให้จำเลยจ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละ 30 จ่ายรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับร้อยละ 25 ของราคาของกลาง
จำเลยทุกคนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยกระทำผิดจริง แต่เห็นว่าสินค้าที่จำเลยนำเข้ามามิใช่เป็นสินค้าต้องห้าม หากเป็นเพียงหลบเลี่ยงไม่นำไปเสียภาษีเท่านั้น จึงพิพากษาแก้ให้ปรับจำเลยรวมกันเป็นเงิน 77,632 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27บัญญัติถึงกำหนดโทษไว้ว่า “ฯลฯ สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งจำทั้งปรับ” ระบุเน้นไว้ชัดแล้วว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ ให้ปรับสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วย ฉะนั้น ถ้าหากศาลพิพากษาปรับจำเลยแต่ละคน คนละสี่เท่าของราคาของซึ่งรวมค่าอากรด้วย ก็เป็นการปรับจำเลยสำหรับความผิดครั้งหนึ่ง ๆ เกินกว่าสี่เท่าอันเป็นการผิดข้อความที่บัญญัติไว้กรณีเช่นนี้จะนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 31 มาใช้บังคับไม่ได้เพราะเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติศุลกากรบัญญัติระบุไว้เป็นพิเศษ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ยกฎีกาโจทก์