คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 119/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

รถยนต์ของกลางของจำเลยในคดีความผิดฐานรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และใช้รถยนต์วิ่งบนทางหลวงที่ยังมิได้เปิดเป็นถนนสาธารณโดยไม่รับอนุญาตซึ่งพนักงานสอบสวนได้ยึดไว้และได้มอบให้บุคคลอื่นรักษาไว้ในระหว่างคดี หากจำเลยได้เอารถคันนั้นไปโอนขายให้บุคคลภายนอก และบุคคลภายนอกได้รับซื้อไว้โดยสุจริตโดยไม่รู้ว่าเป็นรถที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางในคดีบุคคลภายนอกผู้นั้นย่อมได้กรรมสิทธิ์ในรถยนต์คันนั้นต่อมาภายหลังเมื่อคดีถึงศาล และศาลได้พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลาง บุคคลภายนอกผู้นั้นย่อมร้องขอให้ศาลสั่งคืนรถยนต์ของกลางที่ศาลพิพากษาให้ริบนั้นได้รูปคดีเช่นนี้จะปรับด้วยบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ.2469 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 มาตรา 3 หาได้ไม่

ย่อยาว

คดีนี้ ศาลพิพากษาลงโทษนายจรินทร์กับพวกฐานรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร และใช้รถยนต์วิ่งบนทางหลวงที่ยังมิได้เปิดเป็นถนนสาธารณโดยไม่รับอนุญาตกับให้ริบของกลางเสียทั้งหมด ของกลางที่ให้ริบนั้นมีรถยนต์ของนายจรินทร์จำเลยรวมอยู่ด้วยคันหนึ่ง แต่โดยที่รถยนต์ของกลางคันนี้ถูกจับส่งมายังพนักงานสอบสวนได้เพียง 2 วัน นายวัลลภ ทนายความได้รับอนุญาตให้นำกลับไปรักษาไว้ในระหว่างคดี ครั้นศาลพิพากษาให้ริบ ปรากฏว่ารถยนต์คันนี้อยู่ที่นายเผือกผู้ร้อง นายวัลลภจึงขอให้พนักงานสอบสวนยึดรถคันนี้จากผู้ร้องเพื่อริบตามคำพิพากษา ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องต่อศาลว่าผู้ร้องได้ซื้อรถยนต์คันนี้จากนายจรินทร์จำเลยโดยโอนทะเบียนซื้อขายกันต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ผู้ร้องมีได้ทราบเลยว่าเป็นรถที่ติดอยู่ในคดีได้ซื้อไว้โดยบริสุทธิ์ และนำออกใช้สอยโดยเปิดเผยตลอดมาขอให้ศาลสั่งคืนรถคันนี้แก่ผู้ร้อง

โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้องเสีย

ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วฟังว่า ผู้ร้องได้ทราบอยู่แล้วในขณะโอนซื้อขายกันว่าเป็นรถของกลางในคดี มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องเสีย

ผู้ร้องอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟังว่า ผู้ร้องได้ซื้อรถของกลางนี้ไว้โดยสุจริตผู้ร้องย่อมได้กรรมสิทธิ์ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นโดยคืนรถยนต์ของกลางนี้ให้แก่ผู้ร้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า รถคันที่พิพาทนี้ได้ถูกพนักงานสอบสวนยึดไว้เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามกฎหมาย โดยมอบให้จำเลยอื่นซึ่งไม่ใช่นายจรินทร์จำเลยรักษาไว้ แม้ตามมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายอาญาผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือจำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ อาจเป็นความผิดมีโทษทางอาญาได้ก็ดี แต่กรรมสิทธิ์ในรถคันนี้ยังคงอยู่แก่นายจรินทร์จำเลยผู้เป็นเจ้าของตลอดมาผู้ซึ่งรับโอนกรรมสิทธิ์ไปจากนายจรินทร์จำเลยก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ไปตามที่รับโอนไปนั้น เว้นแต่รับโอนโดยไม่สุจริต กล่าวคือรู้อยู่แล้วว่าเป็นรถที่ถูกยึดไว้เป็นของกลางในคดี ก็ยังขืนรับซื้อรับโอนไว้ ก็ย่อมจะอ้างกรรมสิทธิ์นั้นขึ้นต่อสู้ยันแก่พนักงานสอบสวนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ใช่คู่สัญญากับตนเพื่อมิให้รถต้องถูกริบตามคำพิพากษาหาได้ไม่ ข้อวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า ผู้ร้องได้รับซื้อรถคันพิพาทนี้จากนายจรินทร์จำเลยโดยสุจริตดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างหรือรับซื้อโดยไม่สุจริตดังที่โจทก์คัดค้าน ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานตามที่ปรากฏในทางไต่สวนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า ผู้ร้องได้รับซื้อรถคันนี้ไว้โดยสุจริต ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนรถของกลางคันพิพาทให้แก่ผู้ร้อง จึงชอบด้วยรูปคดีแล้ว ส่วนที่โจทก์กล่าวในคำแถลงการณ์ประกอบฎีกาว่า ผู้ร้องมิได้มาร้องขอคืนรถของกลางเสียภายใน 60 วัน นับแต่วันที่รับโอนกรรมสิทธิ์ไป รถของกลางย่อมตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 24ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 มาตรา 3แล้ว อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 816/2504 สนับสนุนด้วยนั้น รูปเรื่องในคดีนี้จะปรับด้วยบทกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่โจทก์กล่าวอ้างหาได้ไม่ เพราะรถคันนี้เป็นของจำเลยในคดี ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาให้ริบ ก็ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยตลอดมา และเมื่อฟังว่าผู้ร้องรับซื้อไว้โดยสุจริตเช่นนั้น กรณีก็เป็นไปไม่ได้อีกที่จะมีการร้องขอคืนของกลางตามบทกฎหมายที่โจทก์อ้างอิง ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน

Share