แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้เงิน 173,143 บาท และโจทก์ที่ 2 ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ร่วมกันใช้เงิน 148,132 บาท ส่วนสำนวนหลังจำเลยที่ 3 ฟ้องขอให้โจทก์กับจำเลยที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหาย 37,006 บาท ศาลชั้นต้นยกฟ้องคดีแรก และคดีหลังพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4ร่วมกันชำระเงิน 37,006 บาท แก่จำเลยที่ 3 สำนวนแรกคู่ความจึงถูกห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ส่วนสำนวนหลังคู่ความจึงถูกห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาทั้งสองสำนวนทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ปล่อยปละละเลยในการดำเนินคดีแต่ติดขัดเพราะการดำเนินการขอคัดถ่ายเอกสาร ขอให้อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในเวลาที่ศาล(ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตามลำดับ) กำหนดเป็นอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แม้เป็นอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาพิจารณาว่าต้องห้ามอุทธรณ์และฎีกาหรือไม่ เมื่อสำนวนแรกมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน200,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนสำนวนหลังมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบ ถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันโดยเรียกบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ว่า โจทก์ที่ 1 เรียกนายชูศักดิ์กิจถาวรกุล ว่า โจทก์ที่ 2 เรียกนายชัยธวัช ภู่โต ว่า จำเลยที่ 1 เรียกบริษัทสยามออซีดีน จำกัด ว่า จำเลยที่ 2 เรียกบริษัททิพยประกันภัยจำกัด ว่า จำเลยที่ 3 และเรียกนางศิริรัตน์ กิจถาวรกุล ว่า จำเลยที่ 4
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2540ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง ให้โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระค่าเสียหายตามมูลหนี้ละเมิดและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 37,006บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 36,000 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จกับให้โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ (ที่ถูกคือจำเลยที่ 3) โดยกำหนดค่าทนายความให้ 2,000 บาท
โจทก์ทั้งสองยื่นคำร้องลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2541 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์เป็นครั้งที่สามโดยอ้างว่า โจทก์ทั้งสองได้ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2541 เนื่องจากยังไม่ได้รับคำพิพากษาของศาลและคำพยานที่ได้ขอถ่ายจากศาลศาลอนุญาตให้ขยายได้ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2541 แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2541 โจทก์ทั้งสองได้ติดตามคำพิพากษาและคำพยานที่ได้ขอถ่ายไว้ ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่แผนกพิมพ์แจ้งว่าเพิ่งจัดพิมพ์เสร็จและได้นำเสนอผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนตรวจสำนวน ไม่สามารถดำเนินการถ่ายให้ได้ทันตามเวลาที่ได้ขอขยายจึงขอขยายเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก 20 วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2541 ว่า คำพิพากษาพิมพ์เสร็จและเสนอลงชื่อนานแล้ว ผู้ร้องไม่ขวนขวายติดต่อขอถ่ายเองจึงไม่อนุญาต
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “สำนวนแรกโจทก์ที่ 1 ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 173,143 บาท และโจทก์ที่ 2ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้เงินจำนวน 148,132 บาทส่วนสำนวนหลังจำเลยที่ 3 ฟ้องขอให้บังคับโจทก์กับจำเลยที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 37,006 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีแรก และคดีหลังพิพากษาให้โจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 37,006 บาท แก่จำเลยที่ 3เห็นว่า สำนวนแรกทุนทรัพย์ตามฟ้องของโจทก์ที่ 1 กับโจทก์ที่ 2 แต่ละคนไม่เกิน 200,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000บาท คู่ความจึงถูกห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ส่วนสำนวนหลังทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท คู่ความจึงถูกห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาทั้งสองสำนวนในทำนองเดียวกันว่า โจทก์ทั้งสองไม่ได้ปล่อยปละละเลยหรือไม่สนใจในการดำเนินคดีตามที่ศาลได้วินิจฉัย แต่ติดขัดเพราะการดำเนินการขอคัดถ่ายเอกสารอันเป็นการจัดระเบียบบริหารงานธุรการของศาลเป็นการนอกเหนืออำนาจโจทก์ที่จะดำเนินการก้าวล่วงได้เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมขอให้อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นภายในเวลาที่ศาล (ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาตามลำดับ)กำหนดด้วยอันเป็นอุทธรณ์และฎีกาในข้อเท็จจริง แม้อุทธรณ์และฎีกาของโจทก์ทั้งสองดังกล่าวเป็นปัญหาในชั้นดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้น ก็ต้องถือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกามาพิจารณาว่าจะต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และฎีกาหรือไม่ เมื่อสำนวนแรกมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ฎีกาของโจทก์ทั้งสองจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนสำนวนหลังมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบ ต้องถือว่าข้อเท็จจริงเป็นอันยุติไปตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นแล้ว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในสำนวนหลัง และยกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองในสำนวนหลังด้วย และยกฎีกาของโจทก์ทั้งสองทั้งสองสำนวน”