แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แม้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่1และที่5ได้เรียกชื่อว่าสัญญารับสภาพหนี้ก็ตามแต่มูลกรณีในสัญญานั้นเป็นเรื่องโจทก์กับจำเลยที่1และที่5ทำความตกลงกันกรณีที่จำเลยที่1และที่5ถูกโจทก์กล่าวหาว่าทำละเมิดต่อโจทก์ข้อความในสัญญาเป็นเรื่องตกลงให้จำเลยที่1และที่5ยอมชดใช้เงินค่าเสียหายในมูลละเมิดกับให้ผ่อนชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกันดังนี้เป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่1และที่5ตกลงระงับข้อพิพาทมีมีขึ้นจากมูลละเมิดนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา850หาใช่เป็นการรับสภาพหนี้แต่เพียงอย่างเดียวไม่เมื่อจำเลยที่1และที่5ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกับโจทก์แล้วเช่นนี้ความรับผิดของจำเลยที่1และที่5ในมูลละเมิดก็ระงับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นโจทก์จึงฟ้องจำเลยที่1และที่5ให้รับผิดในมูลละเมิดอีกหาได้ไม่ ในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาซื้อขายนั้นนอกจากสัญญาข้อ10ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาแล้วในข้อ9ของสัญญาดังกล่าวยังได้กำหนดให้ผู้ขายต้องเสียเบี้ยปรับอีกด้วยโดยระบุว่าถ้าผู้ซื้อไม่ใช่สิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีที่เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้วผู้ขายส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ0.20ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบจำนวนซึ่งในสัญญาซื้อขายก็ไม่ได้มีการตกลงยกเว้นไว้เลยว่าหากผู้ซื้อไม่แจ้งสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับแก่ผู้ขายแล้วผู้ซื้อจะหมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับดังนั้นเมื่อผู้ขายตามสัญญารายนี้ผิดสัญญาโดยส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนและผู้ซื้อได้รับมอบสิ่งของบางส่วนนั้นไว้ก็ไม่ถือว่าเป็นการรับชำระหนี้อันจะต้องแจ้งสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับไม่เป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายตามสัญญาดังกล่าว ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา381วรรคสามที่บัญญัติว่า”ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้วจะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น”เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้ยอมชำระหนี้โดยสิ้นเชิงแล้วและเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ไว้เท่านั้นไม่ได้หมายถึงการชำระหนี้บางส่วนหรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องดังนั้นการที่จำเลยที่4และที่6ซึ่งเป็นข้าราชการผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อของโจทก์รับชำระหนี้ไว้โดยไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับไปยังผู้ขายจึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายและถือไม่ได้ว่าจำเลยที่4และที่6กระทำละเมิดแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งหกเป็นข้าราชการสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพังงาในสังกัดของโจทก์ โดยจำเลยที่ 1ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงา จำเลยที่ 2ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงาต่อจากจำเลยที่ 1จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการประถมศึกษาจังหวัดพังงาจำเลยที่ 4 มีหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินและพัสดุรับผิดชอบดูแลการปฏิบัติงานฝ่ายการเงินและพัสดุให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน จำเลยที่ 5 เป็นผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงาซึ่งรับผิดชอบงานฝ่ายการเงินและพัสดุด้วย จำเลยที่ 6 มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงินหมดค่าวัสดุในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องเขียน แบบเรียน และเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพังงา โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์การสอนจำนวน 38 รายการเป็นเงิน 73,374 บาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัดนิรมิตรสุราษฎร์ธานีและต่อมาวันที่ 12 กันยายน 2527 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพังงา โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์การสอนจำนวน 16 รายการ เป็นเงิน 38,697 บาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัดนิรมิตรสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาทั้งสองฉบับกำหนดให้ส่งมอบสินค้าในวันที่ 28 กรกฎาคม 2527 และในวันที่ 10ธันวาคม 2527 ตามลำดับ แต่ปรากฎว่าผู้ขายไม่สามารถส่งสินค้าบางรายการได้ครบตามสัญญา แต่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จัดซื้อทั้งสองสัญญาไม่ได้ดำเนินการแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับตามสัญญาให้ผู้ขายทราบตามระเบียบสำนักงานยกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีการแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับเช่นเดียวกัน และต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม2528 จำเลยที่ 2 ซึ่งย้ายมารับราชการแทนจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับการกระทำของจำเลยทั้งหกทำให้โจทก์หาได้รับความเสียหายโดยไม่สามารถเรียกค่าปรับจากผู้ขายได้ตามสัญญาซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 9ว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาตามสัญญาข้อ 8 ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาของที่ยังไม่ได้รับมอบนับถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้อง หรือจนถึงวันบอกเลิกสัญญาด้วยซึ่งตามสัญญาฉบับแรกนับตั้งแต่วันครบกำหนดตามสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นจำนวน 346 วัน จากเงิน 73,374 บาท ในอัตราร้อยละ0.20 เป็นเงิน 50,774.81 บาท ซึ่งจำเลยทั้งหกต้องรับผิดคนละเท่า ๆ กัน คนละ 8,462.47 บาท และตามสัญญาฉบับที่สองนับตั้งแต่วันครบกำหนดตามสัญญาถึงวันบอกเลิกสัญญาเป็นจำนวน 211 วัน จากเงิน38,697 บาท ในอัตราร้อยละ 0.20 เป็นเงิน 16,330.13 บาทจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 รับผิดคนละเท่า ๆ กัน คนละ 3,266.03 บาทส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดเพราะย้ายไปรับราชการที่อื่นก่อนสัญญาครบกำหนด รวมทั้งสองสัญญาจำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินแก่โจทก์8,462.47 บาท จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์คนละ 11,728.50 บาท รวมเป็นเงิน 67,104.94 บาท โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งหกจากต้นเงิน 67,104.94 บาท ในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันบอกเลิกสัญญาคือวันที่ 9 กรกฎาคม 2528 จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน 25,164.35 บาท รวมเป็นเงิน92,269.29 บาท และโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน 92,269.29 บาท ตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จซึ่งโจทก์ได้ติดตามทวงถามแล้ว จำเลยทั้งหกก็เพิกเฉย เมื่อวันที่5 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์โดยขอชำระหนี้จำนวน 8,462.47 บาท และในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2530จำเลยที่ 5 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ขอชำระหนี้จำนวน11,728.50 บาท แต่จำเลยทั้งหกก็ยังเพิกเฉยไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์แต่อย่างใด ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้เงินจำนวน92,269.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ปฏิเสธความรับผิด และว่า จำเลยที่ 1ได้ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้เป็นจำนวนเงิน 8,462.47 บาทแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีหนี้สินต่อกันขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า มิได้กระทำละเมิดให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โดยจำเลยที่ 2 ได้กระทำไปตามหน้าที่ตามสัญญาโดยสุจริตระมัดระวังรอบคอบเช่นวิญญูชนจะพึงกระทำแล้วขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า การแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับตามสัญญาเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 6 จำเลยที่ 3 ไม่มีหน้าที่และไม่มีอำนาจแจ้งการสงวนสิทธิดังกล่าว การที่จะควบคุมดูแลหรือมีคำสั่งให้จำเลยที่ 6 แจ้งการสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับนั้นเป็นหน้าที่โดยตรงของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่เคยสั่งให้จำเลยที่ 3ดำเนินการ ในขณะนั้นจำเลยที่ 2 คงปฏิบัติราชการอยู่ตามปกติขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ให้การว่า ตามสัญญาทั้งสองฉบับเมื่อผู้ขายไม่ส่งมอบสินค้าภายในกำหนดจำเลยที่ 2 ได้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาพร้อมทั้งริบเงินประกันตามสัญญาเป็นเงินจำนวน 3,669 บาท และจำเลย 1,935 บาทโดยไม่ได้เรียกร้องให้ผู้ขายชำระหนี้หรือส่งมอบสินค้าแต่อย่างใดแต่โจทก์ก็สามารถฟ้องร้องเรียกค่าปรับตามสัญญาได้ทั้งสองฉบับตามกฎหมาย ถึงแม้จำเลยทั้งหกจะไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับตามสัญญาให้ผู้ขายทราบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุก็ตาม ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะคดีนี้จำเลยที่ 5 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้กับโจทก์ ซึ่งเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์จะมาฟ้องให้จำเลยที่ 5 ต้องรับผิดและชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์อีกไม่ได้ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 6 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงามีหน้าที่บังคับบัญชา ควบคุมดูแลงานทั่วไปของสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพังงา จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงาต่อจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงา มีหน้าที่ควบคุมดูแลการปฏิบัติงานของข้าราชการฝ่ายการเงินและพัสดุ จำเลยที่ 4 มีหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายการเงินและพัสดุ รับผิดชอบดูแลปฏิบัติงานฝ่ายการเงินและพัสดุให้เป็นไปตามระเบียบแบบแผน จำเลยที่ 5 เป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงา ซึ่งรับผิดชอบงานฝ่ายการเงินและพัสดุด้วย จำเลยที่ 6 มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการเงินหมวดค่าวัสดุในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องเขียนแบบเรียน และเป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการจัดซื้อ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2527 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพังงาโดยจำเลยที่ 1 ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์การสอนจำนวน 38 รายการ เป็นเงิน 73,374 บาทจากห้างหุ้นส่วนจำกัดนิรมิตรสุราษฎร์ธานี และต่อมาวันที่12 กันยายน 2527 สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพังงา โดยจำเลยที่ 1ซึ่งได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ได้ทำสัญญาซื้ออุปกรณ์การสอนจำนวน 16รายการ เป็นเงิน 38,697 บาท จากห้างหุ้นส่วนจำกัดนิรมิตรสุราษฎร์ธานี ตามสัญญาทั้งสองฉบับกำหนดให้ส่งมอบสินค้าในวันที่ 28 กรกฎาคม 2527 และวันที่ 10 ธันวาคม 2527 ตามลำดับแต่ปรากฎว่าผู้ขายไม่สามารถส่งสินค้าบางรายการได้ครบตามสัญญาแต่จำเลยที่ 6 ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่จัดซื้อทั้งสองสัญญาไม่ได้ดำเนินการแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับตามสัญญาให้ผู้ขายทราบตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ จำเลยที่ 1ถึงที่ 5 ก็ไม่ได้ดำเนินการให้มีการแจ้งสงวนสิทธิการเรียกค่าปรับเช่นเดียวกันและต่อมาวันที่ 9 กรกฎาคม 2528 จำเลยที่ 2 ซึ่งย้ายมารับราชการแทนจำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาทั้งสองฉบับ วันที่ 22มกราคม 2530 นายเจริญชัย โชติช่วง รักษาการแทนผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงา ได้มีหนังสือทวงหนี้ถึงจำเลยที่ 1ที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 กำหนดให้ใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดกรณีที่ไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายตามเอกสารหมาย จ.7 และจ.8 ต่อมาในวันที่ 5 และ 6 กุมภาพันธ์ 2530 จำเลยที่ 1 และที่ 5ได้ทำสัญญารับสภาพหนี้กับผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดพังงาตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 ตามลำดับ
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่าการที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ทำสัญญารับสภาพหนี้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.15และ จ.16 ตามลำดับนั้น มีผลเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความอันทำให้หนี้มูลละเมิดระงับสิ้นไปหรือไม่ และการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 รับชำระหนี้ไว้บางส่วนจากผู้ขายจะทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายหรือไม่ สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ซึ่งได้ทำสัญญารับสภาพหนี้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.15 และ จ.16 แม้สัญญาดังกล่าวได้เรียกชื่อว่าสัญญารับสภาพหนี้ก็ตาม แต่ปรากฎว่ามูลกรณีในสัญญานั้นเป็นเรื่องโจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ทำความตกลงกันกรณีที่จำเลยที่ 1 และที่ 5 ถูกโจทก์กล่าวหาว่าทำละเมิดต่อโจทก์ข้อความในสัญญาเป็นเรื่องตกลงให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ยอมชดใช้เงินค่าเสียหายในมูลละเมิดโดยคิดเฉลี่ยให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินเพียง8,462.47 บาท และให้จำเลยที่ 5 ชดใช้เงินเพียง 11,728.50 บาท กับให้ผ่อนชำระให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ตกลงกัน เห็นได้ชัดว่าเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 และที่ 5 ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีขึ้นจากมูลละเมิดนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 850 หาใช่เป็นการรับสภาพหนี้แต่เพียงอย่างเดียวไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 5 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความระงับข้อพิพาทกับโจทก์แล้วเช่นนี้ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 5 ในมูลละเมิดก็ระงับไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1และที่ 5 ให้รับผิดในมูลละเมิดอีกหาได้ไม่ สำหรับปัญหาที่โจทก์ฎีกาเกี่ยวกับการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 รับชำระหนี้ไว้บางส่วนโดยไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิเรียกค่าปรับแก่ผู้ขาย จะทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายหรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าในกรณีที่ผู้ขายผิดสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 นั้นนอกจากสัญญาข้อ 10 ได้กำหนดให้ผู้ขายต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาแล้ว ในข้อ 9 ของสัญญาดังกล่าวยังได้กำหนดให้ผู้ขายต้องเสียเบี้ยปรับอีกด้วย โดยระบุว่าถ้าผู้ซื้อไม่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาในกรณีที่เมื่อครบกำหนดส่งมอบสิ่งของตามสัญญาแล้ว ผู้ขายส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวน ผู้ขายยอมให้ผู้ซื้อปรับเป็นรายวันในอัตราร้อยละ 0.20 ของราคาสิ่งของที่ยังไม่ได้รับมอบนับแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาจนถึงวันที่ผู้ขายได้นำสิ่งของมาส่งให้แก่ผู้ซื้อจนถูกต้องครบจำนวน ซึ่งในสัญญาทั้งสองฉบับไม่ได้มีการตกลงยกเว้นไว้เลยว่า หากผู้ซื้อไม่แจ้งสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับแก่ผู้ขายแล้วผู้ซื้อจะหมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับ ดังนั้นเมื่อผู้ขายตามสัญญารายนี้ผิดสัญญาโดยส่งมอบสิ่งของไม่ครบจำนวนและผู้ซื้อได้รับมอบสิ่งของบางส่วนนั้นไว้ ก็ไม่ถือว่าเป็นการรับชำระหนี้อันจะต้องแจ้งสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับไม่เป็นเหตุให้โจทก์หมดสิทธิเรียกเบี้ยปรับจากผู้ขายตามสัญญาดังกล่าว ทั้งนี้เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสามที่บัญญัติว่า “ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้แล้ว จะเรียกเอาเบี้ยปรับได้ต่อเมื่อได้บอกสงวนสิทธิไว้เช่นนั้น” นี้หมายความว่า บทบัญญัติดังกล่าวกำหนดให้เจ้าหนี้ต้องบอกกล่าวสงวนสิทธิเรียกเบี้ยปรับเฉพาะกรณีที่ลูกหนี้ยอมชำระหนี้โดยสิ้นเชิงแล้วและเจ้าหนี้ยอมรับชำระหนี้ไว้เท่านั้น ไม่ได้หมายถึงการชำระหนี้บางส่วนหรือชำระหนี้ไม่ถูกต้อง ฉะนั้นการที่จำเลยที่ 4 และที่ 6 รับชำระหนี้ไว้เพียงบางส่วนโดยไม่ได้แจ้งสงวนสิทธิเรียกเอาเบี้ยปรับไปยังผู้ขายจึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์เสียหาย ทั้งนี้ตามนัยแห่งคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1078/2496 ระหว่างบริษัทเอื้อวิทยาพาณิชย์ จำกัดโจทก์ บริษัทหัวหิน จำกัด กับพวก จำเลย ถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4และที่ 6 กระทำละเมิดแก่โจทก์
พิพากษายืน