คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1304/2533

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ตาม สัญญาเช่าซื้อระบุว่าผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ย ในค่าเสียหายร้อยละ 18 ต่อปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่ง ถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์กระบะไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันและผิดนัด ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 69,440 บาทพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ให้การว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยที่ 1ไม่เคยครอบครองหรือใช้รถยนต์ของโจทก์ จึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามฟ้อง
ศาลสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่ 2 เพราะโจทก์ทิ้งฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน46,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นตามที่ศาลอุทธรณ์ฟังมาโดยไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2520 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์กระบะไปจากโจทก์ 1 คัน ราคา 177,320 บาท ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 โดยจำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินล่วงหน้าไว้ 20,000 บาทส่วนอีก 3,000 บาท นายประสงค์ แดงรอด ได้เป็นคนนำมาชำระให้โจทก์และเป็นคนขับรถยนต์ไปจากโจทก์ตามใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.3จำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์ตั้งแต่งวดแรกโจทก์ยึดรถยนต์คืนและได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ให้รับผิดค่าซ่อมและค่าขาดประโยชน์
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปจากโจทก์แล้วนั้น โจทก์มีนายชนะ รามางกูร ผู้จัดการบริษัทโจทก์สาขาบางแค และนายถวัลย์ สาครสินธุ์ พนักงานบริษัทโจทก์สาขาบางแคเป็นพยานเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพรับราชการเป็นครูอยู่ที่โรงเรียนในจังหวัดสมุทรสงคราม ตอนที่จำเลยที่ 1 มาติดต่อเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทโจทก์นั้นจำเลยที่ 1มากับนายประสงค์ พยานทราบจากบุคคลทั้งสองว่า นายประสงค์เป็นญาติกับจำเลยที่ 1 ขณะที่จำเลยที่ 1 ตกลงเช่าซื้อรถยนต์จากบริษัทโจทก์นั้นรถยนต์ชนิดที่จำเลยที่ 1 ตกลงเช่าซื้อไม่มีอยู่ที่บริษัทโจทก์สาขาบางแค จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินล่วงหน้าให้โจทก์แล้ว จำนวน20,000 บาท ส่วนอีก 3,000 บาท จำเลยที่ 1 จะชำระให้ในภายหลังในวันที่มารับรถยนต์โดยจำเลยที่ 1 ให้นายประสงค์มารับรถยนต์แทนหลังจากนั้นประมาณ 10 วัน นายประสงค์มารับรถยนต์ไปพร้อมชำระเงินที่ค้างจำนวน 3,000 บาท ปรากฏตามใบส่งสินค้าเอกสารหมาย จ.3เห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องต้องกัน หากจำเลยที่ 1 ไม่ตกลงกับพนักงานของบริษัทโจทก์ให้นายประสงค์มารับรถยนต์แทนแล้วก็ไม่มีเหตุผลอันใดที่พนักงานของโจทก์ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการให้เช่าซื้อรถยนต์ดีอยู่แล้วจะมอบรถยนต์ให้นายประสงค์รับไปเช่นนั้น เพราะเป็นการเสี่ยงต่อความเสียหายของโจทก์ และเป็นภัยต่อพยานโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์ที่อาจต้องรับผิดต่อโจทก์อีกด้วย ข้อเท็จจริงจึงน่าเชื่อตามที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 1ได้รับรถยนต์ที่เช่าซื้อไปจากโจทก์แล้ว ที่จำเลยที่ 1 นำสืบว่าไม่ได้รับรถยนต์ไปจากโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ตกลงกับโจทก์ว่าหากมีรถยนต์ให้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ จำเลยที่ 1 จะนำเงินจำนวน 3,000 บาท มาชำระให้และรับรถยนต์ไป เห็นว่า หากจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับรถยนต์และไม่ได้รับแจ้งจากโจทก์ จำเลยที่ 1ก็น่าจะติดต่อกับโจทก์บ้างโดยมาพบกับพนักงานของโจทก์หรือโทรศัพท์สอบถามนายชนะผู้จัดการบริษัทโจทก์สาขาบางแค เพราะจำเลยที่ 1 มีนามบัตรซึ่งมีหมายเลขโทรศัพท์ของนายชนะตามเอกสารหมาย ล.1 อยู่ที่จำเลยที่ 1 อยู่แล้ว แต่จำเลยที่ 1 ก็หาได้กระทำไม่จำเลยที่ 1 ประกอบอาชีพเป็นครู ย่อมมีความรู้ความเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นสามัญสำนึกได้ดีหากจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้รับรถยนต์ก็ควรจะขอเงินคืน ที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าเข้าใจว่าตนเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้นขัดต่อเหตุผล พยานจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักให้น่าเชื่อถือข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์คันที่เช่าซื้อไปจากโจทก์แล้ว
ที่โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายที่โจทก์ต้องขาดประโยชน์ไม่อาจนำรถยนต์ออกให้เช่า และค่าซ่อมรถยนต์พร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 8 ระบุว่า ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้องวดหนึ่งงวดใดก็ดี ให้ถือว่าสัญญาเป็นอันเลิกกันโดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อนผู้เช่าซื้อยอมส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อคืนแก่เจ้าของโดยพลันในสภาพที่ซ่อมแซมดีแล้วโดยเรียบร้อย โดยค่าใช้จ่ายของผู้เช่าซื้อเองและข้อเท็จจริงได้ความจากนายสุนัน ปะทีปะเสน หัวหน้าแผนกตรวจสอบสภาพรถที่ยึดคืนจากลูกค้าพยานโจทก์ว่า รถยนต์ที่จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไปเป็นรถยนต์ใหม่ จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดวันที่ 13 พฤษภาคม 2527 โจทก์ยึดรถยนต์คืนมาได้วันที่ 4 ตุลาคม 2527 รถยนต์อยู่ในสภาพชำรุดเสียหายมากเนื่องจากการถูกชน จะต้องเสียค่าซ่อมประมาณ 53,540 บาท โจทก์ต้องขาดประโยชน์ที่ไม่อาจนำรถยนต์ออกให้เช่าซึ่งจะได้ค่าเช่าเดือนละ 4,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดเพียง 4 เดือน เป็นเงิน16,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบโต้แย้ง เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ส่งมอบรถยนต์คืนโจทก์ โจทก์คิดค่าขาดประโยชน์จากจำเลยที่ 1 เพียง 4 เดือน เดือนละ 4,000 บาท นับว่าเป็นจำนวนที่พอสมควรแล้ว ส่วนค่าเสียหายที่โจทก์ต้องนำรถยนต์เข้าซ่อมนั้น เห็นว่า เหตุผลที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าเสียหายส่วนนี้ให้แก่โจทก์จำนวน 30,000 บาทนั้นชอบแล้วรวมเป็นค่าเสียหายของโจทก์ทั้งสิ้น 46,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดในเรื่องดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนั้น เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย จ.2 ข้อ 7 ระบุว่า ผู้เช่าซื้อยอมเสียดอกเบี้ยในค่าเสียหายในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นวิธีการกำหนดค่าเสียหายวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้าหากกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383จึงเห็นสมควร กำหนดอัตราดอกเบี้ยให้จำเลยที่ 1 รับผิดเพียงร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษากลับ ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 46,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี.

Share